สตาร์ทอัพฟินเทคไทยถึงทางตัน เทคโนโลยี Disrupt “Venture Capital” คิดหนัก

ธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยกำลัง เข้าสู่ ”ทางตัน“ หลังเทคโนโลยีเข้ามา Disrupt และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 บีบ Venture Capital คิดหนัก

ความหวังและความฝันของบรรดาวัยรุ่นหนุ่มสาว และมนุษย์เงินเดือนที่ผันตัวเองเข้าสู่เส้นทาง “สตาร์ทอัพ”

ผ่านธุรกิจที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ จากการสนับสนุนของ Venture Capital ซึ่งในช่วงก่อนหน้าธุรกิจสตาร์ทอัพบูมเป็นอย่างมาก และหลายบริษัทประสบความสำเร็จ

แต่ในทศวรรษนี้ดูเหมือนว่าสถานการณ์ได้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านเร็วมาก

การเกิดขึ้นของแพตฟอร์มแห่งอนาคตที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นอย่าง No Code / Low Code ซึ่งเป็นกระบวนการใหม่ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ง่ายขึ้น และรวดเร็วขึ้น ทำให้ผู้ที่ไม่มีทักษะในการเขียนโปรแกรมสามารถสร้างแอปพลิเคชันได้

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ด้านการเงินของ Venture Capital สั่นคลอน บีบให้นักลงทุนต้องรักษากระแสเงินสด

นั่นหมายความว่าการเลือก หรือตัดสินใจลงทุนในสตาร์ทอัพ นักลงทุนต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โปรดักส์ต้องมีจุดขายที่แข็งแกร่ง เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม วัดผลได้ ถึงจะมีสิทธิ์ได้รับเงินทุนสนับสนุน

ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพด้านการลงทุนในไทย ผุดขึ้นราวดอกเห็ด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์ม วิเคราะห์พอร์ตการลงทุน แพลตฟอร์มการเทรด หุ้น สกุลเงิน ฟิวเจอร์ส ฯลฯ

แต่เอาเข้าจริงน้อยที่ประสบความสำเร็จ ถ้าไม่มี “สายป่าน” ที่ยาว และมีแหล่งเงินทุนซัพพอร์ต

ยกตัวอย่างแอปพลิเคชันที่ประสบความสำเร็จ และเป็นผู้นำตลาดในปัจจุบัน

คงหนีไม่พ้นแอปเทรดหุ้น Streaming ของบริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตามมาด้วย efin Trade Plus แอปพลิเคชันซื้อขายหุ้น ที่มี “จุดแข็ง” ภายใต้ความร่วมมือกับทุกแทบทุกโบรกเกอร์

แอป Streaming และ efin Trade Plus ถือเป็นเบอร์หนึ่งและเบอร์สองในตลาด

ขณะที่แต่ละโบรกเกอร์ต่างมีแอปเป็นของตัวเองเช่นเดียวกัน

อย่างน้อยก็เพื่อเป็นแอปสำรอง หรือเพื่อสร้าง Ecosystem ให้กับธุรกิจ เพื่อให้การบริการการเงินและการลงทุนครบวงจร

แต่ถ้าถามนักลงทุนรายย่อยทั่วไป ยังคงคุ้นชินกับการเทรดผ่าน แอป Streaming และ efin Trade Plus อยู่วันยังค่ำ

ลองมาดูสถิติการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบ Internet ในปี 2566

จะพบว่าในเดือนธันวาคม 2566 มีจำนวนลูกค้าที่เปิดบัญชีจำนวน 3,547,519 ราย จำนวนลูกค้าที่เปิดบัญชีไม่นับซ้ำอยู่ที่ 2,470,978 ราย

แต่เอาเข้าจริงลูกค้าที่ซื้อขายใน 1 เดือนที่ผ่านมา มีเพียง 325,938 บัญชี มูลค่าการซื้อขายผ่านระบบ Internet จำนวน 396,080 ล้านบาท

มูลค่าการซื้อขายผ่าน Internet ลดลงเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 มูลค่ากว่าซื้อขายกว่า 985,508 ล้านบาท

Venture Capital หรือโบรกเกอร์ ค่ายไหน????

ที่คิดจะลงทุนในสตาร์ทอัพ แพลตฟอร์มทางการเงิน การลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดอนุพันธ์ ทั้งในและต่างประเทศ คริปโตฯ หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain

โดยคาดหวังว่าจะเป็น New S-Curve คงต้องทำ “การบ้าน” อย่างหนัก

และต้องตอบคำถามผู้ถือหุ้นให้ได้ว่า โอกาสแห่งความสำเร็จมีมากน้อยแค่ไหน…คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่

ระวังจะตกเป็นเหยื่อให้เหล่าบรรดาสตาร์ทอัพใช้เป็นช่องทางในการ Exit

ถ้าไม่อยากเป็นเหมือน JPMorgan Chase ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐที่สูญเงินไปกับการซื้อกิจการสตาร์ทอัพ “ลวงโลก” ที่ชื่อ Frank แพลตฟอร์มให้บริการด้านการศึกษา มูลค่ากว่า 6.2 พันล้านบาท โดยหวังฐานลูกค้า 4 ล้านราย จากกว่า 6,000 สถาบันการศึกษา แต่แท้ที่จริงมีไม่ถึง 3 แสนราย จนท้ายที่สุดต้องปิดแพลตฟอร์ม Frank ลง…