BKI-กรมสุขภาพจิตร่วมหยุดโรคซึมเศร้า ตะลึงปี’66พบหมอพุ่ง 3 แสนราย

HoonSmart.com>>กรุงเทพประกันภัยร่วมกับกรมสุขภาพจิต รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้คนไทยห่างไกลภาวะซึมเศร้า หลังพบผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกเพิ่มกว่า 3 แสนราย ดึงสังคมช่วยกันดูแล ป้องกันอย่างยั่งยืน

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัญหาทางสุขภาพจิตของคนไทยยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคนในปี 2564 และปี 2566 พบผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนราย หรือ 12.09% โดยเยาวชนอายุ 15 ปี มีการป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากถึง 1.5 ล้านคน มีเพียง 1 ใน 3 ที่เข้ารับการบำบัดดูแล

ทั้งนี้ โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหลักนำไปสู่การฆ่าตัวตาย และมีแนวโน้มจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 70% โดยสาเหตุหลักที่นำไปสู่การป่วยมาจาก ปัจจัยทางกาย เกิดจากพันธุกรรม เกิดจากอุบัติเหตุที่กระทบศรีษะ เกิดจากภาวะทางจิต ที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง กลไกทางจิต และจากสังคม เช่น ครอบครัว หรือสังคม ที่เข้ามากระตุ้น

“สิ่งที่รัฐดำเนินการคือให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่รวมถึงการเพิ่มบุคลากรที่มีความรู้ด้านสุขภาพจิต และพยายามเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจ ซึ่งเรื่องนี้สังคมต้องช่วยกันดูแล ทำการสื่อสาร ให้ความรู้ เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถหายขาด และกลับมาใช้ชีวิตปกติได้”นพ.พงศ์เกษม กล่าว

ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน์ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทกรุงเทพประกันภัย (BKI) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังไม่มีกรมธรรม์ประกันภัยที่คุ้มครองโรคซึมเศร้าโดยตรง เพราะทางการแพทย์ไม่สามารถบ่งชี้ได้ทางภาวะพยาธิวิทยา แต่บริษัทก็เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจากการศึกษาโรคดังกล่าวอย่างจริงจังในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯจึงตัดสินใจที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมในเรื่องดังกล่าว และได้รับการตอบรับอย่างดีจากกรมสุขภาพจิต

ทั้งนี้ จะเน้นการสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาชนเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าเกิดได้กับทุกคน ถือว่าเป็นอาการของโรคที่สามารถรักษาได้ จำเป็นต้องพบแพทย์ และหายขาดได้ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยทำผ่านภาพยนต์โฆษณาที่มี นักร้อง ป๊อบ-ปองกูล เป็นงานที่ทำเพื่อสังคม ไม่ใช่ ESG เพราะโครงการนี้บริษัทไม่ได้หวังผลประโยชน์ตอบแทนในทางธุรกิจ

“จากการที่เรียนจบมาทางด้านจิตวิทยาทั้งปริญญาโท และปริญญาเอก มีประสบการณ์ด้านดูแลงานบุคคล ทำให้เห็นพฤติกรรมความรู้สึกของสังคมที่มีความเปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ จากความเครียดสะสม เกิดความอ่อนแอทางร่างกาย และจิตใจจนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้า  จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมป้องกันและแก้ไขไม่ให้ขยายวงกว้าง”ดร.อภิสิทธิ์ กล่าว

ดร.อภิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายการดูแลพนักงานบริษัทได้ปรับแนวคิดจาก Work-life balance หรือการหาความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว เป็น Work-Life Harmony หรือ การทำให้เรื่องงานและชีวิตส่วนตัวสามารถผสมผสานเป็นเรื่องเดียวกันได้ ทำงานแล้วมีความสุข ไม่เครียด มีความหยืดหยุ่นทั้งเวลาที่มาทำงาน สามารถเลือกได้ และขณะทำงานก็สามารถ relax ได้ เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับพนักงาน