บล.หยวนต้าแนะ 2 หุ้นติดพอร์ตยั่งยืน-บลจ.อีสท์สปริง ชี้ ESG ทางรอดลงทุน

HoonSmart.com>> “บล.หยวนต้า” แนะนักลงทุนเก็บ 2 หุ้น ESG เข้าพอร์ต “OSP – NER” หุ้น Top Pick แนวโน้มอนาคตสดใส “บลจ.อีสท์สปริง” ชี้ ESG ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอด คนรุ่นใหม่ยอมรับผลตอบแทนน้อย เพื่อโลกที่ดีขึ้น

สำนักข่าวหุ้นสมาร์ท จัดสัมมนาก้าวสู่ปีที่ 7 แนะนำ “วิธีทำกำไรและเลือกหุ้น ESG” โดยมี “นางสาวดารบุษป์ ปภาพจน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อีสท์สปริง (ประเทศไทย) และ นายธีร์ธนัตถ์ จินดารัตน์ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน ด้านหลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ร่วมเสวนา

นายธีร์ธนัตถ์ กล่าวว่า หยวนต้า ได้จัดทำ ESG Rating ตั้งแต่ปี 2565 ใช้ในการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ฯ สำหรับหุ้น 157 บริษัทภายใต้การดูแล และได้ประกาศผลในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยมีบริษัทที่ได้เรตติ้ง AAA 17 บริษัท ระดับ AA 119 บริษัท และระดับ A 21 บริษัท ซึ่งสามารถใช้เป็น Benchmark ให้กับนักลงทุนได้ ซึ่ง 30 บริษัทแรกที่ได้รับคะแนน ESG สูงสุด ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดฯรวม สูงกว่า SETHD และSET Sustainable

สำหรับหุ้น ESG ที่แนะนำให้เป็น Top Pick สำหรับนักลงทุน ได้แก่ บริษัท โอสถสภา (OSP) ซึ่งผลประกอบการในปีที่ผ่านมา ผลกำไรเติบโตสูงเกือบ 30% เติบโตจากฐานต่ำ จากการปรับราคาขายเป็น 12 บาท ทำให้มาร์เก็ตแชร์ลดลง แต่กำลังฟื้นตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโตจาก 26,000 ล้านบาท เป็น 40,000 ล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 9% ขณะที่ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังกลับมาคึกคักมากขึ้น จากการที่ตลาดมีคู่แข่งขันมากขึ้น

นอกจากนี้ OSP เป็นบริษัทที่มีการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนจำนวนมาก ตามเป้าหมาย Net Zero Emission ในปี 2030 เช่น การสนับสนุนซัพพลายเออร์รายเล็ก ลดการใช้น้ำ ไฟ และมีแผนใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล 100% ในปี 2025 รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร และลดการใช้น้ำตาลในเครื่องดื่ม เป็นต้น

อีกตัว คือ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) ที่ได้รับ ESG Rating ที่ระดับ AAA และจากแนวโน้มราคายางที่เพิ่มขึ้นจากต่อเนื่อง จนแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี และการเติบโตและความต้องการยางในตลาดโลกครั้งนี้ ไม่ใช่แค่จีน ซึ่งเป็นตลาดหลัก แต่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป ประกอบกับผลผลิตในหลายประเทศลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจยางดีมาก เพราะต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้น

ESG คือทางรอดไม่ใช่ทางเลือก

นางสาวดารบุษป์ กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG Landscape ในประเทศไทยเกิดขึ้นตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง และพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี สอดคล้องกับ SDGs Goal ขององค์การสหประชาชาติ จากนั้นเริ่มมีการจัดอันดับดัชนีดาวน์โจนส์เพื่อความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทในประเทศไทยติดอันดับ 15 จาก 30 ประเทศทั่วโลก เป็นลำดับที่ 5 ในเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีการออกหลักทรัพย์เพื่อความยั่งยืน SRI Fund มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความยั่งยืน 11 กองทุน และในปี 2566 มีการตั้ง ThaiESG Fund ทำให้มีคนเข้ามาลงทุนอย่างมากมาย จะเห็นได้ว่านักลงทุนให้ความสนใจกับกองทุนเพื่อความยั่งยืนจำนวนมาก เพราะไม่ได้เป็นแค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของนักลงทุน

“แนวทาง ESG ในไทย กว่าจะพัฒนาให้บริษัทมีส่วนร่วมใช้เวลา บจ.เพิ่งเริ่มนำ ESG เข้ามามีส่วนในการดำเนินการ อย่างในสหภาพยุโรปทำมานานแล้ว Dramatic Investment เป็นการลงทุนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระยะยาว ซึ่งมีผลกับทุกอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ สมาร์ทโฟน การเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมถึงมองถึงผลที่จะเกิดขึ้น เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ การเข้าถึงที่อยู่อาศัย บริการทางการแพทย์ การสนับสนุนสตาร์ทอัพ ในต่างประเทศมีรูปแบบการลงทุนหลากหลายรูปแบบ สำหรับ ESG ผนวกเข้าไปกับการลงทุน เพราะเป็นเส้นทางที่ต้องเดินในอนาคต”

นางสาวดารบุษป์ กล่าวว่า ผลตอบแทนกองทุนด้าน ESG จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีทั่วไป และที่สำคัญคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ ESG มากขึ้น ต่างจากคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ยิ่งคนยุคมิลเลนเนียล ยิ่งให้ความสำคัญมากขึ้น และจากผลสำรวจ พบว่า ถ้าการลงทุนจะให้ผลตอบแทนน้อยลง แต่ทำให้โลกดีขึ้น ยังยินดีที่จะลงทุน คิดเป็นสัดส่วน 70-80% เพราะคนยุคมิลเลนเนียลจะตระหนักถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นมากกว่าคนรุ่นก่อน

นอกจากนี้ สำหรับคนอายุ 20 – 40 เทียบกับคนที่มีอายุ 43 ปีขึ้น พบว่า คนที่อายุมาก สนใจเรื่อง ESG น้อยกว่ามาก คนอายุน้อยจะสนใจเรื่อง ESG มากว่า 4 เท่า และในช่วง 4 ปีให้หลังคนทั้งสองรุ่นให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG เพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยคิดเป็นสัดส่วน 75% ดังนั้นนักลงทุนควรมี ESG ในพอร์ตการลงทุน เพราะเป็นทางเดินที่ไม่ใช่ทางเลือก เป็นทางที่ต้องเดินสำหรับมนุษยชาติ และไม่เกี่ยวกับว่านักลงทุนจะรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน แม้สินทรัพย์จะเสี่ยง ก็ต้องมีคุณภาพ

“ปัจจัยในการคัดเลือกหุ้น ESG ต้องดูสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล กระบวนการคัดเลือก ต้องสร้างคุณค่าให้สังคม ทำอย่างไรให้บริษัทดีขึ้น และได้รับความสนใจที่จะลงทุน ไม่ใช่จะไม่ลงทุนกับคนไม่ดี แต่เป็นกระบวนการให้คุณให้โทษกับบริษัทที่จะต้องปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป” นางสาวดารบุษป์ กล่าว