” ESG มาแรงแซงทุกเทรนด์ ส่อง 7 อาชีพด้านความยั่งยืน มีตำแหน่งไหนน่าสนใจบ้าง? “

รู้หรือไม่ว่าปัจจุบันมีตำแหน่งด้าน ESG เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และรายได้อยู่ในระดับที่น่าดึงดูด บางที่ก็ไม่น้อย เกือบแสนเลยทีเดียว!

บทความจากเว็บไซต์ greenly.earth บอกว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นมิลเลนเนียลและกลุ่ม Gen Z มองหางานที่แตกต่างไปจากรุ่นพ่อแม่มองหา มีถึง 40% ที่เลือกงานจากองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ในเว็บไซต์ Indeed เว็บไซต์หางานอันดับ 1 ในโลก พบว่าตัวเลขการรับสมัครงานในสาย ESG เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดียงานสาย ESG มีการเติบโตขึ้นกว่า 223% (ระหว่างเดือนเมษายน 2019 ถึงเมษายน 2023), ถ้าพูดถึงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับ ESG จะมีตำแหน่งไหนน่าสนใจบ้าง? แต่ละตำแหน่งได้เข้าไปทำงานอะไร วันนี้เรามาลองดู 7 ตัวอย่างอาชีพที่น่าสนใจกัน

1. Urban Planner

ตำแหน่งนี้ ช่วยวางแผนการใช้ที่ดิน พื้นที่ต่าง ๆ ในแต่ละโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันต้องลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบด้วย ไม่ว่าจะกับถนน ชุมชน สวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียวอื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังวางแผนเรื่องการพัฒนา เสริมสร้างการเติบโตของชุมชน และประชากรในพื้นที่นั้น ๆ อีกด้วย

ตำแหน่งสามารถแยกย่อยออกมาได้อีกหลายสาขา ยกตัวอย่างเช่น

– Transportation Planners เน้นดูเรื่องการพัฒนา และการจัดการระบบการขนส่ง รวมถึงถนน ทางหลวง การขนส่งสาธารณะ รวมถึงช่องเดินจักรยาน

– Environmental Planners เน้นดูเรื่องผลกระทบของการพัฒนาต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการใช้มาตรการป้องกันที่เหมาะสมเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ช่วยลดของเสีย ซึ่งต้องประสานงานกับองค์กรใหญ่ หรือหน่วยงานภาครัฐต่างๆ

2. Ecologist

นักนิเวศวิทยา มีหน้าที่ในการสังเกต ศึกษาความสัมพันธ์ และการวิเคราะห์ผลกระทบระหว่างกิจกรรมมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่จะทำงานร่วมกับทางภาครัฐ โดยเฉพาะองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

ตำแหน่งจะแยกย่อยออกมาได้อีกหลายสาขา ยกตัวอย่างเช่น

– Conservation Scientists เน้นศึกษาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงผลกระทบของกิจกรรมมนุษย์ต่อระบบนิเวศ เช่น การประเมินความเสียหายของต้นไม้และที่ดินป่าไม้จากไฟไหม้และการตัดไม้ การกำกับดูแลระบบนิเวศ ให้เป็นไปตามกฎระเบียบของรัฐบาล เป็นต้น

– Restoration Ecologists เน้นดูแลเรื่องการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เกิดความเสียหายจากมนุษย์ จะดูแลตั้งแต่เรื่องการออกแบบ และดำเนินโครงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ให้ความรู้แก่ประชาชน ไปจนถึงการวิเคราะห์ หาสาเหตุของสิ่งแวดล้อมที่เสียหายไป

3. ESG Consultants

ที่ปรึกษาด้าน ESG จะเข้ามาช่วยให้บริษัทต่าง ๆ พัฒนา และใช้กลยุทธ์ ESG เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีมากยิ่งขึ้น รวมถึงการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ดังนั้นคนที่จะมาทำตำแหน่งนี้ได้จะต้องมีความเข้าใจ ESG และองค์กรที่ให้คำปรึกษามากพอสมควร

อีกตำแหน่งที่ในประเทศไทย พอจะมีเปิดให้เห็นพอสมควร อย่างล่าสุดใน JobsDB (ต.ค. 66) องค์กรดังอย่าง Deloitte ก็เปิดรับตำแหน่ง Senior Consultant /Manager – Center of Excellence – Environmental, Social and Governance (ESG) ที่จะเข้ามาช่วยคิด และสนับสนุนให้เกิดโครงการต่าง ๆ ขึ้นในทีม ESG Center of Excellence ในกรุงเทพฯ เป็นต้น

4. Conservation Scientists

ใครที่ชอบเรื่องธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ ตำแหน่งนี้เป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่น่าสนใจ เพราะจะได้ทำงานศึกษา วิเคราะห์เกี่ยวกับธรรมชาติต่าง ๆ ว่ามีความเหมาะสมไหม ตัวอย่างเช่น สมมุติเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้หรือน้ำท่วม จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม คนกลุ่มนี้จะมาประเมิน วางแผน และฟื้นฟูให้พื้นดินที่ถูกทำลาย หรือธรรมชาติที่เสียหายไปให้กลับมาสู่สภาพปกติ

โดยมีการคาดการณ์ว่าตำแหน่งนี้จะเติบโตขึ้น 6.3% ระหว่างปี 2016 ถึง 2026

5. Energy Engineer

เป็นอีกหนึ่งตำแหน่งสำคัญของสาขา ESG ที่จะดูแลในหลาย ๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ซึ่งมักจะอยู่ในช่วงขั้นตอนของการวางแผนพัฒนา และการก่อสร้าง โดยแต่ละองค์กรอาจจะมีบทบาทหน้าที่ของตำแหน่งนี้ที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น Solar Engineer จะรับผิดชอบในการออกแบบ พัฒนา และใช้งานระบบพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยขนาดเล็กและเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่

6. Energy & ESG Analyst

อีกหนึ่งตำแหน่งที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก เพราะงานส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับพลังงาน และ ESG ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ใช่แค่วิเคราะห์อย่างเดียวแล้วจบไป แต่จะต้องสามารถจำลอง หรือเสนอแนวทางให้กับทีมที่เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลเหล่านั้นไปพัฒนาต่อได้นั่นเอง ตำแหน่งนี้ในต่างประเทศ อย่างบริษัท Capital Group Companies ในนิวยอร์ก ได้ลงประกาศรับสมัคร โดยให้ข้อมูลเงินเดือนไว้สูงถึง $111,404 – $178,246 ต่อปีเลยทีเดียว

7. ESG Reporting Specialist

ยิ่งตอนนี้ทุกองค์กรจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูล ESG ของบริษัทตัวเอง ดังนั้น ตำแหน่งนี้จึงเป็นอีกตำแหน่งที่สำคัญ และมีความจำเป็นอย่างมาก คนกลุ่มนี้จะคอยรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ และนำข้อมูลนั้นมาเสนออย่างโปร่งใส ครบถ้วน และครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ การดูแลสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นความคืบหน้าขององค์กร รวมถึงนักลงทุนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณา และวิเคราะห์ประกอบการลงทุนอีกด้วย

ต้องบอกว่า 7 ตำแหน่งนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของตำแหน่งงานสาย ESG ที่น่าสนใจเท่านั้น ถ้าทุกคนลองไปเปิดตามเว็บสมัครงาน แล้วลองพิมพ์คำว่า ESG ลงไป เราจะเจอหลายบริษัทต่างๆ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ที่เปิดรับคนทำงานสาย ESG โดยตรงเป็นจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ บางตำแหน่งจะคัดเลือกผู้มีประสบการณ์และความรู้เฉพาะด้านเข้าไปทำงาน เช่น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องคาร์บอน หรือเรื่องพลังงาน เป็นต้น

และแน่นอนว่าเมื่อตลาดแรงงานมีความต้องการตำแหน่งงานด้าน ESG สูง แต่ผู้เชี่ยวชาญในสายงานนี้มีจำนวนน้อย การเติบโต Career Path ของสายอาชีพเหล่านี้ก็ถือว่าอยู่ในกราฟการเติบโตที่ยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะทำงานสายนี้จำเป็นต้องมีทักษะที่ขาดไม่ได้อยู่ โดยเว็บไซต์ Speeki ได้ระบุ 3 ทักษะหลักที่น่าสนใจ ได้แก่

1. ทักษะความเข้าใจกรอบงานของ ESG (Understanding of ESG Frameworks)

อาจจะเป็นทั้งทักษะ และชุดความรู้ที่จำเป็นต้องมี เพราะถ้าจะทำงานสายนี้ความรู้เรื่องและความเข้าใจด้านกรอบการทำงานด้าน ESG จะมีความสำคัญ ในการต่อยอดความรู้เฉพาะทาง ได้ดีมากขึ้น

2. ทักษะการวิเคราะห์ (Analytical Skills)

ถ้าสังเกตในหลาย ๆ ตำแหน่งที่ยกตัวอย่างมา ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษา นักวิเคราะห์ ผู้จัดทำรายงาน ทุกตำแหน่งแทบจะต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ทั้งสิ้น เนื่องจาก ESG มีความเชื่องโยงและเกี่ยวข้องกับความรู้หลายๆ ด้าน ข้อมูลต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้การคิดและวิเคราะห์ เพื่อนำไปตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

3. ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills)

ทักษะนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะกับอาชีพ หรือตำแหน่งงานไหนก็ตาม สำหรับสายงาน ESG เรื่องนี้ก็สำคัญ แม้ว่า ESG จะเป็นเทรนด์ที่ถูกพูดถึงมาก แต่องค์กรยังคงต้องการผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารที่สามารถถ่ายทอดนโยบาย กลยุทธ์ และประเด็นต่างๆ ด้าน ESG ให้กับบุคคลภายใน และนอกองค์กรให้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน

ในอนาคตสายงานนี้จะเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับสายงานด้าน AI ซึ่งเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่แทบจะทุกองค์กรต้องการ ดังนั้น ESG เป็นองค์ความรู้ที่องค์กรชั้นนำ และประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญ ตลาดแรงงานและบริษัทต่างๆ กำลังตื่นตัว ในการมองหาผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ ความเข้าใจ เพื่อนำมาพัฒนาและขับเคลื่อนองค์กร และสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับผู้ที่มีความสนใจงานสายนี้ สามารถศึกษาและหาข้อมูลด้าน ESG เพิ่มเติม ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคนก็ได้…

บทความโดย บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด

ติดตามข้อมูลการลงทุนอย่างยั่งยืนได้ที่ https://www.uobam.co.th/th/Sustainability

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2786-2222

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน