ก.ล.ต.สกัดเน็กเก็ตชอร์ต สั่งคัสโตเดียนแจ้งยืมหุ้น-แฉออเดอร์หลอก-ขึ้นทะเบียนHFT

HoonSmart.com>>ก.ล.ต.เห็นชอบมาตรการที่ตลาดเสนอ ไล่สกัดเน็กเก็ตชอร์ต สั่งคัสโตเดียนรายงานโอนหุ้นจากการยืมต่อศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ สั่งโบรกให้ยืนยันตัวตนลูกค้า(KYP) เปิดชื่อคนส่งออเดอร์เข้าข่ายหลอก จับได้ปรับโบรกเกอร์ 3 เท่า ยกระดับหุ้นทำชอร์ต ตรวจสอบโปรแกรมเทรดดิ้ง แฉต่างชาติใช้ HFT ถึง 98% จับขึ้นทะเบียน เพื่อติดตามได้ทุกบัญชี บล.หยวนต้าเชียร์ก.ล.ต.เข้มชอร์ตเซลโปร่งใสบวกต่อดัชนี-หุ้นใหญ่ที่ถูกชอร์ตมาก  SCC, SCGP, IVL, AOT, CPF, LH  

นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงมาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต (Short Selling-SS) เพื่อป้องกันการขายหุ้นโดยไม่มีหุ้น หรือทำเน็กเก็ตชอร์ต (Naked Short Selling)  คือ การสั่งให้คัสโตเดียนหรือผู้ดูแลหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศรายงานการโอนหุ้นที่มาจากการยืมไปทางศูนย์รับฝากหลักทรัพย์(TSD) เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์สามารถตรวจสอบได้ว่านักลงทุนต่างประเทศมีการยืมหุ้นมาชอร์ตนั้นทำตามเกณฑ์การทำชอร์ตเซล

“นักลงทุนต่างชาติจะซื้อขายหุ้นผ่านคัสโตเดียน และคัสโตเดียนเป็นสมาชิกของ TSD เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอยากขอให้ช่วยทำเพิ่มเติมคือถ้าเห็นว่าในการโอนหุ้นมาเป็นหุ้นที่มาจากการยืม ก็ให้รายงานไปทาง TSD เป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะทำให้โบรกเกอร์สามารถเช็คได้ว่าช่องทางต่างประเทศมีการยืมหุ้นมาชอร์ต และมีการทำตามเกณฑ์ชอร์ตเซลหรือเปล่า นี่เป็นส่วนแรกที่เราคิดว่าทำแล้วน่าจะทำให้กลไกการกำกับดูแลในเรื่องของการชอร์ตเซลทำได้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา”นางวรัชญา กล่าว

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า นอกจากนี้ ก.ล.ต.ได้อนุมัติให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) สั่งปรับโบรกเกอร์ที่ไม่ทำตามเกณฑ์ปล่อยให้มีการส่งคำสั่งเน็กเก็ตชอร์ต 3 เท่าของกำไร จากเดิมปรับ 1 เท่า และเปิดเผยชื่อโบรกเกอร์ที่มีการทำผิด

รวมถึง ให้โบรกเกอร์ทำการยืนยันตัวตนลูกค้า(KYP) คัดกรองการส่งคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสม ป้องกันการส่งคำสั่งซื้อขายหลอก ทั้งการส่งคำสั่งผ่านเครื่อง หรือ โปรแกรม เทรดดิ้ง และผ่านคน เช่น มีการส่งคำสั่งซื้อแบบถี่ๆ และมีการยกเลิกคำสั่งในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดเผยรายชื่อนักลทุนที่มีพฤติกรรมดังกล่าวให้โบรกเกอร์ทุกรายทราบ เพื่อให้ดำเนินการตามที่กำหนด จะได้จับตาอย่างใกล้ชิด และไปทำข้อตกลงกับลูกค้าให้ทำตามเกณฑ์ และให้ความยินยอมให้ไล่เบี้ยค่าปรับ

“วันนี้ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนการขายชอร์ตสูงขึ้น และด้วยที่ไม่มีปัจจัยบวกเด่นชัด ทำให้ราคาตลาดผันผวนไปในทิศทางที่ลดลง ซึ่งเราเน้นไม่ให้ทำเน็กเก็ตชอร์ต หากมีคนทำผิด วันนี้เราเอาผิดได้ และตรวจสอบนักลงทุนต่างประเทศได้แล้ว แม้ว่ากฎหมายเราจะต่าง จะกำกับและเอาผิดได้กับคนกลาง คือ โบรกเกอร์ ขณะที่กฎหมายในต่างประเทศอื่นให้เอาผิดกับผู้ลงทุน และยืนยันว่าตรวจสอบลูกค้าต่างประเทศได้” นางพรอนงค์ กล่าว

นางพรอนงค์ กล่าวว่า การขายชอร์ตทำได้ แต่ต้องไม่กระทบต่อคุณภาพของตลาด และต้องไม่ใช่การทำเน็กเก็ตชอร์ต และการขายชอร์ตถือว่าเป็นตลาดที่สมบูรณ์ แต่เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนมาก ไม่กระทบต่อภาพรวม และไม่กระทบต่อหุ้นรายตัว จึงได้เพิ่มเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่ง คือ หุ้นที่จะชอร์ตได้ ต้องมีสภาพคล่องมากกว่า 2% ต่อเดือน และมาร์เก็ตแค็ปฯ เพิ่มจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 7,500 ล้านบาท จะทำให้สัดส่วนหุ้นที่มีการขายชอร์ตได้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 20% เท่ากับตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้าน จากเดิมที่ไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 30%

นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้ตลท.เพิ่มการใช้ uptick rule เมื่อราคาหุ้นลดลงมากกว่า 10% ของราคาปิดวันก่อนหน้า การขายชอร์ตจะต้องขายในราคาที่ uptick สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนในการขายสูงขึ้น และรักษาเสถียรภาพของตลาด ไม่ให้ตลาดเกิดความผันผวนเกินไป

สำหรับ ปริมาณการขายชอร์ต ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯมีการเปิดเผยข้อมูลรายวันอยู่แล้ว แต่ไม่ได้แจ้งยอดคงค้าง หรือ uncover short ซึ่งต่อไปจะมีการเปิดตัวเลขยอดคงค้างด้วย  เพื่อให้นักลงทุนได้เห็น เพราะเวลาขายแล้วจะมีการซื้อคืนกลับมาแต่ยอดซื้อขายไม่เท่ายอดที่ขาย ทำให้คนสงสัยว่ามีปริมาณหุ้นที่ขายออกมามากกว่าจำนวนหุ้นที่มีอยู่จริง รวมถึงการกำหนดเพดานการขายชอร์ตรายหลักทรัพย์รายวันที่ 10% ปัจจุบันอยู่ที่ 2-3%

“เราเพิ่มคุณภาพของการทำหน้าที่ตัวกลาง ทำให้สามารถปิดกั้นให้ดียิ่งขึ้น ในเรื่องของคัสโตเดียน ไม่ใช่ว่าเขาไม่บริสุทธิ์ แต่เราต้องการให้เขาแยกออกมาว่า การโอนหุ้นกันแล้วทำเนกเก็ตชอร์ตเท่าไหร่ ทำให้ตรวจสอบได้เร็วขึ้น มั่นใจว่ากลไกที่มีอยู่ป้องกัน หรือถ้ามีหลุดออกมาก็เอาผิดได้” นางพรอนงค์ กล่าว

นางพรอนงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ มาตรการควบคุมความผันผวน จะมีการใช้ Dynamic Price Band พักการซื้อขายชั่วคราว ถ้าราคาหุ้นขึ้น ลง เกิน 10% จากราคาล่าสุด เพื่อให้คนตั้งสติและลดความร้อนแรง หากใช้แนวทางดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล ก็จะสั่งให้หยุดซื้อ ขาย แล้วเปิดประมูลหุ้นเป็นรอบๆ เพื่อให้ราคากลับเข้าสู่ราคาตลาดที่สมเหตุสมผล

สำหรับสิ่งที่เป็นกังวลเรื่องการทำโปรแกรมเทรดดิ้ง (Program Trading :PT) คือ การทำ High Frequency Trading (HFT) ที่สัดส่วนเพิ่มขึ้นมากและส่วนใหญ่เป็นการทำ HFT จากนักลงทุนต่างชาติประมาณ 98% โดยการส่งคำสั่งปกติอยู่ที่ 67% ส่วนที่เป็น HFT มี 15% และ PT ที่ไม่รวม HFT 18% เพื่อควบคุมและรู้ตัวตน ตรวจสอบได้ จึงให้ทางโบรกเกอร์ทำการกรองลูกค้า โดยเฉพาะคนที่ทำ HFT จะต้องมาขึ้นทะเบียน HFT กับตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อให้สามารถติดตามการซื้อขายได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะทำให้เห็นคนที่ทำ HFT ทุกบัญชี

“คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถบังคับใช้ได้ครบภายในไตรมาส 3 เพราะบางเรื่องต้องมีการรับฟังความคิดเห็น แก้กฎหมาย และเสนอบอร์ด รวมถึงการวางระบบร่วมกันกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยืนยันว่าสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถตรวจสอบและเอาผิดได้ เพียงแต่มาตรการเพิ่มเติม จะทำให้ตรวจสอบได้เร็วขึ้นไม่ต้องรอเป็นวันๆ”นางพรอนงค์ กล่าว

ด้านบล.หยวนต้า(ประเทศไทย)ประเมินความเข้มงวดของ ก.ล.ต. จะทำให้กระบวนการชอร์ตเซลมีความโปร่งใสมากขึ้น ถือเป็นปัจจัยบวกเชิง Sentiment ต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ที่ถูกชอร์ตเซลมาก เช่น SCC, SCGP, IVL, AOT, CPF, LH เป็นต้น