3 โบรกฯเก็งบาทแข็งต่ำ 35 หลังลด ดบ.เงินไหลเข้า เชียร์ 14 หุ้นเด่น

HoonSmart.com>>3 โบรกเกอร์ฟันธงเงินบาทปีนี้ต่ำกว่า 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางหลายประเทศลดดอกเบี้ย ส่งฟันด์โฟลว์ไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยง แนะหุ้นได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยลง กลุ่มโรงไฟฟ้า, ค้าปลีก, บริการ, ท่องเที่ยว, ไฟแนนซ์, สื่อสาร, จำนำทะเบียน, ปิโตรเคมี และกอง REIT หุ้นเด่น คือ IVL, MTC, BJC, CPALL, ICHI, GULF, GPSC, OSP, MINT, THCOM, ADVANC, TIDLOR, 3BBIF, LHHOTEL

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี พัฒนสิน กล่าวว่า หลังจากที่มีสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดว่า ในไตรมาส 3/2567 เงินบาทจะอยู่ในทิศทางแข็งค่า มองกรอบค่าเงินบาทไว้ที่ 35.50-34.50 บาท สนับสนุนให้เงินทุนไหลเข้ามากขึ้น (ฟันด์โฟลว์)

สำหรับหุ้นที่น่าจะได้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย มองเป็นหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า, ค้าปลีก, บริการ, ท่องเที่ยว, จำนำทะเบียน และปิโตรเคมี โดยแนะนำหุ้นเด่น คือ IVL, MTC, BJC, CPALL, ICHI, GULF, GPSC, OSP, MINT

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ช่วงนี้เงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่า เมื่อเทียบกับเงินบาทแข็งค่า ผลจาก Timeline การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดชัดเจนขึ้น จนถึงการประชุมของธนาคารกลางหลายแห่ง ทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 18-19 มี.ค., สหรัฐ 19-20 มี.ค.นี้ ที่คาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น

ส่วนการประชุมกนง.ในเดือนมี.ค.นี้คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน แต่มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 12 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เฟดประชุม คาดทั้งกนง. และเฟดจะลดดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า เมื่อเทียบเงินบาทที่จะแข็งค่าขึ้น โดยมองกรอบเงินบาทปีนี้ไว้ที่ 34-34.50 บาท/เหรียญสหรัฐ

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นผลดีต่อกลุ่มโรงไฟฟ้า, ไฟแนนซ์, สื่อสาร และกอง REIT แนะนำหุ้น GULF, GPSC, THCOM, ADVANC, TIDLOR, 3BBIF, LHHOTEL

นายเบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดคาดการณ์ค่าเงินบาทจะแข็งค่า จากความชัดเจนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่ง ทั้งสหรัฐ, ยุโรป, ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) รวมถึงไทย

อย่างไรก็ตามไทยมีความกังวลเรื่องที่กนง.ประชุมเมื่อเดือนก.พ.แล้วเสียงแตกในการลงมติเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  ทำให้การประชุมในเดือนเม.ย.มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง  ซึ่งถ้าลดดอกเบี้ยจะส่งผลให้เงินไหลออก เงินบาทก็จะอ่อนค่าในช่วงสั้นก่อนที่จะกลับไปแข็งค่าอีกครั้ง ส่งผลให้หุ้นมีโอกาสที่จะเผชิญกับแรงขายทำกำไรได้

ส่วนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐจะเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย.หลังประชุมกนง.  หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ก็จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ขณะที่เงินบาทก็จะกลับมาแข็งค่าขึ้น จึงคาดการณ์ว่าหลังเดือนมิ.ย.เงินบาทมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้น โดยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 35 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลดีต่อหุ้นไทยอีกครั้ง ดังนั้นช่วงนี้มองตลาดคงจะเคลื่อนไหวในกรอบไม่เกินระดับ 1,400 จุดไปก่อน ยกเว้นจะมีปัจจัยบวกดี ๆ เข้ามา

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 สัปดาห์ที่ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐ เผชิญแรงเทขายอย่างต่อเนื่องหลังจากที่สุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสของประธานเฟดหนุนโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะเมื่อเฟดมั่นใจว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลงกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมาย นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯและบอนด์ยีลด์สหรัฐฯยังมีปัจจัยลบจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯอาทิ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.พ. เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาดด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ เงินบาทมีแรงหนุนเพิ่มเติมตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก

สัปดาห์นี้ (11-15 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.15-35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองผู้บริโภคดัชนีราคาผู้บริโภคดัชนีราคาผู้ผลิตตัวเลขยอดค้าปลีกข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค(เบื้องต้น) เดือนมี.ค.และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 (ครั้งสุดท้าย) ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. ของอังกฤษ ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. ของยูโรโซน และตัวเลขการปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนเดือนก.พ.ของจีนด้วยเช่นกัน