TPCH ปี 66 กำไรพุ่ง 61% ปันผล 0.40 บาท จ่อเซ็น PPA 2 โรงไฟฟ้าขยะ 20 MW

HoonSmart.com>> “ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง” (TPCH) โชว์กำไรปี 66 ที่ 288 ล้านบาท โต 60.6% รับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล-เชื้อเพลิงขยะ 8 แห่ง กำลังการผลิตรวม 90 เมกะวัตต์ บอร์ดอนุมัติจ่ายปันผล 0.40 บาท กางแผนปี 67 รุกโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในประเทศ เตรียมเซ็น PPA 2 โครงการ รวม 20 เมกะวัตต์ ในไตรมาส 1/67 พร้อมเดินหน้าลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์-พลังงานลมในสปป.ลาว-กัมพูชาเพิ่ม หนุนรายได้ปี 67 โต 10%

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2566 มีกำไรสุทธิ 288.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60.60% เทียบกับของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 179.34 ล้านบาท และมีรายได้รวม 2,893.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.90% เทียบกับของปีก่อน มีรายได้รวม 2,758.27 ล้านบาท

ปัจจัยที่สนับสนุนให้มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ครบ 8 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ SP1 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 90 เมกะวัตต์

“ในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังสามารถทำผลงานออกมาได้ดีเป็นไปตามแผน เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลทั้ง 7 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP1) สามารถเดินเครื่องได้ตามปกติ รวมทั้ง รับรู้รายได้จากการจำหน่ายหุ้นทั้งจำนวนของกลุ่มโรงไฟฟ้า TPCH1 TPCH2 TPCH5 และ ECO” นางกนกทิพย์ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 ได้มีการอนุมัติให้จ่ายปันผลงวดประจำปี 2566 ให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเงินสด 0.40 บาท/หุ้น ซึ่งวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date)ในวันที่ 2 พ.ค. 2567 และกำหนดจ่ายปันผลวันที่ 20 พ.ค.2567 ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันที่ 24 เม.ย.2567

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปีก่อน โดยมุ่งเน้นพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ 2 (SP2) ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ 3 (SP3) ขององค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง ตั้งอยู่ที่ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายในไตรมาส 1/2567

ขณะเดียวกัน ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะเพิ่มอีก ประมาณ 4 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer) เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ

สำหรับการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จํากัด (MKP) ในสัดส่วน 40% ที่ประกอบธุรกิจผลิต และจําหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว และ MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะเวลา 25 ปีนับจากวันที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD)และกำลังอยู่ในขั้นตอนปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้าง คาดว่า จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1/2567- 2/2567 รวมทั้ง มีแผนที่จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในประเทศเวียดนามอีกหนึ่งโครงการ

ส่วนการลงทุนในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต ทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตรวมทั้ง 2 ประเภท ประมาณ 200-300 เมกะวัตต์

TPCH ยังคงเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวมจากโรงไฟฟ้าในประเทศ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานชีวมวล 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะ 70 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ 350 เมกะวัตต์ เพื่อให้มีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จดทะเบียนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของบริษัททุกโครงการสำหรับคาร์บอนเครดิต โดยคำนวณจำนวนสินเชื่อที่ได้รับต่อปีและได้ลงนามในสัญญาขายสินเชื่อ เพื่อหารายได้เพิ่มเติมให้กับบริษัทฯแล้ว สำหรับโครงการที่กำลังพัฒนานั้น มีการศึกษาการลงทะเบียนคาร์บอนเครดิตในมาตรฐานต่างๆ มาตั้งแต่เริ่มศึกษาโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPCH กล่าวอีกว่า มั่นใจว่าคาร์บอนเครดิตจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทฯได้ในอนาคตเนื่องจากเป็นทิศทางของธุรกิจระดับโลกที่เริ่มให้ความสำคัญ และต้องการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ในส่วนของโครงการต่างประเทศก็จะมีการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตในรูปแบบมาตรฐานสากล เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่สนใจอยากร่วมลงทุนโครงการในอนาคต