ธนาคารพาณิชย์แข่งขันดึงลูกค้าเงินกู้รายใหญ่ ในภาวะดอกเบี้ยพันธบัตรสูงขึ้นตามต่างประเทศ แบงก์ลดพิเศษให้ หนุนกำไรดีขึ้น ส่วนกรณี กนง.หากปรับดอกเบี้ยนโยบาย แบงก์ไม่จำเป็นขยับตาม สภาพคล่องในระบบสูงมาก ผู้ว่าธปท.ยันการดำเนินนโยบายการเงินต้องคิดรอบด้าน
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรได้ปรับขึ้นไปบ้างแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินตลาดทุนโลกที่ขยับขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์แข่งกันปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายใหญ่ ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้ารายใหญ่ค่อนข้างมาก ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีลูกค้ารายใหญ่บางส่วนกลับมากู้แบงก์มากขึ้น
ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ในอนาคตหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เชื่อว่าไม่มีแรงกดดันที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามในทันที โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เนื่องจากขณะนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องอยู่ในระดับค่อนข้างสูง และในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ธนาคารพาณิชย์สามารถทำกำไรได้ดีกว่าอยู่แล้ว
“ในช่วงที่สภาพคล่องยังสูงอยู่นี้ ความจำเป็นในการรีบปรับอัตราดอกเบี้ยหลักๆ หรืออัตราดอกเบี้ยพื้นฐานจึงไม่มีความจำเป็น ไม่มีแรงกดดันให้สถาบันการเงินต้องเร่งปรับดอกเบี้ย พวก MLR หรือ MOR เพราะมองอีกข้างหนึ่ง เขาก็ได้อานิสงส์จากการแข่งขันที่ลดลงสำหรับลูกค้ารายใหญ่ เมื่อก่อนอาจต้องไปแข่งกับตลาดพันธบัตรที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ส่วนอีกข้างคือสภาพคล่องในระบบการเงินไทยยังค่อนข้างสูง และเมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แบงก์ก็มีความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่า เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากใช้เวลานาน แต่การปล่อยกู้ จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นทันที” นายวิรไทกล่าว
นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงิน ไม่ควรจะเกิดผลกระทบหรือมีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง เนื่องจากสภาพคล่องในระบบการเงินไทยยังอยู่ในระดับสูง เพราะแม้อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินโลกได้ปรับขึ้นไปสูงค่อนข้างมาก และหลายประเทศเพื่อนบ้านได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปแล้วก็ตาม แต่อัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรของไทยไม่ได้ขึ้นไปเร็วมาก เนื่องจากไทยพึ่งพิงสภาพคล่องในประเทศเป็นหลัก และไม่มีปัญหาเสถียรภาพด้านต่างประเทศเหมือนกับประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ต้องประเมินสถานการณ์อยู่ตลอด มีการคาดการณ์ไปในอนาคต และชั่งน้ำหนักในปัจจัยที่สำคัญ 4 ด้าน คือ 1.พัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อ 2.ความเข้มแข็งในการขยายตัวของเศรษฐกิจ 3.เสถียรภาพของระบบการเงิน 4.ความสามารถในการทำนโยบายในอนาคต
“เราต้องมองไกล ถึงประเด็นความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดจุดเปราะบางกับเศรษฐกิจไทย ในการประชุม กนง.ครั้งล่าสุด แม้จะมีกรรมการที่เห็นควรให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 3 เสียง แต่อีก 4 เสียงเห็นควรให้คงดอกเบี้ยนั้น แต่ทุกคนยังเห็นตรงกันว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังจำเป็นสำหรับประเทศไทย แต่ระดับการผ่อนคลายที่มากเป็นพิเศษแบบที่เคยเป็นมา อาจจะลดความจำเป็นลง เราต้องประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะแม้เศรษฐกิจหลายตัวยังมีโมเมนตัมการขยายตัวได้ดี แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยเศรษฐกิจภายนอกประเทศ เช่น สงครามการค้า การส่งออก และการท่องเที่ยว” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
ขณะเดียวกัน การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นเวลานาน และต่ำมากเป็นพิเศษ อาจจะทำให้เกิดจุดเปราะบาง และส่งผลข้างเคียงต่อระบบการเงินไทยได้ ดังนั้นแนวทางการตัดสินนโยบายของ ธปท.ยังยึดหลัก Data Dependent คือต้องประเมินสถานการณ์ และบริบท รวมทั้งข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดในการตัดสินนโยบายแต่ละครั้ง