KTAM ตั้งเป้าปี 68 AUM แตะ 1 ล้านลบ. ลุ้นหุ้นไทย 1,450 จุด แนะ 4 กลยุทธ์ลงทุน

HoonSmart.com>> “บลจ.กรุงไทย” (KTAM) ตั้งเป้ามูลค่าสินทรัพย์ภายใต้บริหาร (AUM) ปี 68 เติบโตแตะ 1 ล้านล้านบาท จากปีก่อนพุ่ง 1.3 แสนล้านบาท กว่า 16% ปิดที่ 9.51 แสนล้านบาท มองเศรษฐกิจโลกและไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางความผันผวน พร้อมคาดการณ์หุ้นไทยมีโอกาสแตะ 1,450 จุด Down Side เริ่มจำกัด แนะ 4 กลยุทธ์ลงทุน โอกาสเติบโตระยะยาวจากโอกาสการลงทุนใหม่ ป้องกันความเสี่ยงพอร์ต

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผยว่า ในปี 2568 นี้ บลจ.กรุงไทย ตั้งเป้าการเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) เพิ่มขึ้นแตะ 1 ล้านล้านบาท จากปี 2567 มีมูลค่า AUM อยู่ที่ 9.51 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2566 โดยเติบโตจากธุรกิจกองทุนรวมเป็นหลัก ในขณะที่อุตสาหกรรมกองทุนเติบโตประมาณ 10% ส่งผลให้บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่อันดับ 3

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกในปี 2568 นี้ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ถึงแม้ยังเผชิญกับความเสี่ยงในหลายด้าน อาทิ นโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Tariff) ท่าทีของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ มุมมองของนักลงทุนจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคอสังหาฯ ของจีน ที่รัฐบาลได้ส่งสัญญาณว่าจะออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจ AI ในจีนก็ทำให้หุ้นเทคโนโลยีของจีนปรับตัวดีขึ้นในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องภาษีจากสหรัฐฯ ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ยังคงต้องติดตามว่าจะมีพัฒนาการไปในด้านใด

นอกจากนี้ เศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น โดยประเทศในยุโรปเริ่มคลายความกดดันจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูงก่อนหน้านี้ รวมถึงเศรษฐกิจไทยที่มองว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางตรงต่อภาคการส่งออกของไทย และส่งผลทางอ้อมที่อาจเข้ามากระทบภาคการท่องเที่ยวไทยหากเศรษฐกิจของประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวอ่อนแอลงจากสงครามการค้า

“บลจ.กรุงไทย มองว่าระดับปัจจุบันเป็นโอกาสในการลงทุนของนักลงทุนระยะยาวจากท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ทำให้นักลงทุนหันมาใช้กลยุทธ์การกระจายความเสี่ยง ลดการกระจุกตัว ประกอบกับความไม่แน่นอนในเชิงนโยบายของสหรัฐฯ จึงเห็นการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนจากสหรัฐฯ ที่เคยโดดเด่นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไปยังภูมิภาคอื่นๆ”นางชวินดา กล่าว

มองหุ้นไทย Downside จำกัด-มีลุ้น 1,450 จุด

สำหรับเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าอาจจะยังต่ำกว่าระดับศักยภาพเล็กน้อย โดยคาดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ 2.8% ในปี 2568 และ 3.0% ในปี 2569 อีกทั้งผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2567 ของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่บางแห่งก็ออกมาต่ำกว่าที่คาด และคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสปรับลดลงอีก 1 ครั้งในปีนี้

“การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทย น่าจะมีจังหวะในการให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในรอบถัดไปทำให้หุ้นหลายตัวมีราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างมาก จึงถือเป็นโอกาสในการลงทุนระยะยาวได้เป็นอย่างดี ซึ่งคาดว่าการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนฯ อาจจะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 20% หลังจากที่หดตัวไปที่ประมาณ -6% ในปี”

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปีนี้ มองเป้าหมายดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,450 จุด โดยมอง Downside เริ่มจำกัดแถว 1,100 จุด โดยมองตลาดหุ้นไทยหากรับรู้ปัจจัยบวกพร้อมกันทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย และนโยบายภาครัฐที่จะกระตุ้นการลงทุน รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น เช่น การให้สิทธิ์ทางภาษี การผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ของภาคอสังหาริมทรัพย์ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมถึวการเพิ่มอำนาจให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในตลาดหลักทรัพย์

“แรงขายจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์เหลืออยู่ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอขายลงในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาและหลังจากครม.อนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (THAI ESG EXTRA) หรือ Thai ESGX เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ก็เห็นแรงขาย LTF เริ่มลดลงต่อเนื่อง”นางชวินดา กล่าว

แนะ 4 กลยุทธ์ลงทุนฝ่าความผันผวน

สำหรับคำแนะนำลงทุนในช่วงต้นปี 2568 นี้ แนะนำกลยุทธ์ในการลงทุน 4 ด้าน ประกอบด้วย

(1) ลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Stay Invested) ในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้มักจะผันผวนไปในทิศทางเดียวกัน การถือเงินสดจึงเป็นทางเลือกในการลดความเสี่ยงของพอร์ต แต่เมื่อผ่านพ้นวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นไป สินทรัพย์หลักสองประเภทนี้จะผันผวนไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน ทำให้พอร์ตที่มีกระจายความเสี่ยงที่ดีจะช่วยลดความผันผวนได้อยู่แล้ว ความจำเป็นการถือเงินสดจึงลดลง

(2) มองหาการป้องกันความเสี่ยง (Seek Hedging) ตลาดการลงทุนอาจมีความผันผวนมากขึ้น ดังนั้น การป้องกันความเสี่ยงให้กับพอร์ตจึงมีความจำเป็น โดยการป้องกันความเสี่ยงสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ ทั้งการกระจายความเสี่ยง การลดการกระจุกตัวในการลงทุน การลงทุนบางส่วนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ หรือการถือสินทรัพย์ปลอดภัย

(3) นโยบายใหม่ โอกาสใหม่ (New Policies, New Opportunities) การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในหลายประเทศ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายเกิดขึ้น ซึ่งเปิดให้มีโอกาสลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้น ไมว่าจะเป็นการจัดสรรผลประโยชน์เศรษฐกิจโลกใหม่ การลดกฎระเบียบในการควบคุมดูแลธุรกิจซึ่งอาจจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐในกลุ่มประเทศที่รัดเข็มขัด

(4) มุ่งการเติบโตระยะยาว (Long-term Growth Oriented) กระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกในมิติต่างๆ ทำให้เกิดแรงผลักดันสำหรับการเติบโตระยะยาว โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) นอกจากนี้ มิติสุขภาพ ก็ยังมีความสำคัญในสังคมที่มีความสูงวัยขึ้นต่อเนื่อง

แนะกองทุนจัดพอร์ตลงทุน

สำหรับการลงทุนใน “ตลาดหุ้นต่างประเทศ” แนะนำ กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ อิควิตี้ ฟันด์ (KT-WEQ) (ความเสี่ยงระดับ 6) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน AB Low Volatility Equity Portfolio (กองทุนหลัก) โดยกองทุนหลักมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่มีความผันผวนต่ำ และมีความเสี่ยงในการปรับตัวลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตในระดับที่ต่ำ ซึ่งเน้นลงทุนในบริษัทที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว (DM) เป็นหลัก

“กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่” แนะนำ กองทุนเปิดเคแทม ไชน่า อิควิตี้ ฟันด์ (KT-CHINA) (ความเสี่ยงระดับ 6) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน BGF China Fund (กองทุนหลัก) โดยกองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีภูมิลำเนาหรือได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในจีน และ กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เฮลธ์แคร์ ฟันด์ (KT-Healthcare) (ความเสี่ยงระดับ 7) เน้นลงทุนใน Janus Henderson Global Life Sciences Fund (กองทุนหลัก) โดยกองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ทั้งนี้ จากความกังวลเศรษฐกิจถดถอยยังคงมีอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยังคงมีเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงเรื่อยๆ เราจึงคาดว่ากลุ่ม Health care จะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนดีขึ้นจากที่เป็นหุ้นกลุ่ม Defensive

สำหรับ “ตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ” ในปี 2567 ค่อนข้างผันผวนไปตามมุมมองทิศทางดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งได้มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงครึ่งหลังของปี แต่กลับมาคงดอกเบี้ยในช่วงต้นปี 2568 นี้ เพื่อรอความชัดเจนจากนโยบายด้านต่างๆ ของสหรัฐฯ และประเมินผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ เรายังคงมองว่าเฟดและธนาคารกลางอื่นๆ ยังมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยลงต่อในปีนี้ เราจึงมีมุมมองค่อนข้างเชิงบวกสำหรับตราสารหนี้ต่างประเทศ

ส่วน “ตลาดตราสารหนี้ไทย” ผลตอบแทนของพันธบัตรรุ่นต่างๆ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับลงได้อีกในปีนี้ จากการประเมินดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ณ สิ้นปี 2568 จึงอาจยังมีโอกาสที่ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยยังสามารถปรับตัวลดลงได้อีกเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม นักลงทุนได้รับรู้การลดดอกเบี้ยของ กนง. ในอนาคตไปค่อนข้างมากแล้ว เราจึงมีมุมมองเป็นกลางสำหรับตราสารหนี้ไทย จึงแนะนำ

ส่วน “กองทุนหุ้นไทย” แนะนำกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ พลัส (KTFIXPLUS) (ความเสี่ยงระดับ 4) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ โดยลงทุนในต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของ NAV ทั้งนี้ กองทุนมีนโยบายจัดการอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในพอร์ตโฟลิโอที่ยืดหยุ่นเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะตลาด และกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ระยะสั้นพลัส (KTSTPLUS) (ความเสี่ยงระดับ 4) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก และ/หรือตราสารทางการเงินซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สามารถลงทุนได้ โดยเฉลี่ยอายุตราสารไม่เกิน 1 ปี

“ในภาพรวมการลงทุนในปีนี้ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะชะลอลงจากปีก่อนหน้า และที่สำคัญคือมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ดังนั้น กลยุทธ์การจัดพอร์ตการลงทุนทั้ง 4 ด้าน อาจจะเป็นตัวช่วยในการลงทุนในปีนี้ได้เป็นอย่างดี”นางชวินดา กล่าว

อ่านข่าว

AIMC คาดเงิน LTF โอนเข้า Thai ESGX ไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นลบ. เงินลงทุนใหม่ 2 หมื่นล้าน