TFM ชูกลยุทธ์เด็ด หนุนกำไรขาขึ้น เตรียมขายอาหารปลาคาร์ฟ 1หมื่นบ./ก.ก.

HoonSmart.com>>บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) พร้อมเทิร์นอะราวด์ ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป หลังจากราคาวัตถุดิบดีขึ้น โดยมีกลยุทธ์เด็ด เพื่อสร้างการเติบโตไปพร้อมกับ stakeholder ทุกกลุ่ม ส่งผลให้การดำเนินงานเข้าเป้าที่วางไว่ในปีนี้และแผน 3 ปี (2567-2569)ในการเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นจากกว่า 8% เป็น 10 – 13% สร้างยอดขายเติบโตปีละ 10-15% ผลักดันให้รายได้ถึง 6,000 ล้านบาท

พีระศักดิ์ บุญมีโชติ

เป้าหมายและกลยุทธ์ของ TFM ไม่ได้คิดบนทฤษฎี แต่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลจริงของ “พีระศักดิ์ บุญมีโชติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM ) ที่มีประสบการณ์มานานกว่า 23 ปีในการสร้างธุรกิจแช่แข็งของกลุ่มบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ให้โด่งดังไปทั่วโลก และมีการเติบโตที่ดี

“พีระศักดิ์” เล่าให้ฟังว่า กลยุทธ์หนึ่งคือ การสร้างธุรกิจใหม่ทุกปี เน้นต้องมีกำไร เพิ่มสินค้าหลากหลาย ปีนี้จะเจาะตลาดอาหารปลาสวยงาม คาดจะมียอดขายประมาณ 600 ตัน จะเริ่มทำการตลาดของปลาคาร์ฟตัวแพงๆได้ในไตรมาส 2 นี้ เพราะมีความต้องการซื้อสูงมาก ปัจจุบันนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นในราคากิโลกรัมละ 13,000 บาท บริษัทคาดว่าจะขายได้ในราคา 10,000 บาท ปีนี้จะขายจำนวน 50 ตัน ส่วนกำไรอยู่ระหว่างการพิจารณาในเรื่องสูตรและต้นทุนการผลิต เชื่อว่าช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและอัตรากำไรโดยรวม เทียบกับราคาอาหารปลานิลที่ 40 บาท มีมาร์จิ้นต่ำ นอกจากนี้จะมีการออกอาหารเสริมใหม่อีก 4 ตัว

อีกหนึ่งกลยุทธ์คือ การยึดเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง มีการลงพื้นที่ทุกภาคในประเทศไทย เพื่อเจาะลึกถึงความต้องการของลูกค้าที่เลี้ยงปลาและกุ้ง ถึงได้รู้ว่าบางภาคต้องการปลาเนื้อสีเหลือง เพื่อดูน่ากิน  แต่ทั้งหมดนี้ จะต้องผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพดี ค่า FCR ให้ดี  น้ำหนักปลาต้องดี ให้คนเลี้ยงมีกำไรมากขึ้น เมื่อเทียบกับของที่อื่น เริ่มจากการขอให้ผู้ผลิตวัตถุดิบ รักษาคุณภาพ จะได้ค้าขายกันนาน ทำให้คู่ค้าเติบโตไปพร้อมกับเราได้

“ผมเดินทางลงพื้นที่ไปหาลูกค้าทั้ง 5 ภาค  ไปคุยกับตัวแทนของชุมชน ตัวแทนหมู่บ้าน สอบถามถึงความต้องการที่แท้จริง ซึ่งได้ไม่เหมือนกันเลย ทำให้เราผลิตอาหารปลาและกุ้งของแต่ละภาค  นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้เลี้ยง  เพื่อวางแผนในการลงทุนเปิดบ่อ ให้ทราบถึงแนวโน้มความต้องการของตลาด จะได้รู้ถึงขนาดของปลาและกุ้งก่อนจะเลี้ยง  เช่น กุ้งมีออเดอร์จากสหรัฐ ขนาด 30 ตัว/กิโลกรัม  หรือส่งร้านซูชิขนาด 60-70 ตัว จะต้องรู้เป้าหมายในการเลี้ยงว่าจะขายให้ใคร ทำให้ได้กำไรที่ดี ไม่ใช่เลี้ยงโดยไม่มีความรู้  ขณะเดียวกันบริษัทมีการวิจัยและพัฒนา (R&D) ฟาร์ม เพื่อผลิตอาหารที่ให้ผลผลิตสูงด้วย”

ในส่วนธุรกิจหลักอาหารปลาน้ำจืด เช่น ปลานิล ปลาทับทิม ปลาดุก ในปีนี้ตั้งเป้าผลิตเพิ่มขึ้น 5% ปัจจุบันมีผลผลิตทั้งประเทศ ราว 250,000 ตัน เพิ่มส่วนแบ่งตลาดจากประมาณ 6% เป็นมากกว่า 10% กลุ่มอาหารปลากะพงปัจจุบันครองอันดับ 1 ของประเทศ ปี 2566 มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 34%เพื่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 27%  กลุ่มอาหารกุ้งก็เพิ่มขึ้นเป็น 19% หรือประมาณ 186 ล้านบาท จากระดับ 17%  ธุรกิจรับจ้างผลิตหรือ OEM  เติบโตดีเช่นเดียวกัน

สำหรับตลาดต่างประเทศ บริษัทมีการลงทุนตั้งบริษัทไทยยูเนี่ยน คาริสมา เลสทารี  (TUKL) ในอินโดนีเซียและบริษัทในปากีสถาน ขณะที่มีการส่งออกไปขายหลายประเทศ เช่น ที่อินเดีย  หลังจากเข้าไปบริหารจัดการ เห็นถึงความต้องการมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะที่อินโดนีเซียยอดขายเติบโตขึ้น 100% จากเดือนละ 500 ตัน เป็น 800 ตัน ล่าสุดเดือนม.ค. 2567 อยู่ที่ประมาณ 1,100 ตันต่อเดือน ปีนี้คาดยอดขายเฉลี่ย 1,300 – 1,500 ตัน หรือทั้งปีประมาณ 18,000 ตัน

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญ บริษัทมีการบริหารจัดการต้นทุนต่าง ๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น เช่น การรับออเดอร์ล่วงหน้า 1 สัปดาห์ เพื่อกำหนดการเปิดไลน์การผลิตสินค้าแต่ละตัว ไม่จำเป็นต้องเปิดไลน์การผลิตทั้งหมด 5 ไลน์ และจะขยายกำลังการผลิตได้ด้วย ในปัจจุบันใช้เพีนง 60% ตั้งเป้าจะเป็น 75% รวมถึงการบริหารสินค้าคงคลังอายุไม่เกิน 7 วัน และการเก็บหนี้ มิเช่นนั้นเงินจม ปัจจุบันมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำเพียง 0.63 เท่าเท่านั้น

ขณะเดียวกันบริษัท TFM  อยู่ในกลุ่มไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ช่วยเพิ่มจุดเด่นแตกต่างจากผู้ผลิตที่อื่น วัตถุดิบที่ใช้ 4 ประเภท ได้แก่ ปลาป่น กากถั่วเหลือง แป้งสาลี และน้ำมัน บริษัทฯได้น้ำมันปลาทูน่ามาจากการผลิตของ TU  ทำให้อาหารสัตว์มีคุณภาพสูงและยังหอมอีกด้วย สร้างเนื้อให้น้ำหนักดี รวมถึงโอกาสในการขยายสัตว์เลี้ยงเพิ่มในส่วนอาหารแห้งให้กับ บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น  (ITC) หนึ่งในผู้นำผลิตอาหารแมวและสุนัขแบบเปียก

นอกจากนี้ บริษัทมีข่าวดีจากราคาวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ลดลง บางตัวดีขึ้นมาตั้งแต่เดือนธ.ค.ที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปีนี้ เชื่อว่าสถานการณ์ได้ผ่านจุดสูงสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 10% ในปีที่ผ่านมา จะทำให้ผลการดำเนินงานของดีขึ้น  หลังจากผ่านเป็นปี 2566 ที่ท้าทายและยากกว่าปีโควิด ยังคงมีกำไรสุทธิ  87 ล้านบาท แม้ลดลงจากปี 2565 ที่ระดับ 109 ล้านบาทก็ตาม  หากรวมการตัดจำหน่ายฟาร์มจำนวน 20 ล้านบาท ทำให้มีกำไรรวม 107 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2565

ด้านบล.พายแนะนำซื้อหุ้น TFM  ประเมินมูลค่าเหมาะสมที่ 7.9 บาท คาดว่าผลประกอบการปีนี้จะขยายตัวอย่างมาก จะมีกำไรสุทธิ 248 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 183% เพราะไม่ขาดทุนเหมือนไตรมาส 1/ 2566 ที่ 28 ล้านบาท ส่วนรายได้คาดอยู่ที่ 5,576 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% บริษัทจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.13 บาท ขึ้น XD เดือนมี.ค. จ่ายเงินวันที่ 23 เม.ย.2567