ดาวโจนส์ปิดลบ 349 จุด วิตกเศรษฐกิจถดถอยจากภาษี

HoonSmart.com>>ดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วง 349 จุด ลดลงต่อเนื่องวันที่สาม นักลงทุนวิตกภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว-อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น หลังทรัมป์ยืนกรานขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า พร้อมขู่ปรับขึ้นจีนอีก ด้าน “ราคาน้ำมันดิบ” WTI ลดลง 2.08% ปิดที่ 60.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ปิดร่วงหนัก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average: DJIA) วันที่ 7เมษายน 2568 ปิดที่ 37,965.60 จุด ลดลง 349.26 จุด หรือ -0.91% ลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่สาม เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ยังคงยืนกรานที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า และล่าสุดขู่ว่าจะปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้ากับจีนอีกในวันจันทร์

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,062.25 จุด ลดลง 11.83 จุด, -0.23%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,603.26 จุด เพิ่มขึ้น 15.48 จุด, +0.10%

การซื้อขายผันผวนอย่างมาก ในช่วงหนึ่งดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงถึงกว่า 1,700 จุด ก่อนที่เด้งขึ้นมา 2,595 จุดจากระดับต่ำสุดไปที่ระดับสูงสุด จากนั้นก็แกว่ง ซึ่งถือว่าพลิกกลับไปกลับมามากสุดเป็นประวัติการณ์
ดัชนี S&P 500 ช่วงหนึ่งลดลง 4.7% ที่ระดับต่ำสุด และเข้าสู่เขตตลาดหมีในช่วงสั้นๆ ส่วนดัชนี Nasdaq Composite ปิดบวกหลังจากที่ร่วงไปกว่า 5% ที่ระดับต่ำสุด จากการเข้าช้อนซื้อของนักลงทุนบางส่วนในหุ้นใหญ่เช่น Nvidia และ Palantir

ปริมาณการซื้อขายแตะระดับสูงสุดในรอบอย่างน้อย 18 ปี โดยมีการซื้อขายหุ้นราว 29,000 ล้านหุ้น ซึ่งสูงกว่าปริมาณการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ที่ 26,770 ล้านหุ้น และสูงกว่าปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย 10 วันซึ่งอยู่ที่ 16,940 ล้านหุ้น

ในช่วงแรกตลาดปรับตัวขึ้นในช่วงสั้นๆ จนทำให้ดัชนีดาวโจนส์เข้าสู่แดนบวก จากการคาดเดากันว่าจะมีการระงับใช้ภาษีศุลกากรเป็นเวลา 90 วันในโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวปฏิเสธว่า การระงับใช้ภาษีศุลกากรที่ปรับขึ้น 90 วันเป็น “ข่าวปลอม” และตลาดก็ปรับลงอีกครั้ง

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ขู่จีนว่าจะเพิ่มภาษีนำเข้าอีก 50% ผ่านเว็บไซต์ Truth Social โดยระบุว่า “หากจีนไม่ยกเลิกภาษีนำเข้า 34% ที่เพิ่มขึ้นจากการละเมิดทางการค้าที่เกิดขึ้นแล้วภายในวันพรุ่งนี้ (8 เมษายน 2025) สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 50% มีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน นอกจากนี้ การเจรจากับจีนทั้งหมดเกี่ยวกับการประชุมที่จีนร้องขอจะยกเลิก

ทรัมป์ยังย้ำกับนักข่าวอีกครั้งในวันจันทร์ว่าไม่มีการระงับแผนภาษีนำเข้าที่ประเมินแล้ว

เจมี ไดมอน ซีอีโอของ JPMorgan เตือนว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ขณะที่แลร์รี ฟิงค์ ซีอีโอของ BlackRock กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าภาษีศุลกากรได้ผลักดันให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว ส่วนบิลล์ แอคแมน นักลงทุนมหาเศรษฐีผู้สนับสนุนทรัมป์ เรียกร้องให้รัฐบาลระงับแผนภาษีศุลกากรเพื่อเปิดทางให้มีการเจรจากัน

แต่ที่ปรึกษาใกล้ชิดที่สุดของทรัมป์ไม่ได้ให้สัญญาณที่จะยกเลิกภาษีศุลกากร ในบทบรรณาธิการของไฟแนนเชียลไทมส์ที่เผยแพร่เมื่อบ่ายวันจันทร์ ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาการค้าของทำเนียบขาวกล่าวว่า รัฐบาลทรัมป์ระบุว่านโยบายดังกล่าว “ไม่ใช่การเจรจา”

ดัชนี CBOE Volatility Index ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของตลาด ทะลุระดับ 60 จุด ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2024 และหลังจากอ่อนตัวก็ยังคงสูงที่ระดับ 46.98 ซึ่งเป็นระดับปิดตลาดสูงสุดในรอบ 5 ปี

ริค เม็กเลอร์ หุ้นส่วน Cherry Lane Investments ซึ่งเป็นสำนักงานการลงทุนของครอบครัวในเมืองนิวเวอร์นอน รัฐนิวเจอร์ซีย์ กล่าวว่า ปัญหาพื้นฐานของตลาดคือ แนวทางของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการค้าที่ไม่สมดุลนั้นเป็นการพยายามหาทางแก้ไขที่แย่กว่าสาเหตุเสียอีก และชัดเจนว่านักลงทุนต้องการให้ระงับหรือมองในมุมอื่นว่าจะทำอย่างไรดี ซึ่งบอกได้จากการที่บรรดาผู้สนับสนุนทรัมป์จำนวนมากในแวดวงการลงทุนและธุรกิจ ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครออกมาสนับสนุนแนวทางการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลเลย

หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ร่วงลง 2.4% ถือเป็นหุ้นที่ร่วงลงมากที่สุดในบรรดาดัชนีอุตสาหกรรมหลัก 11 ดัชนีของ S&P เมื่อวันจันทร์ กลุ่มบริการด้านการสื่อสารเพิ่มขึ้น 1% ส่วนกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งเพิ่มขึ้น 0.3%
ส่วนหุ้นรายตัว หุ้น Apple ลดลง 3.7% หุ้นTesla ลดลง 2.6% ส่วนหุ้น Nvidia บวกกว่า 3% และหุ้น Amazon เพิ่มขึ้น 2.5%

ในสัปดาห์นี้ นักลงทุนจับตาการให้ความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)หลายราย รวมทั้งการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจหลายรายการ ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมีนาคม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนเมษายนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ เพื่อประเมินสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างใกล้ชิด

ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงอย่างหนัก โดยดัชนี STOXX 600 ปิดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2024 ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนปรนสงครามการค้าที่แข็งกร้าว

ดัชนี STOXX 600 ร่วงลงเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน และตลาดหุ้นหลักปิดตัวลบระหว่าง 4% ถึงมากกว่า 5%
ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 474.01 จุด ลดลง 22.32 จุด, -4.50%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,702.08 จุด ลดลง 352.90 จุด, -4.38%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,927.12 จุด ลดลง 347.83 จุด, -4.78%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 19,789.62 จุด ลดลง 852.10 จุด, -4.13%

ดัชนีอ้างอิงของเยอรมนีซึ่งอ่อนไหวต่อการค้าร่วงลงถึง 6.4% โดยในช่วงหนึ่งร่วงลงกว่า 20% จากระดับ all-time เมื่อเดือนมีนาคม และอยู่ในแนวโน้มที่จะยืนยันว่าตลาดอยู่ในภาวะหมี แม้ว่าจะลดช่วงลบลงบางส่วนจนปิดตลาดที่ระดับ 4.3% ก็ตาม

ดัชนีความผันผวนพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ 46.72

นักลงทุนมีความตลอดช่วงการซื้อขายจากข่าวต่างๆ ที่มีการรายงานตลาดร่วงลงอย่างรวดเร็วหลังจากมีรายงานว่าทรัมป์กำลังพิจารณาระงับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศยกเว้นจีนเป็นเวลา 90 วัน อย่างไรก็ตาม ตลาดปรับตัวลดลงหลังจากที่ทำเนียบขาวระบุว่ารายงานดังกล่าวว่าเป็น “ข่าวปลอม”

หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวลดลง กลุ่มธนาคารในยุโรปเข้าสู่ภาวะตลาดหมี โดยลดลงกว่า 20.9% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคม

นักลงทุนทำกำไรจากหุ้นของบริษัทผลิตอาวุธซึ่งพุ่งสูงขึ้นเมื่อต้นปีนี้จากแนวโน้มการใช้จ่าย

ด้านการป้องกันประเทศที่สูงขึ้น โดยหุ้นด้านการป้องกันประเทศลดลงกว่า 5%

ความกังวลที่ว่าสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนแห่กันไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่ความคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ECB ประมาณการว่าภาษีศุลกากรแบบครอบคลุมของสหรัฐฯ จะทำให้การเติบโตของยูโรโซลดลง 0.3 จุดในปีแรก และภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหภาพยุโรปต่อสหรัฐฯ จะทำให้ความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 0.5 จุด
ขณะนี้ ตลาดคาดว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเกือบ 2 ครั้งในการประชุม 2 ครั้งถัดไป

สหภาพยุโรปเตรียมตอบโต้ โดยระบุว่าจะเริ่มเรียกเก็บภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าบางรายการจากสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า แม้รัฐมนตรีการค้าเห็นพ้องกันว่าต้องการการเจรจากับสหรัฐฯ มากกว่าการตอบโต้ก็ตาม
มาตรการตอบโต้สินค้าสหรัฐฯ จะกำหนดเป้าหมายที่สินค้าที่นำเข้ามูลค่าไม่เกิน 26,000 ล้านยูโร

Barclays ปรับลดคาดการณ์ STOXX 600 สิ้นปีจาก 580 เหลือ 490 จุด ตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนที่แล้ว

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 1.29 ดอลลาร์ หรือ 2.08% ปิดที่ 60.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายนลดลง 1.37 ดอลลาร์ หรือ 2.09% ปิดที่ 64.21 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 
 
 
 
 
———————————————————————————————————————————————————–