บทความ : “Short Sell” และ การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น

HoonSmart.com >> บทความ ” Short Sell” และการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น  ทำความรู้จัก และความต่างของ “Short Sell” และ  Naked Short Sell 

นายอภิชัย เรามานะชัย ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด เขียนบทความ ว่าด้วยเรื่อง Short Sell และ การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น

สำหรับประเด็นที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในสภาพที่ตลาดหุ้นอยู่ในช่วง Underperform หนึ่งในนั้นเห็นจะไม่พ้น ประเด็น ธุรกรรม Short Sell และ Naked Short Sell ดังนั้นแล้ว ทางฝ่ายวิเคราะห์คิงส์ฟอร์ด จึงได้ถือโอกาสนี้ในการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนรวมถึงนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

Short Sell คืออะไร?

Short Sell คือ ธุรกรรมการขายหุ้น โดยที่ผู้ขายได้ยืมหุ้นนั้นมาจากบริษัทหลักทรัพย์ หรือสถาบันที่ให้บริการยืมหุ้น                ผู้ขายชอร์ต จะต้องวางเงินประกัน (Margin) ไว้กับบริษัทผู้ให้ยืมหุ้น รวมถึงจ่ายค่าธรรมเนียม ในการ Short Sell แบบรายวัน จนกว่าผู้ขายชอร์ตจะส่งคืนหุ้นจำนวนที่ยืมไป (ปิดการ Short) ซึ่ง Short Sell  ก็คือ การยืมหุ้นมาเพื่อเอามาขายก่อนนั่นเอง

แล้วการ Naked Short Sell คืออะไร?

Naked Short Sell คือ ธุรกรรม Short Sell ที่ ผู้ขายไม่มี ไม่ได้ยืมหุ้น แต่ส่งคำสั่งขายออกมาได้

Short Sell และ Naked Short Sell มีผลต่อการปรับตัวลงของตลาดหรือไม่ ?

ในเชิงปฏิบัติแล้ว ธุรกรรม Short Sell มีผลทำให้ตลาดปรับตัวลงหรือไม่? ในภาพรวมแล้ว ยังเป็นประเด็นที่ซับซ้อน แล้วมีตัวแปรหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ภาวะพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดขณะนั้น, สภาพคล่องที่เกิดจากธุรกรรม Short Sell เป็นต้น

ตัวอย่างกรณีศึกษาธุรกรรม Short Sell เช่น กรณีศึกษาของ Beber และ Pagano หัวข้อ “Short-Selling Bans around the World: Evidence from the 2007-09 Crisis” ซึ่งเป็นการศึกษาการแบนธุรกรรม Short Sell ในหลายประเทศช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพรม์

ผลของข้อสรุป คือ การแบนธุรกรรม Short Sell ส่งผลให้สภาพคล่องของตลาดลดลงอย่างมีนัยยะ และไม่พบหลักฐานว่าการแบน Short Sell มีผลบวกต่อราคาหุ้นในตลาดส่วนใหญ่กว่า 30 ประเทศ ยกเว้นแต่ในกรณีของตลาดหุ้นสหรัฐฯที่มีความสัมพันธ์เชิงบวก

โดยในมุมมองของเรานั้น ว่ากันตามทฤษฎี การ Short Sell จะทำให้เกิดแรงขา ยและเป็นหนึ่งในตัวควบคุมที่ทำให้ราคาไม่ได้อยู่ในโซนสูงเกินไป (Overpriced) แต่ผลกระทบต่อตลาดในเชิงลบ อาจไม่ได้มากนักจาก Volume Short ที่ถูกควบคุมด้วยจำนวนหุ้นที่ผู้ทำธุรกรรมการขายหุ้นจะยืมมาได้

อย่างไรก็ตาม การ Naked Short Sell กลับเลวร้ายยิ่งกว่ามาก เพราะทำให้เกิดแรงขายที่เกินจริงขึ้น จาก Supply หุ้นที่ไม่มีอยู่จริง ส่งผลให้ราคาหุ้นที่ถูกแรงขายออกมา ปรับตัวลดลงมากกว่าปกติ ไม่แปลกที่ การ Naked Short Sell จะถูกทำให้ผิดกฏหมายในประเทศส่วนใหญ่ Short Sell ยังมีข้อดี แต่ Naked Short Sell แต่ข้อเสีย จึงผิดกฎหมาย

แล้ว Naked Short Sell ยังมีอยู่หรือไม่?

ถึงแม้ว่า Naked Short Sell จะผิดกฏหมายในประเทศส่วนใหญ่ แต่การทำผิดกฏหมาย หรือ ข้อสังเกตว่ามีการทำผิดกฏหมายก็ยังมีเห็นอยู่เนือง ๆ ในตลาดต่างประเทศ เช่น

1.กรณี เกาหลีใต้ ที่ตรวจพบ ธุรกรรม Naked Short Sell ในช่วงปี 2566
2.กรณี หุ้น GameSpot ของสหรัฐฯ ที่มีจำนวนหุ้นที่ถูก Short 140% ในปี 2564
3.กรณีหุ้น Dendreon ของสหรัฐฯ ในปี 2563

ตัวอย่างของกรณีการแบนธุรกรรม Short Sell ในช่วงเร็ว ๆ นี้
หากจะพูดถึงกรณีการแบนธุรกรรม Short Sell ในช่วงเร็ว ๆ นี้ ก็ต้องพูดไปถึงตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ซึ่งมีการแบน Short Sell อยู่หลายครั้ง และล่าสุด แบนในวันที่ 5 พ.ย.66 (ไปจนถึง สิ้นเดือน มิ.ย.67)

ตารางไทม์ไลน์การแบนธุรกรรม Short Sell ของเกาหลีใต้
13 มี.ค. 2563 แบน Short Sell 6 เดือน (Covid-19)
27 ส.ค. 2563 แบนต่อ 6 เดือน
09 ธ.ค. 2563 ทบทวนกฏหมายที่เกี่ยวข้อง/เพิ่มบทลงโทษ
03 ก.พ. 2564 แบนต่อถึง 02 พ.ค.64
03 พ.ค. 2564 Short Sell ได้เฉพาะหุ้นที่อยู่ใน KOSPI-200 และ KOSDAQ-150
06 พ.ย. 2566 แบน Short Sell ถึง 30 มิ.ย.67 (พบธุรกรรม Naked Short Sell ในช่วงก่อนหน้าของปี 66)

กระทบจากการแบนครั้งล่าสุด พบว่า  วันเทรดครั้งแรกของ 1 วัน หลังประกาศการแบน (ประกาศวันอาทิตย์ที่ 05 พ.ย.66 เทรดวันแรกวันจันทร์ที่ 06 พ.ย.66) ดัชนี KOSPI มีการปรับตัว +6%

ช่วงเวลา 03 พ.ย.- 31ธ.ค.66 +12% หากพิจารณาถึงชุดข้อมูล 38 แท่ง ก่อนและหลังการแบน จะพบว่า Volume การซื้อขายในช่วง 6 พ.ย.66 – 28 ธ.ค.66 จะน้อยกว่าในช่วง 6 ก.ย. 66 -3 พ.ย. 66 ราว -7%

Short Sell กับ ตลาดหุ้นไทย

ส่วนการ Short Sell ในตลาดหุ้นไทยนั้น สัดส่วนมูลค่าการ Short Sell เป็นไปตามตารางดังนี้

ช่วงเวลา %                      มูลค่าการ Short Sell เทียบมูลค่าการซื้อขาย SET               การเคลื่อนไหวของ SET
ม.ค.67                                                 12.00%                                                                   -3.63%
ปี 66                                                    10.59%                                                                   -15.15%
ปี 65                                                      9.67%                                                                     +0.67%
ปี 64                                                      6.61%                                                                   +14.37%
ปี 63                                                      3.00%                                                                      -8.26%
ปี 62                                                      5.15%                                                                     +1.02%

เห็นได้ว่า หากพิจารณาโดยเฉพาะแค่ปัจจัยการเพิ่มขึ้น Short Sell นั้น ไม่สามารถสรุปได้ว่า มีผลในเชิงลบต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของ SET หากไม่พิจารณาปัจจัยอื่นประกอบ เช่น กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาด, Fund Flow ต่างชาติ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป

สำหรับธุรกรรม Short Sell แม้ยังเป็นที่ถกเถียงกันในภาพรวมว่า เป็นบวกมากกว่าลบหรือไม่ แต่สังเกตได้ว่า ตลาดหลายประเทศ ได้ใช้มาตรการแบน Short Sell เข้ามาเป็นเครื่องมือในกรณีที่ตลาดเกิดความผันผวนมาก เช่น กรณีวิกฤตซับไพรม์ หรือ การแบน Short Sell ของเกาหลีใต้ ในช่วงปี 66หลังมีธุรกรรม Naked Short Sell เกิดขึ้นมา เป็นต้น

โดยมุมมองของเรานั้น ธุรกรรม Short Sell ในเวลาปกติ ย่อมเป็นเครื่องมือในตลาดที่ดี ที่ทำให้เกิดสมดุลของราคาและมีส่วนช่วยในเรื่องสภาพคล่อง

อย่างไรก็ตาม คำถามที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบัน ย่อมเป็นคำถามว่า ตลาด ณ ขณะนี้ปกติหรือไม่ ? และ กรณีที่ไม่ปกติ การออกมาตรการควบคุมธุรกรรม Short Sell (ทั้งการแบน/หรือการห้ามเฉพาะจุด) จะส่งผลเสียในเชิงสภาพคล่องที่มีโอกาสลดถอยลงอีกมากกว่าจะเป็นผลดีหรือไม่ ?

บทความโดย อภิชัย เรามานะชัย
ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน)