สภาพัฒน์ หั่นเป้า GDP ปี 67 เหลือโต 2.2-3.2% หลังปี 66 โตแค่ 1.9%

HoonSmart.com>>สภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 67 เหลือโต 2.2-3.2% หลังปี 66 ขยายตัวเพียง 1.9% ชะลอตัวลงปีก่อนโต 2.5%  จากการส่งออก การใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐโตต่ำ  แนะต้องใช้มาตรการการเงินช่วยขับเคลื่อน  เฉพาะไตรมาส 4/66 โต 1.7% ปริมาณส่งออกกลับมาขยายตัว  3.2%  ราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 1.4%  

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือโต 2.2-3.2% (ค่ากลางที่ 2.7%) จากเดิมคาดโตราว 2.7-3.7% หลังภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2566 ขยายตัวได้ 1.9% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565

ส่วนไตรมาส 4 ขยายตัว 1.7% เร่งขึ้นจาก 1.4% ในไตรมาส 3 มีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการเร่งขึ้น การอุปโภคบริโภคของครัวเรือนยังขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลลดลงเป็นผลจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการในระบบตลาด และการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลดลง ประกอบกับการลงทุนรวมลดลง

“การลงทุนรวมลดลง  0.4% เทียบกับการขยายตัว 1.5% ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนภาครัฐที่ลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ประมาณ 20.1% ต่อเนื่องจากการลดลง  3.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการลดลงของการลงทุนรัฐบาล  33.5% เนื่องจากความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัว  7.0% สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ 7.2% (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 20.9% และ 20.1% ในไตรมาสก่อนหน้าและในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ) ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 5.0% เร่งขึ้นจาก 3.5% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ5 ไตรมาส โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือขยายตัว  5.2% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.5%” สภาพัฒน์ระบุ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังคือมาตรการด้านการเงิน น่าจะต้องเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะการลดภาระภาคครัวเรือน และภาคธุรกิ ส่วนมาตรการดอกเบี้ย ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง และทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแคบลงโดยเฉพาะของภาคครัวเรือน และผู้ประกอบการ SME รวมถึงการใช้มาตรการผ่อนคลายในกรณีชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ ซึ่งปัจจุบันใช้อยู่ที่อัตรา 8% ของยอดชำระรวม โดยอาจพิจารณากลับไปใช้ที่ขั้นต่ำ 5% อีกสักระยะ เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อย มีกำลังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

“ถ้าดำเนินการได้เร็ว ก็จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในระยะต่อไปได้พอสมควร แต่ก็คงต้องขึ้นกับการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)”

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว  2.2 – 3.2% มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก (1) การกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก (2) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และ (3) การฟื้นตัว
อย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว  3.0% และ 3.5% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว  2.9% เทียบกับการลดลง 1.7% ในปี 2566 และปรับลดจาก 3.8% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น 2.4% เทียบกับการลดลง 2.9% ในปี 2566 แต่เป็นการปรับลดลงจาก 3.3% ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานปริมาณการค้าโลก ขณะที่ราคาส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วง  0.0 – 1.0% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน และชะลอลงจาก 1.2% จากปีก่อน

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง  0.9 – 1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ของ GDP ภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 5.0% เพิ่มขึ้นจาก 2.1% ในปี 2566 และปรับลด 6.2% ในการประมาณการครั้งก่อน

ในไตรมาสที่ 4/2566 การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 68,822 ล้านดอลลาร์ สรอ. กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส โต 4.6% โดยปริมาณส่งออกกลับมาขยายตัว  3.2% ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 1.4% กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว (43.8%) ยางพารา (6.5%) คอมพิวเตอร์ (185.3%) ตู้เย็น (23.3%) ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (16.3%) ผลิตภัณฑ์โลหะ (14.7%) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (10.7%) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (52.2%)

กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง อาทิ ทุเรียน (ลดลง 51.7%) ผลิตภัณฑ์ยาง (ลดลง  18.9%) กุ้ง, ปู, กั้ง, และล็อบสเตอร์ (ลดลง 7.4%) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ลดลง 4.9%) เครื่องปรับอากาศ (ลดลง28.8%) และรถยนต์นั่ง (ลดลง7.3%)

ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 65,370 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส 6.1% เทียบกับการลดลง 10.7% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้า โดยปริมาณการนำเข้ารวมและราคานำเข้ารวมเพิ่มขึ้น 5.3% และ  0.7% ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 3.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (122.6 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 5.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (191.8 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อน รวมทั้งปี 2566 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 280,209 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลง 1.7% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 263,237 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลง 3.1% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 17.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (597.8 พันล้านบาท)

สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัว 10.0% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 15.0% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และการขยายตัวต่อเนื่องของการท่องเที่ยวในประเทศ (ไทยเที่ยวไทย) โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวน 8.095 ล้านคน เพิ่มขึ้น 49.1% ส่งผลให้มูลค่าบริการรับ