3 โบรกฯลดเป้า SET ปีนี้ลงเหลือ 1,150-1,418 จุด เจอผลกระทบภาษีสหรัฐฯ

HoonSmart.com>> 3 โบรกเกอร์ปรับลดเป้าดัชนี SET ปี 68 ลงเหลืออยู่ในกรอบ 1,150-1,418 จุด ผลจากสหรัฐฯประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยรุนแรงกว่าคาด ภายใต้สมมติฐาน GDP ไทยปีนี้ลงเหลือ 1.5-2.7% และ EPS 82-90 บาท/หุ้น พร้อมเชียร์ BDMS, CPALL, MINT, KBANK, MTC, LH, ADVANC, BCH, BTS, JMT, ERW, AMATA, 3BBIF, CKP, PR9, TRUE

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ผลจากสหรัฐฯประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยรุนแรงกว่าคาด จึงปรับประมาณการ GDP ปีนี้ลงเหลือ 1.5% – 2.1% จากเดิม 3.1% และปรับ EPS เหลือ 82-88 บาท/หุ้น จากเดิม 92 บาท/หุ้น โดยประเมินเป้าหมาย SET Index ใน 3 กรณี คือ 1) กรณีแย่ที่สุด เจรจาไม่สำเร็จ ถูกสหรัฐฯเก็บภาษี 37% คาด GDP ปี 2568 เหลือโต 1.5% และ EPS 2568 ที่ 82 บาท/หุ้น +11% YoY อิง PER 14 เท่า (-1.0 S.D.) ได้เป้าหมาย SET Index ที่ 1,150 จุด

2) กรณีฐาน เจรจาต่อรองได้บ้าง แต่ยังถูกสหรัฐฯจัดเก็บภาษี 20% คาด GDP 2568 โต 1.9% และ EPS 2568 ที่ 85 บาท/หุ้น +15% YoY อิง PER 15 เท่า (-0.5 S.D.) ได้เป้าหมาย SET Index ที่ 1,275 จุด และ 3) กรณีดีที่สุด เจรจาต่อรองได้เกือบทั้งหมด แต่ยังถูกสหรัฐฯเก็บภาษี 10% ที่เป็น Universal Tariffs คาด GDP 2568 โต 2.2% และ EPS 2568 ที่ 88 บาท/หุ้น +19% YoY อิง PER 15.7 เท่า (-0.25 S.D.) ได้เป้าหมาย SET Index ที่ 1,380 จุด

ทั้งนี้ คาดว่า Downside เฉพาะประเด็นนี้จะเหลืออีกไม่เกิน -2% ถึง -5% เทียบเท่ากรอบล่างของ SET Index ที่ 1,050-1,100 จุด ในเชิงของกลยุทธ์การลงทุนแนะนำทำ Sector Rotation พร้อมกับติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจำกัด และสามารถใช้พักเงินได้ คือ REIT & IFF, สื่อสาร, โรงไฟฟ้า, ค้าปลีกสินค้าจำเป็น, การแพทย์ ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบโดยตรง อาจต้องชะลอการลงทุนไปก่อนคือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนยานยนต์, สินค้าเกษตร, นิคมอุตสาหกรรม, อาหารเครื่องดื่ม, ขนส่ง และโลจิสติกส์ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบโดยอ้อม เช่น พลังงาน, ธนาคารพาณิชย์, ไฟแนนซ์, ท่องเที่ยว ให้เน้นจับจังหวะลงทุนเมื่อราคาหุ้นปรับฐานลงมาลึกเท่านั้น

บล.กรุงศรี ปรับเป้ําหมายดัชนี SET ปี 2568 ลงสู่ 1,418 จุด (ปรับลดจาก 1,660 จุด) แนะนำกลุ่ม Deep Value และหุ้นได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง เน้น BDMS, CPALL, MINT, KBANK, MTC, LH, ADVANC ส่วน Small Cap : BCH, BTS, JMT, ERW, AMATA

การลดเป้าหมายดัชนี SET ใช้สมมติฐานกำไรตลาดปี 2567 ที่ 90 บาทต่อหุ้น(ปรับลดจาก 95 บาท) ตามหลักอนุรักษ์นิยมเพื่อสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาด รวมถึงความเสี่ยงจากผลกระทบของมาตรการกีดกันการค้าต่อราคาน้ำมัน นอกจากนี้ได้มีการปรับลด Target PER เหลือ 15.7 เท่า จากเดิม 17.3 เท่า อันเนื่องมาจากภาพเม็ดเงินลงทุนภายในที่อยู่ในช่วงรอยต่อเพื่อฟื้นตัวจากโซนฐานแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับตลาดในระยะถัดไป ได้แก่ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่ฝ่ายวิจัยคาดว่าจะขยายตัว +2.7% เร่งขึ้นจากปี 2567 ที่ +2.5%, การสิ้นสุดของแรงกดดันด้านสภาพคล่องภายในและการเริ่มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากโครงการ ThaiESG X, แนวคิดโครงการออมหุ้นระยะยาว(TISA) และเม็ดเงินหวยเกษียณประกอบกับนโยบายการเงินการคลังที่สอดประสาน,

แนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 89% ต่อ GDP (16.3 ล้านล้านบาท) ผ่านมาตรการ”คุณสู้เราช่วย” และมาตรการซื้อหนี้ธนาคารโดยเน้นกลุ่มหนี้เสียที่ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน1แสนบาทต่อราย ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมมูลหนี้ 0.89 และ 0.42 ล้านล้านบาทตามลำดับ, การต่อยอดNew S Curve โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศในโครงการ Data Center จากจีนที่มีสัญญาณต่อยอดมายังสหรัฐฯ, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่อนุมัติแล้วและการพัฒนา New S Curve ใหม่ ๆ อาทิร่างพ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจรระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้พนันถูกกฎหมาย และตั๋วร่วมในไตรมาส 2 ปี 2568

Best Picks : BDMS, CPALL, MINT, KBANK, MTC, LH, ADVANC Small Cap: BCH, BTS, JMT, ERW, AMATA อิงการประเมินมูลค่าที่ปรับลงสะท้อนภาพ Worst Case Scenario แล้วขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงมีความแข็งแกร่งโดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นที่มีฐานรายได้ภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งยังคงได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป้าหมายที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในระยะถัดไป

บล.ธนชาต ปรับลด GDP ปี 2568 โตเหลือ 1.5% และเป้าหมาย SET สิ้นปีเหลือ 1,220 จุด อย่างไรก็ดี คาดว่ากนง. จะปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้เหลือ 1.5% ซึ่งจะเป็นบวกต่อกลุ่มไฟแนนซ์ ขณะที่แนะนํา”หลีกเลี่ยง”กลุ่มส่งออก นิคม ท่องเที่ยว พลังงาน
ยานยนต์ และธนาคาร ออกไปก่อน ทางกลยุทธ์แนะนํา “Selective” กลุ่ม Defensive play อย่าง ADVANC 3BBIF CKP PR9 TRUE

ความกังวลนโยบายภาษีสหรัฐฯกระทบเศรษฐกิจ ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่อิงกับการส่งออกถึง 60% ของ GDP และส่งออกไปยังสหรัฐฯมากถึง 18% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ทําให้กระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก