SCB ปันผลดีเกินคาดครึ่งปีหลัง 7.5% TTB แจกงวดสอง 0.055 บาท/หุ้น 

HoonSmart.com>>แบงก์แข่งจ่ายเงินปันผลสูงลิ่ว “เอสซีบี เอกซ์”(SCB) แจกอีก  7.84 บาท ขึ้น XD 17 เม.ย.นี้ ผลตอบแทนมากถึง 7.54% ขนกำไร 80% แจกทั้งปี 10.34 บาท รวมเป็นเงิน 34,816 ล้านบาท   ด้าน”ทีเอ็มบีธนชาต”(TTB)  รอจ่ายอีก 0.055 บาท รวมทั้งปีแจก  0.105 บาท เพิ่มขึ้น 44% จากปีก่อน เท่ากับ 55% ของกำไรสุทธิสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของวงการ ด้านราคาหุ้นแบงก์แกร่ง ไม่สนเสียงเรียกร้องนายกฯสั่งให้กนง.เรียกประชุมด่วน ลดดอกเบี้ย 

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCB) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 20 ก.พ.67 มีมติจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญอีกหุ้นละ  7.84 บาท กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) วันที่ 18 เม.ย. 2567 วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล(XD) 17 เม.ย. 2567 วันที่จ่ายปันผล 3 พ.ค. 2567

” คณะกรรมการอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ  10.34 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 34,816 ล้านบาท  โดยจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแล้วหุ้นละ 2.50 บาท ซึ่งการจ่ายเงินปันผลทั้งหมด 10.34 บาท  คิดเป็นสัดส่วน  80% ของกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 ตามงบการเงินรวม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท”

ทั้งนี้เงินปันผลหุ้นละ 7.84 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนสูงถึง 7.54%  เทียบกับราคาปิดที่ 104 บาท ของวันที่ 20 ก.พ.2567

ด้านธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB )  แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารมีมติให้ขออนุมัติการจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 2 จากผลการดำเนินงานปี 2566 จากที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9 เม.ย. 2567  ในอัตรา 0.055 บาทต่อหุ้น กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD  วันที่ 17 เม.ย. 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 8 พ.ค. 2567

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมายและความแข็งแกร่งทางการเงินที่เพิ่มขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการทำกำไร ความสามารถในการรองรับความเสี่ยง สถานะสภาพคล่อง และฐานเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ทีทีบีสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรและผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รวมกิจการ

“มูลค่าขององค์กรและผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้น  สะท้อนให้เห็นได้จากหลากหลายแง่มุม ทั้งมูลค่าหุ้น TTB และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น หรือ ROE ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือการยกระดับนโยบายการจ่ายเงินปันผล ซึ่งในปี 2565 ทีทีบีได้ปรับนโยบายการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ครั้ง เป็น 2 ครั้งต่อปี และสามารถปรับอัตราการจ่ายเงินปันผล หรือ Dividend Payout Ratio จากระดับ 30% – 35% ในช่วงก่อนรวมกิจการ ขึ้นมาอยู่ที่ 50% ในปี 2565 และ 55% ในปี 2566 ซึ่งถือว่าสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมธนาคาร”นายปิติกล่าว

สำหรับรอบผลการดำเนินงานปี 2566 ทีทีบีได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตรา 0.050 บาทต่อหุ้น และเตรียมขออนุมัติการจ่ายครั้งที่ 2 อีก 0.055 บาท รวมเป็นอัตราเงินปันผลในปี 2566 ที่ 0.105 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% จากการจ่ายเงินปันผลในปี 2565 หรือเทียบเท่ากับอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล  ประมาณ 5.7% – 5.8% ต่อปี ณ ระดับราคาหุ้น TTB ในปัจจุบันที่ประมาณ 1.80 – 1.85 บาทต่อหุ้น

นายปิติ กล่าวว่า พัฒนาการทั้งด้านผลการดำเนินงานและการจ่ายเงินปันผล เป็นเครื่องสะท้อนถึงความตั้งใจของทีทีบีในการส่งมอบผลตอบแทนกลับคืนสู่ผู้ถือหุ้น โดยจะยังคงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบต่อไป เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับบริหารจัดการส่วนทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารมีความพร้อมสำหรับการขยายตัวทางธุรกิจ และในขณะเดียวกันก็สามารถรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลให้อยู่ในระดับสูงได้ในระยะยาว พร้อมเดินหน้าไปสู่การเป็นธนาคารที่ Make REAL Change เพื่อให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง”

ขณะที่หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ วันที่ 20  ก.พ. 2567 ปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งกว่าตลาดที่ติดลบ 6 จุด โดย BBL  ปิดที่ 142 บาท บวก 1.50 บาทหรือ +1.07%  KTB  ปิดที่ 16 บาท บวก 0.20 บาทหรือ 1.27% KBANK  ปิดที่ 121.50 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาทหรือ+1.67 บาท และ TTB ราคาปิดที่ 1.88 บาทไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ท่ามกลางแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ลดดอกเบี้ย โดยสภาพัฒน์ฯ และนายกรัฐมนตรี

ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน X (ทวิตเตอร์) เมื่อคืนวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา เรียกร้องคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เรียกประชุมเร่งด่วน เพื่อพิจารณาการลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยไม่ต้องรอถึงประชุมตามกำหนด (10 เม.ย.) หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ บ่งบอกถึงสถานะของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะ Critical stage ซึ่งเลขาธิการสภาพัฒน์เอง ก็เห็นด้วยกับการที่ควรต้องปรับลดดอกเบี้ย

“อยากขอวิงวอนให้ กนง.เรียกประชุมคณะกรรมการฯ เป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาการลดดอกเบี้ย” นายกรัฐมนตรี ระบุ