BAY คาดเงินบาทสัปดาห์นี้กรอบ 35.65-36.30 บาท หวังเฟดสมเหตุสมผลมากขึ้น

HoonSmart.com>> “ธนาคารกรุงศรี” คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 35.65-36.30 บาท/ดอลลาร์ ตลาดให้ความสนใจดัชนี PCE เดือนม.ค.ของสหรัฐฯ เพื่อประเมินทิศทางนโยบายเฟด

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.65-36.30 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.10 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.74-36.19 โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับยูโรแต่แข็งค่าเทียบเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) รวมถึงเนื้อหาจากรายงานการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 30-31 ม.ค.ค่อนข้างสอดคล้องกับความคาดหมายของนักลงทุน โดยรายงานบ่งชี้ว่าผู้กำหนดนโยบายหลายรายกังวลเรื่องความเสี่ยงที่เฟดอาจจะปรับลดดอกเบี้ยลงเร็วเกินไปและต้องการจะเห็นหลักฐานเพิ่มเติมที่ทำให้เชื่อมั่นว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงชะลอตัวลงต่อไป อนึ่ง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯแกว่งตัวออกด้านข้างขณะตลาดรอปัจจัยชี้นำใหม่

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับตัวเลขดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนม.ค.ของสหรัฐฯเพื่อประเมินทิศทางนโยบายเฟดต่อไป โดยเงินดอลลาร์เริ่มสูญเสียแรงส่งด้านขาขึ้นหลังจากฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ต้นปีนี้ ขณะที่ผู้ร่วมตลาดทบทวนความคาดหวังเกี่ยวกับนโยบายการเงินสหรัฐฯรวมถึงจังหวะเวลาที่คาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือนมิ.ย.ซึ่งสอดรับกับแผนของเฟดมากขึ้น

นอกจากนี้ เริ่มมีสัญญาณที่นักลงทุนกังวลน้อยลงเกี่ยวกับเศรษฐกิจนอกสหรัฐฯ หลังผลสำรวจ PMI ของยุโรปสะท้อนว่ากิจกรรมในภาคบริการกำลังดีขึ้น อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของจีนกำลังช่วยหนุนความเชื่อมั่นเช่นกัน

สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยการส่งออกเดือนม.ค.ของไทยขยายตัว 10% จากช่วงเดียวของกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 19 เดือน โดยได้ปัจจัยบวกจากการค้าโลกที่กระเตื้องขึ้นและฐานเปรียบเทียบต่ำในปีก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.6% ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 2.76 พันล้านดอลลาร์

ทางด้านสภาพัฒน์รายงานจีดีพีไตรมาส 4/66 เติบโต 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัว 0.6% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจปี 66 เติบโตเพียง 1.9% และคาดว่าปี 67 จะขยายตัว 2.2-3.2% แรงส่งที่แผ่วลงทำให้เรามองว่ามีโอกาสมากขึ้นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปีนี้