JMART ปี 66 ขาดทุน 447 ล้าน อ่วม SINGER-SGC วูบหนัก

HoonSmart.com>> “เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” (JMART) เปิดงบปี 66 พลิกขาดทุน 447 ล้านบาท จากปีก่อนหน้ากำไร 1,795 ล้านบาท เหตุขาดทุนเงินลงทุนบริษัทร่วม-ผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากสินทรัพย์ทางการเงินอื่น 843 ล้านบาท หลัง SINGER อ่วมขาดทุน 3,209 ล้านบาท “SGC” ขาดทุน 2,275 ล้านบาท ด้าน “JMT” แกร่งสุดในกลุ่ม กำไรโต 15% ปันผลระหว่างกาล 0.49 บาท

บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดปี 2566 พลิกขาดทุนสุทธิ 447.01 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.308 บาท ผลงานลดลง 124.9% เมื่อเทียบงวดปี 2565 กำไรสุทธิ 1,794.96 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.266 บาท

สาเหตุหลักที่ขาดทุนสุทธิมาจากส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม และผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากสินทรัพย์ทางการเงินอื่น 843 ล้านบาท โดยหากไม่รวมรายการผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากสินทรัพย์ทางการเงินอื่น บริษัทฯ จะมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 396 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานของแต่ละสายธุรกิจ

1. ธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เสริม ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนสาขาที่เปิดทั่วประเทศจำนวน 319 สาขา (รวม IT Junction) มียอดขายลดลง 8.9% จากปีที่ผ่านมา โดยมียอดขายอยู่ที่ระดับ 8,699 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,365 ล้านบาท โดยจำหน่ายโทรศัพท์มือถือได้จำนวน 0.7 ล้านเครื่อง

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อทิศทางของผลการดำเนินงาน ในปี 2567 ต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมียอดขายที่สูงกว่าปี 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากเทคโนยีใหม่อย่าง Generative AI จะทำให้ลูกค้าสนใจสมาร์ทโฟนที่รองรับ AI มากขึ้น และการทำ Synergy เพิ่มเติมร่วมกับบริษัทในกลุ่ม เช่น การปล่อยสินเชื่อมือถือด้วยการล็อคมือถือหากไม่มีการผ่อนจ่ายสินเชื่อ เช่น Samsung Finance Plus

2. ธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ยังคงเป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา เจเอ็มทีบรรลุเป้าหมายการทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,010.7 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 15.2%

บริษัทฯ ยังคงมีมุมมองในการเติบโตของบริษัทฯ ในเชิงบวกโดยยังคงตั้งเป้าหมายในการทำผลประกอบการให้เพิ่มจากปี 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากในปีที่ผ่านมา เจเอ็มทีมีการลงทุนซื้อด้อยคุณภาพแบบไม่มีหลักประกันมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจะสร้างการจัดเก็บกระแสเพิ่มขึ้นในอนาคต

3. ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท (J) ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 192.6 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 4.8% เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้สูญและมีส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในการร่วมค้า ซึ่งทั้งสองรายการเป็นรายการเพียงครั้งเดียว (One time item) ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา

บริษัทฯ มีมุมมองเชิงบวกในผลประกอบการของบริษัทย่อย เจเอเอส ในอนาคตปี 2567 โดยปีนี้ เจเอเอส แอสเซ็ท มีแผนจะเปิดศูนย์การค้าอีก 3 โครงการ คือ JAS Green Village รามคำแหง JAS Green Village ประเวศ และ JAS Green Village ขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันได้อยู่ระหว่างการพัฒนา และมีพื้นที่ในการพัฒนาโรงการเรียบร้อยแล้ว

4. สายธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า พร้อมสินเชื่อเช่าซื้อ และ Car for Cash บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) มีผลขาดทุนสุทธิ 3,210 ล้านบาท และสำหรับบริษัทย่อย บริษัท เอสจี แคปปิตอล (SGC) มีผลขาดทุนสุทธิ 2,275 ล้านบาท เนื่องจากลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

สำหรับปี 2567 นี้ บริษัทมีมุมมองเชิงบวกในด้านผลการดำเนินงานของซิงเกอร์ เนื่องจากได้ผ่านช่วงของการปรับกระบวนการทำงาน และประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้นและเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ทำให้คุณภาพของลูกหนี้ดีขึ้นตามลำดับ และได้มีการตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพไว้ได้เพียงพอกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแล้วในปีที่ผ่านมา

5. สายงานทางด้านเทคโนโลยี บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ถือเป็นบริษัทย่อยของเจมาร์ท ที่ดำเนินงานทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา เจเวนเจอร์ส ได้มีพัฒนาสำคัญในหลายเรื่องด้วยกัน อาทิเช่น เจเวนเจอร์ส ได้เข้าเป็นสมาชิก NDID (National Digital ID) โดยพร้อมเป็น Public IdP (Public Identity Provider) เพื่อให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแก่สมาชิก NDID RP หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน

กลุ่มเจมาร์ทมีรายได้รวมปี 2566 เท่ากับ 13,743.5 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 176.5 ล้านบาท หรือ -1.3% โดยมีสาเหตุจากรายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า ลดลง 7.2% ตามยอดขายในส่วนของการขายของซิงเกอร์ที่ลดลง รายได้ดอกเบี้ยจากเงินซื้อลูกหนี้ และกำไรจากเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ ซึ่งเป็นรายได้จากธุรกิจบริหารหนี้เพิ่มขึ้น 10.4% ซึ่งเป็น ผลจากการจัดเก็บหนี้ที่ดีขึ้น ส่วนรายได้ค่าเช่า เพิ่มขึ้น 27% จากรายได้ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นและรายได้จากการบริการจากโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ทั้งหมด ซึ่งสะท้อนถึงอัตราค่าเช่าพื้นที่ที่สูงขึ้น และรายได้จากการรับประกันภัย เพิ่มขึ้น 13.8% ซึ่งเป็นผลจากการขยายช่องทางในการทำประกันภัย

ด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจำนวน 2,730.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 457.4 ล้านบาท หรือ 20.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากค่าใข้จ่ายของพนักงานของบริษัทย่อยที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของธุรกิจ ค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นในบริษัทย่อย และ ECL ที่เกิดในบริษัทย่อยที่ทำธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ

สำหรับปี 2567 บริษัทมุ่งมั่นที่จะผลักดันผลประกอบการให้ดีขึ้นจากปี 2566 ที่ผ่านมา โดยในปี 2566 ธุรกิจในส่วนของบริษัทร่วม ซิงเกอร์ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ที่ทำให้ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาในส่วนธุรกิจดังกล่าว ได้มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานและสร้างการรัดกุมให้กับกระบวนการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นและได้มีการตั้งสำรองไว้ เพื่อครอบคลุมความเสี่ยงจากธุรกิจการปล่อยสินเชื่อไว้เพียงพอแล้ว

ส่วนของธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท เช่น ธุรกิจบริหารและติดตามหนี้ด้อยคุณภาพ ภายใต้การบริหารของบริษัท JMT ในปี 2567 นี้ บริษัทมีมุมมองในด้านการเติบโตที่จะไม่น้อยไปกว่า ปี 2566 เนื่องจากในปีที่ผ่านมา JMT ได้เข้าซื้อประมูลหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และหนี้ด้อยคุณภาพดังกล่าว เป็นหนี้แบบไม่มีหลักประกัน ซึ่ง JMT จะติดตามกระแสเงินสดรับ ในปีนี้อย่างเต็มปี

SINGER ขาดทุน 3,209 ลบ. รายได้วูบ ขาดทุนด้านเครดิต

ด้านบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) งวดปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 3,209.60 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 3.94 บาท ผลงานลดลง ลดลง 442% จากงวดปี 2565 กำไรสุทธิ 935.28 ล้านบาท

บริษัทฯ มีรายได้จากการขายของกลุ่มบริษัทฯ ลดลง 1,953 ล้านบาท หรือ 72% จากการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลง จำนวนพนักงานขายแฟรนไชส์ลดลง และเนื่องจากบริษัทย่อยมีการเปลี่ยนนโยบายในการปล่อยสินเชื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้น

ขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มบริษัทฯ เพิ่มขึ้น 3,818 ล้านบาท เนื่องจากในระหว่างงวดไตรมาสที่ 2 บริษัทย่อยได้มีการตัดหนี้สูญกลุ่มลูกหนี้ด้อยคุณภาพของสัญญาเช่าซื้อที่บริษัทได้ติดตามทวงถามและพิจารณาแล้วว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้และบริษัทย่อยได้บันทึกผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอและเหมาะสมต่อความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดจากลูกหนี้ที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต และลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต โดยเป็นผลจากการสิ้นสุดโครงการให้ความช่วยเหลือจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยิ่งกว่านั้นบริษัทมีการพิจารณาการตั้งสำรองสำหรับกลุ่มลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น

JMT กำไรโต 15% ปันผลระหว่างกาล 0.49 บาท

บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) มีกำไรสุทธิงวดปี 2566 จำนวน 2,010.66 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.38 บาท เพิ่มขึ้น 15.2% จากงวดปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 1,745.57 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.22 บาท

บริษัทฯ มีรายได้รวม 5,086 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.4% จากรายได้สัญญาที่ทำกับลูกค้าเพิ่มขึ้น 8.5% รายได้ดอกเบี้ยและกำไรจากเงินสินเชื่อการซื้อลูกหนี้ เพิ่มขึ้น 16.1% รวมถึงรายได้รับประกันภัยเพิ่มขึ้น 13.5% นอกจากนี้บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า 537.9 ล้านบาท (บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด) ที่มีกำไรสุทธิทั้งปี 66 เท่ากับ
1,096 ล้านบาท

คณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติจ่ายปันผลระหว่างกาลจากงวดครึ่งปีหลัง 2566 อัตรา 0.49 บาท/หุ้น กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) วันที่ 12 เม.ย. 2567 ขึ้น XD ไม่ได้รับสิทธิปันผล 11 เม.ย.2567 และจ่ายเงิน 3 พ.ค.2567

J กำไรลด 4.8% ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท (J) มีกำไรสุทธิงวดปี 2566 อยู่ที่ 192.60 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.1689 บาท ลดลง 4.8% จากงวดปี 2565 มีกำไรสุทธิ 202.33 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.1902 บาท

สำเหตุหลักที่กำไรสุทธิลดลง มาจากต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากสัญญาเช่าและเงินกู้ยืมจากสาบันการเงินที่ผ่านมา

บริษัทฯมีรายได้ค่าเช่าและบริการในปี 2566 จำนวน 383.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% และมีรายได้รวม 581.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% สาเหตุหลักมาจากรายได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้นและรายได้จากการบริการจากโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ทั้งหมด ส่วนกำไรที่ลดลง เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายบุคลากรและค่าเสื่อมราคาภายในกลุ่มธุรกิจโรงเรียนและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสะท้อนอัตราค่าเช่าพื้นที่สูงขึ้น นอกจากนี้รายได้สาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายที่ปรับราคาไฟฟ้าให้สอดคล้องต้นทุนที่เกี่ยวข้อง

ด้านต้นทุนค่าเช่าและต้นทุนขายอยู่ที่ 214.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% จากปี 2565 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าสาธารณูปโภคโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและมีค่าใชจ่ายในการขายและจัดจำหน่ายมีจำนวน 91.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 13.6% และค่าใช้จ่ายในการบริหารมีจำนวน 136.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.7%

SGC ขาดทุน 2,275 ลบ. โควิดคกระทบลูกหนี้เช่าซื้อ

ด้านบริษัท เอสจี แคปปิตอล (SGC) ซึ่ง SINGER ถือหุ้น 74.92% และ JMART ถือหุ้น 4.46% แจ้งผลขาดทุนสุทธิปี 2566 จำนวน 2,275 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.70 บาท จากปีก่อนหน้ากำไรสุทธิ 667.24 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.27 บาท สาเหตุมาจากลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

 

 

อ่านข่าว
JMART มั่นใจปี 67 กำไรนิวไฮ ผนึกกำลังดัน “JMT-สุกี้ตี๋น้อย” ชูโรง