ดาวโจนส์ปิดร่วง 137 จุด PPI ร้อนแรง คาดเฟดไม่ขยับดอกเบี้ยจนถึงครึ่งปีหลัง

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 3 ดัชนีหลักปิดร่วง ดาวโจนส์ลดลง 137 จุด PPI เดือนก.พ.สูงกส่าคาด ด้านบอนด์ยีลด์เพิ่มขึ้นแตะ 4.29% คาดเฟดไม่ขยับดอกเบี้ยจนถึงครึ่งปีหลัง นักลงทุนขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ด้าน “ราคาน้ำมันดิบ WTI” เพิ่มขึ้น 1.54 ดอลลาร์ ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ปิดลบหลังแตะระดับสูงสุดวันก่อน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 14 มีนาคม 2567 ที่ 38,905.66 จุด ลดลง 137.66 จุด หรือ -0.35% จากที่ปรับขึ้นติดต่อกันสามวัน หลังการรายงานข้อมูลเงินเฟ้อที่ร้อนแรงเกินคาด ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งและกดดันหุ้น Nvidia
      
ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,150.48 จุด ลดลง 14.83 จุด, -0.29%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,128.53 จุด ลดลง 49.24 จุด, -0.30%
      
กระทรวงแรงงานรายงาน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่า 1.1% ที่นักวิเคราะห์คาด เมื่อเทียบรายเดือนเพิ่มขึ้น 0.6% สูงกว่า 0.3% ที่นักวิเคราะห์คาด จาก 1.0% ในเดือนมกราคม
      
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่า 1.9% ที่นักวิเคราะห์คาดและเมื่อเทียบรายเดือนเพิ่มขึ้น 0.3% สูงกว่า 0.2% ที่นักวิเคราะห์คาด แต่ต่ำกว่า 0.5% ในเดือนมกราคม
      
รายงานอัตราเงินเฟ้อที่ร้อนแรงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นมาที่ 4.29%
      
หุ้นของ Nvidia ลดลงกว่า 3% ดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ลดลง 1.8% ซึ่งในสัปดาห์นี้ดัชนีหุ้นกลุ่มนี้ปรับลงแล้ว 3.5% เพราะนักลงทุนขายทำกำไรหลังราคาหุ้นพุ่งแรงในช่วงที่ผ่านมา
      
ดัชนี PPI เป็นหนึ่งในข้อมูลชิ้นสุดท้ายที่อาจส่งผลต่อธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในการประชุมนโยบายในสัปดาห์หน้า
      
เงินเฟ้อที่ยังคงไม่ลดลงมีแนวโน้มที่จะเสริมการดำเนินการอย่างระมัดระวังของเฟดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และอาจมีคำถามเพิ่มเติมว่าอัตราดอกเบี้ยในปี 2024 จะยังคงสูงขึ้นนานกว่าที่คาดไว้หรือไม่
      
ลินด์เซย์ เพียซา จาก Stifel กล่าวว่า ด้วยเงินเฟ้อที่สูงกว่าที่คาดไว้ จึงเป็นเรื่องยากมากสำหรับเฟดที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้น ในกรณีฐานของ Stifel คาดว่าเฟดจะไม่ทำอะไรไปจนถึงครึ่งหลังของปีก่อนที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบาย
      

โทนี เวลช์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ SignatureFD กล่าวว่า ในภาพรวมอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างร้อนแรงในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา และนโยบายของเฟดอาจไม่ผ่อนคลายเท่าที่ตลาดต้องการในปีนี้แต่แนวโน้มที่จะเข้มงวดมากขึ้นยังคงมีความเป็นไปได้น้อย
      
FedWatch Tool ของ CME Group ล่าสุดบ่งชี้ว่า นักลงทุนลดน้ำหนักที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนมิถนายนเหลือ 62.9% จาก 81.7% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนการประชุมวันที่ 19-20 มีนาคมนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50%
     
กลุ่มสาธารณูปโภคและอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลงมากสุด โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ลดลง 1.6% และสาธารณูปโภคลดลง 0.8%
      
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจอื่นที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ ได้แก่ จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจากกระทรวงแรงงานซึ่งลดลง 1,000 รายมาที่ 209,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่า 218,000 ราย ที่นักวิเคราะห์คาด
      
กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดค้าปลีกเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่า 0.8% ที่นักวิเคราะห์คาด และเมื่อเทียบรายปี เพิ่มขึ้น 1.5%

      
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบหลังจากแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังสูง ทำให้มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่การร่วงลงของกลุ่มเหมืองแร่ยิ่งถ่วงตลาดให้ลดลง
      
ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และไม่แน่ใจว่าธนาคารกลางสหรัฐจะสามารถเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนได้หรือไม่
      
ตลาดยังได้รับแรงกดดัน จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยุโรปที่เพิ่มขึ้นหลังจากข้อมูล PPI โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของเยอรมนี ซึ่งถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับยูโรโซน แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม
      
กลุ่มเหมืองแร่ปรับลงมากที่สุด โดยลดลง 1.4% เนื่องจากราคาโลหะฐานและโลหะมีค่าที่ลดลง

ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 506.40 จุด ลดลง 0.93 จุด, -0.18%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,743.15 จุด ลดลง 29.02 จุด, -0.37%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 8,161.42 จุด เพิ่มขึ้น 23.84 จุด, +0.29%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 17,942.04 จุด ลดลง 19.34 จุด, -0.11%
      
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 1.54 ดอลลาร์ หรือ 1.93% ปิดที่ 81.26 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 1.39 ดอลลาร์ หรือ 1.65% ปิดที่ 85.42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล