กฟผ.แจง 5 เหตุผล โต้ยืน 1 เรื่องกำไร

HoonSmart.com >> กฟผ. แจง 5 เหตุผลโต้ ยืน 1 เรื่องกำไร ผลงาน 10 ปีย้อนหลัง กำไรทะลุ 4 หมื่นล้านบาท 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) ชี้แจง 5 ประเด็น   เกี่ยวกับ ผลประกอบการ 10 ปีย้อนหลัง กำไรทะลุ 4 หมื่นล้าน  ดังนี้

ประเด็นที่ 1 : กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด รับซื้อไฟเพียงรายเดียวในประเทศไทย

กฟผ. ขอเรียนว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเป็นไปตามนโยบายภาครัฐ เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ลดหนี้สาธารณะ และเพิ่มการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ซึ่งภาครัฐเป็นผู้คัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้า ที่มีราคาต่ำสุดในช่วงเวลานั้น ๆ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตามลำดับ ส่วน กฟผ. เป็นเพียงผู้รับซื้อไฟฟ้าตามราคาที่รัฐกำหนดและดำเนินการตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าฯ เท่านั้น

ประเด็นที่ 2 : กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้ และกำไรสูงสุดอันดับ 1 เมื่อเทียบกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจไฟฟ้า

กฟผ. ขอเรียนว่า ถึงแม้ กฟผ. จะมีรายได้สูงเมื่อเทียบกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจไฟฟ้า แต่ กฟผ. มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเสมือนเครื่องมือของรัฐ ที่มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินรายได้เข้ารัฐ โดยที่ผ่านมา กฟผ. นำส่งรายได้เข้ารัฐมากกว่าร้อยละ 50 ของกำไร

สำหรับกำไรส่วนที่เหลือนำไปลงทุนในระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงทางพลังงานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม

ประเด็นที่ 3 : โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ไม่ต้องแข่งขันเรื่องต้นทุนเหมือนโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) และขายไฟเข้าระบบส่งได้ทันที โดยไม่สามารถรู้ต้นทุนว่าไฟฟ้าที่ กฟผ. ผลิตถูกหรือแพง

กฟผ. ขอเรียนว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มค่าในการลงทุน โดยเฉพาะด้านต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ให้มีความเหมาะสมไม่แพงกว่าเอกชนเพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน ดังนั้น โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ต้องแข่งขันเรื่องต้นทุนเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่

ประเด็นที่ 4 : กฟผ. เป็นเจ้าของสายส่งไฟฟ้าแรงสูงแต่เพียงรายเดียว คุมช่องทางการจำหน่ายทั้งหมด โดยคิดค่าบริการสายส่งในบิลค่าไฟฟ้า จึงไม่มีตัวเปรียบเทียบด้านราคาค่าสายส่งว่าถูกหรือแพง

กฟผ. ขอเรียนว่า ราคาค่าไฟฟ้าถูกกำกับโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลค่าไฟฟ้า โดย กกพ. จะกำหนดและกำกับหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม และพิจารณาทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับค่าไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมเป็นธรรม ให้แก่ทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้า

ประเด็นที่ 5 : กฟผ. ดูแลศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า (SO : System Operator) และเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าด้วย จึงเป็นไปได้ที่จะสั่งจ่ายโรงไฟฟ้าของรัฐก่อน แม้ว่าจะมีต้นทุนแพงกว่าโรงไฟฟ้าอื่น ๆ อาทิ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่ใช้ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงมีต้นทุนที่สูงกว่า ย่อมทำให้ค่าไฟแพงกว่า

กฟผ. ขอเรียนว่า แม้ กฟผ. จะดูแลศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า ควบคุมการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งหมด แต่เงื่อนไขการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าต่าง ๆ กฟผ. ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อให้เกิดการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอย่างเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งมี กกพ. เป็นผู้กำกับดูแล โดยยึดหลักเกณฑ์การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามลำดับคือ

เริ่มจากการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทจำเป็นต้องเดินเครื่องเพื่อรักษาความมั่นคง หรือที่เรียกว่า Must Run เป็นลำดับแรก เพราะหากไม่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทนี้แล้ว ระบบไฟฟ้าจะเกิดความมั่นคงลดลงอาจทำให้ไฟฟ้าดับได้ เช่น โรงไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีการซ่อมบำรุงสายส่งไฟฟ้า

ลำดับถัดมาคือ สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทจำเป็นต้องรับซื้อขั้นต่ำตามสัญญา หรือที่เรียกว่า Must Take ทั้งด้านไฟฟ้าและสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ โรงไฟฟ้า SPP เพราะหากไม่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าเหล่านี้อาจนำไปสู่การจ่ายเงินค่าซื้อไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำโดยไม่ได้รับพลังงานไฟฟ้า จากนั้นจึงสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดตามลำดับ หรือที่เรียกว่า Merit Order ได้แก่ โรงไฟฟ้า กฟผ. และโรงไฟฟ้า IPP เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถเลือกเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้