“GGC”วาง EBITDA ปีนี้ 812 ล. ขยาย3ธุรกิจรับเมกะเทรนด์

HoonSmart.com>> โกลบอลกรีนเคมิคอล ตั้งเป้า EBITDA ปี’67 ที่ 812 ล้านบาท ดันแตะ 3,000 ล้านบาทในปี’69 เงินพร้อมลงทุน 5,000 ล้านบาท ขยาย 3 ธุรกิจสู่สินค้ามูลค่าสูงรับเมกะเทรนด์ เปิดแบรนด์ Nutralist ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลุยปรับทุกกระบวนการผลิตเป็นกรีนที่สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ได้

นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัทโกลบอลกรีนเคมีคอล(GGC) เปิดเผยว่า ปี 2567 เป็นปีที่จะเดินหน้าแผนการสร้างธุรกิจสู่ความเข้มแข็ง เติบโต และยั่งยืน โดยบริษัทตั้งเป้า EBITDA เบื้องต้นไว้ไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 812 ล้านบาท โดย ตัวแปร จะอยู่ที่ราคาของเคมีภัณฑ์ในตลาด รวมถึงผลประกอบการของบริษัทร่วมทุน ซึ่งจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับ สัดส่วนรายได้ ในปีนี้หลักๆ ยังเป็นธุรกิจเดิม แยกเป็น เมทิลเอสเทอร์ 65% แฟตตี้ แอลกอฮอล์ 30% รีไฟล์กลีเซอรีน 4% และธุรกิจใหม่ คือ Food and pharma 1%

 

” ยอดขายจากกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทในปีนี้คาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ราว 450,000 ตัน โดยจะมาจากเมทิลเอสเทอร์ หรือ Bio 100 ราว 3 แสนตัน ซึ่งจะเติบโตตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าซัพพลายจะมากกว่าความต้องการบริโภคอยู่ 50% การแข่งขันสูง ซึ่งเราได้แก้ปัญหาด้วยการล็อคสัญญาซื้อขายเป็นเวลา 1 ปีไว้ ทำให้รู้ว่าปีนี้จะขายได้เท่าไหร่ และวางแผนการผลิตได้ตรง ส่วนแฟตตี้แอลกอฮอล์ คาดขายได้ราว 100,000 ตัน เพราะมีตลาดใหม่เช่น อินเดีย และอาจสามารถปรับราคาขึ้นได้ในช่วงไฮซีซั่น ด้าน กลีเซอรีนบริสุทธิ์คาดมียอดขายราว 40,000 ตัน “นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวว่า ปี 2567 มีเงินสดในมือพร้อมลงทุน 5,000 ล้านบาท มาจากสภาพคล่องของบริษัท 3,000 ล้านบาท และเงินกู้ด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan) จากธนาคารกรุงไทย 2,000 ล้านบาท แต่การลงทุนอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับโอกาส โดยไม่รวมการลงทุนในบริษัท ไทยอีทอกซีเลท (TEX)1,500 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปต่อยอดธุรกิจเดิมและขยายธุรกิจใหม่

ในส่วนของธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้ร่วมกับ บริษัท ปตท. (PTT) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC) ศึกษาความเป็นไปได้และการปรับแผนธุรกิจเพื่อรองรับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพใช้ในเครื่องบิน (SAF) เพื่อลดคาร์บอน จากน้ำมันพืชใช้แล้ว 20,000 ตันต่อเดือน จากในตลาดที่มีอยู่ทั้งหมด 80,000 ตันต่อเดือน เฟสแรก จะทำ SAF ออกมาได้ราว 400 ตันต่อเดือนเพื่อทดลองทำตลาด และจะเริ่มทำตลาดได้ในปี 2568 โดยจะเริ่มทำตลาดภายในประเทศก่อน และในปีที่มีการบังคับให้อากาศยานทั้งหมดใช้ SAF ในปี 2570 จึงจะทำการขยายกำลังการผลิตเฟส 2 ในปี 2569 ซึ่งถึงวันนั้นความต้องการใช้น้ำมัน SAF ในไทย จะอยู่ประมาณ 15 ล้านลิตรต่อวัน

รวมถึง ทำการโครงการต่อยอดผลิตภัณฑ์เอทานอลเพื่อนำมาใช้ผลิตน้ำมันอากาศยานชีวภาพ โดยจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2573 ขณะที่โครงการ Green Methanol ปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อขยายไปตลาดน้ำมันชีวภาพที่ใช้ในเรือเดินสมุทร และเดินหน้าเป้าหมาย decarbonization

ขณะที่ ตลาดน้ำมันชีวภาพที่ผลิตจากเมทานอล เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในเรือเดินสมุทร อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน พบว่ามีโอกาสเติบโตสูงมาก ซึ่งจากการศึกษาพบว่าในปี 2570 เรือเหล่านี้จะต้องใช้กรีนเมทานอล 10 ล้านตันต่อปี และในปี 2573 จะต้องใช้มากถึง 70 ล้านตันต่อปี ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาเทคโนโลยีที่จะสามารถนำมาผลิตน้ำมันที่ใช้ในเรือเดินสมุทร เพื่อที่จะขยายตลาดใหม่ๆ ในกลุ่มนี้

นอกจากนี้ ยังมองเห็นโอกาสจากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้เปลี่ยนยานยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลไปเป็นใช้ไฟฟ้าหรือรถ EV เพื่อลดคาร์บอน ซึ่งบริษัทฯมองไปที่รถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่มีอยู่ 1 ล้านคันทั่วประเทศ ไม่สามารถที่เปลี่ยนเป็นรถ EV ได้ทันที จะต้องให้เวลาในการปรับตัวอย่างน้อย 5 ปี เพราะไม่มีทุนในการเปลี่ยนผ่านทันที จึงมองว่าการใช้ ไบโอดีเซล ที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม เป็นทางเลือกในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่สามารถลดคาร์บอนได้

ยกตัวอย่างที่อินโดนีเซีย มีการใช้ไบโอดีเซล สามารถลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ถึง 75% ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกรองจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นการนำจุดแข็งของประเทศเกษตรกรรมมาใช้ประโยชน์ และสามารถช่วยเกษตรกรชาวสวนปาล์มได้ด้วย

“ปัจจุบันกำลังการผลิตไบโอดีเซลในไทย เกินความต้องการบริโภคมากกว่า 50% เพราะคิดว่ารัฐบาลจะไปตามแผนการผลิตไบโอดีเซลจาก B7 ไปเป็น B10 ไปเป็น B20 และไป B40 แต่พอไม่เป็นไปตามแผนก็ล้น ซึ่งปีนี้เราจะนำร่อง โดยไปคุยกับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่มีรถบรรทุก รวมถึงภาครัฐ ให้ทดลองใช้ไบโอดีเซล เพื่อลดผลกระทบจาก Decarbonization”นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวว่า สำหรับธุรกิจเคมีชีวภาพ กลุ่มธุรกิจแฟตตี้แอลกฮอล์ และกลุ่ม Oleochemical Specialty and Derivatives อยู่ระหว่างการขยายธุรกิจ เพื่อให้ได้ ผลผลิต Oleochemicals ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์สีเขียวผ่านพันธมิตร โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาผลิตภัณฑ์กลุ่ม Biosovent รวมถึงขยายกำลังการผลิตของบริษัท ไทย อีทอกซีเลท(TEX) ที่ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์เพิ่มอีก 50,000 ตัน

รวมถึงผลิตไบโอโซลเว้นท์ (Biosolvent) ที่บริษัทได้เพาะบ่มประสบการณ์สร้างนวัตกรรมในปีที่ผ่านมา เพื่อมาขยายผลในปีนี้ แต่ก็ยอมรับว่าเป็นสินค้าใหม่ เป็นเรื่องใหม่ จึงเป็นงานหนักในการให้สร้างความรับรู้ต่อตลาดว่าบริษัทมีไบโอโซเว่น ให้นำไปใช้ทดลองฟรี เอาไปผสมลงในน้ำมันดีเซล ก็เปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดได้

นอกจากนี้ จะมีการนำแฟตตี้แอลกฮอล์บางส่วนไปทำเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่ม Food ingredients and Pharmaceutical ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ เพื่อต่อยอดเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่ม (Value added) ในกลุ่มเครื่องสำอาง คาดว่าจะสามารถแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567 ซึ่งเป็นสินค้าใหม่ที่จะตามออกมา จากปัจจุบันที่มีการเปิดติวสินค้าใหม่ภายใต้ชื่อ Nutralist ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ช่วยด้านการย่อย และช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิว

สำหรับ ธุรกิจกลุ่ม Food ingredients and Pharmaceutical ตั้งเป้าที่จะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 10% ในปี 2569 จากปี 2566 ที่มีอยู่ 1% ของรายได้รวม 17,719 ล้านบาท

ปีนี้เป็นปีที่จะเริ่มลงมือทำเพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินธุรกิจภายใต้ความยั่งยืนตามแนวทาง ESG โดยตั้งเป้าเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยทุกโครงการจะปรับไปสู่การผลิตที่มุ่งลดคาร์บอน หรือ green process ทั้งหมด ภายใต้แนวคิดที่มีความหยืดหยุ่น  โดยมีโครงการปรับเปลี่ยนพลังงานจากน้ำมันเตาเป็น Biogas ที่จะเริ่มผลิตในปี 2567 จะไม่ได้เปลี่ยนทีเดียว 100% จะใช้ Biogas 80% และน้ำมันเตา 20% เพื่อให้เกิดความหยืดหยุ่นทางธุรกิจ จากโครงการ Biogas จะทำให้บริษัทสามารถลดคาร์บอนฯได้ 6,000 ตัน สามารถประหยัดต้นทุนจากการดำเนินงานได้ 8.5 ล้านบาทต่อปี และใช้ทรัพยากรน้ำลดลงได้ 7,500 คิว

“ในการกระบวนการลดคาร์บอน ต้องสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาได้ด้วย เพื่อส่งผ่านความยั่งยืนไปยังชุมชน เกษตรกร รวมถึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิด Value Chain เราเริ่มทำแล้วจากการที่มีการผลิตกรีเซอร์ลีนบริสุทธิ์ ก็นำไปผลิตสบู่ ทำเจล ซึ่งทำให้เกษตรกรที่ปลูกปาล์ม 1,000 รายครอบคลุมพื้นที่ 32,000 ไร่ ได้ประโยชน์ด้วย”นายกฤษฎา กล่าว