SCC ตั้งงบลงทุน 4 หมื่นลบ.มุ่งกำไรยั่งยืน รายได้โต 20% คืนหนี้ลดดบ.1 พันลบ.

HoonSmart.com>>’ปูนซิเมนต์ไทย'(SCC) ทรานส์ฟอร์มองค์กร เน้นกำไรโตยั่งยืน เดินหน้าลงทุนนวัตกรรม เสนอผลิตภัณฑ์สีเขียว ได้รับการตอบรับดีชัดเจน ยกปูนคาร์บอนต่ำ ส่งออกสหรัฐ มาร์จิ้นดี เผยปี 67 ทุกธุรกิจดีขึ้น ปิโตรเคมีพ้นจุดต่ำสุดแล้ว ส่วนปิโตรเคมีเวียดนามเตรียมป้อนเม็ดพลาสติกสู่ตลาดโลก  เลื่อนการส่ง เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) เข้าตลาดหุ้นเกิน 2 ปี ขอเพิ่มพอร์ตกรีนโพลีเมอร์ สร้างมูลค่าเพิ่ม ยันการเงินแกร่งมีเงินสด 6.8 หมื่นล้านบาท หลังคืนหนี้แบงก์ก่อนกำหนด 3 หมื่นล้านบาท ปีนี้ประหยัดดอกเบี้ย 1,000 ล้านบาท 

 

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (SCG) เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนโดยมุ่งสู่นวัตกรรมสีเขียว สร้างสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม(HVA) กำลังสร้างองค์กรที่มีความคล่องตัว เพื่อรับความท้าทายต่าง ๆ ให้ทันท่วงที มองโลกมีความผันผวนทุกปี และทุกครั้งที่มีการ Spin-Off บริษัทในกลุ่ม เพื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ จะต้องมั่นใจว่าบริษัทแห่งนั้นสามารถเติบโตได้เอง ในส่วนของการนำ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC)เข้าจดทะเบียน มองว่าภายใน 2 ปีนี้ไม่ใช่จังหวะที่ดี แม้ว่าธุรกิจปิโตรเคมีผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 4 ส่วนปีนี้จะค่อยๆดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ใช้เวลาในการเพิ่ม กรีน โพลีเมอร์ เพื่อระดมทุนได้มากขึ้น

แนวโน้มการดำเนินงานปี 2567 ทุกธุรกิจเร่งการเติบโตทั้งในไทยและอาเซียน คาดรายได้เติบโตได้เกือบ 20% จากปีก่อนทำได้ 499,646 ล้านบาท   โครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ คาดว่าจะแล้วเสร็จการเดินเครื่องจักรและทดสอบประสิทธิภาพ การเดินโรงงานทั้งระบบ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรมก็ได้รับการตอบรับที่ดี เช่น ปูนคาร์บอนต่ำ ส่งออกไปขายสหรัฐและมาเลเซียมากขึ้น ได้มาร์จิ้นที่ดีด้วย ปีนี้เตรียมออกปูนคาร์บอนต่ำ เจนเนเรชันที่ 2 ซึ่งลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นจากรุ่นแรก  10% เป็น 15% รวมถึงสมาร์ทโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัย พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ใช้ซ้ำ รีไซเคิลได้ พลังงานสะอาดครบวงจร มุ่งสู่ผู้นำธุรกิจกรีนที่สร้างการเติบโตให้ธุรกิจพร้อมสร้างสังคม Net Zero ที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

ขณะเดียวกันบริษัทมีกระแสเงินสดที่ดี จำนวน 68,000 ล้านบาท หลังจากมีการชำระหนี้สถาบันการเงินก่อนครบกำหนด จำนวน 3 หมื่นล้านบาทเมื่อเดือนพ.ย. 2566 ช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้ถึง 1,000 ล้านบาทในปีนี้

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนออกหุ้นกู้ใหม่ เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้จำนวน 60,000 ล้านบาท โดยรอบแรกเดือนเม.ย. จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดมูลค่า 25,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะ Rollover กว่า 20,000 ล้านบาท และให้บริษัทลูกออกหุ้นกู้อีก 5,000 ล้านบาท รวมถึงการออกใหม่ทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนส.ค. จำนวน 10,000 ล้านบาท และปลายปีนี้อีก 15,000 ล้านบาท

” ปี 2567 บริษัทตั้งงบลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท  โดยพิจารณาการใช้เงินอย่างระมัดระวัง  ปีที่ผ่านมาตั้งไว้ทั้งหมด 5 หมื่นล้านบาท แต่ใช้ลงทุนจริงจำนวน 3.8 หมื่นล้านบาท แม้เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น แต่ยังมีความท้าทายอีกมาก ส่วนเรื่องกำไรของ SCC จะดูบรรทัดสุดท้ายไม่ได้ โดยเฉพาะไตรมาสที่ 4/2566 ที่มีขาดทุน เนื่องจากมีการลงบัญชีด้อยค่าโรงปูนที่เมียนมาร์ประมาณ 2,000 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการทดสอบเดินเครื่องโรงงานลองเซิน ปิโตรเคมิคอล จริงๆบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 502 ล้านบาท หากโรงปูนที่เมียนมากลับมาผลิตได้เมื่อไร ก็ลงบัญชีกลับมา”

ขณะเดียวกัน ธุรกิจหลักของ SCC ยังมีการขยายไปสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจเคมิคอลส์ ยังเร่งขยายเข้าสู่ ‘อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า’ ด้วยนวัตกรรมพลาสติกสำหรับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์น้ำหนักเบา ช่วยประหยัดพลังงาน และความร่วมมือกับ Denka ในการผลิตและจำหน่ายอะเซทิลีนแบล็ก (Acetylene Black) ส่วนประกอบสำคัญสำหรับนำไฟฟ้าในการผลิตขั้วแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์จไฟได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีปริมาณความต้องการสูง

ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน บริหารต้นทุนพลังงานได้ดี ปี 2566 เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนมาอยู่ที่  40 %สำหรับปี 2567 พร้อมเดินหน้าการผลิตและส่งมอบโซลูชันรับการฟื้นตัวของตลาดไทย ทั้งอสังหาริมทรัพย์และโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ควบคู่กับตอบสนองความต้องการของตลาดอาเซียนที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น โดยมุ่งนำเสนอโซลูชันการออกแบบอาคารที่ช่วยคำนวณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการก่อสร้าง ด้วยแพลตฟอร์ม ‘KITCARBON’

ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง เติบโตต่อเนื่อง เน้นบริหารจัดการต้นทุนด้วยการปรับใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต พร้อมทั้งพัฒนาสมาร์ทโซลูชันตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ที่ต้องการประหยัดพลังงาน มีสุขอนามัยที่ดี ห่างไกล PM 2.5 และมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เช่น ‘SCG Active Air Quality’ นวัตกรรมเติมอากาศดีให้บ้าน ป้องกันมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 เชื้อโรค แบคทีเรีย ไวรัส ‘หลังคาเอสซีจี เมทัลรูฟ รุ่น คอมฟอร์ท ลอน Snap Lock’ นวัตกรรมหลังคาช่วยป้องกันเสียงจากภายนอก และกันความร้อน ประหยัดการใช้พลังงานภายในบ้าน และ ‘SCG Solar Roof Solutions’ ซึ่งมียอดขายเติบโตโดดเด่น เพิ่มขึ้น  105% จากปีก่อน ทั้งยังมุ่งขยายสมาร์ทโซลูชันสู่ตลาดใหม่ ๆ อาทิ ติดตั้งนวัตกรรมบำบัดอากาศเสียพร้อมประหยัดพลังงาน ‘SCG Air Scrubber’ ให้อาคาร Keppel Bay Tower โครงการอสังหาฯ ระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศสิงคโปร์ และเป็นอาคารแห่งแรกในสิงคโปร์ที่ได้รางวัล Green Mark Platinum (Zero Energy) หรือรางวัลอาคารประหยัดพลังงาน ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวช่วยประหยัดพลังงานจากระบบปรับอากาศได้สูงสุด  30%

ธุรกิจเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล เร่งขยายความแข็งแกร่งสู่ตลาดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง อย่างภูมิภาค SAMEA (เอเซียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา) โดย SCG International ตั้งสำนักงานในกรุงริยาด ซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ  มองเห็นโอกาสการเติบโต จากความต้องการซื้อวัสดุก่่อสร้าง ตามแผนการเติบโตของ GDP 2 เท่า และการลงทุน 4 ล้านล้านดอลลาร์ เจาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่  ร่วมสร้างสังคม Net Zero

ธุรกิจเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ พลังงานสะอาดครบวงจร เติบโตต่อเนื่องและมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมากจากความต้องการใช้พลังงานสะอาดที่มากขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของโลกและจากจุดแข็งของธุรกิจด้านการบริการที่มีความน่าเชื่อถือ โดดเด่นด้วยระบบ Smart Grid ที่ช่วยให้การซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเข้าถึงได้สะดวกยิ่งขึ้น ปี 2566 มีกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ รวม 450 เมกะวัตต์ ล่าสุด ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในหลายพื้นที่ อาทิ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ รวมถึงกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโล เตรียมขยายไปยังตลาดอาเซียน ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในปี 2567

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง(SCGP) จากไตรมาส 4/2566 ความต้องการภาคบริโภคในเวียดนาม และอินโดนีเซียเริ่มฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสินค้าส่งออก โดยเฉพาะอาหารแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยง และในปี 2567 อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมีแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งออก SCGP จึงมุ่งนำเสนอโซลูชันบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมทั้งขยายกำลังการผลิตและ M&P (Merger & Partnership) ในธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ บรรจุภัณฑ์อาหาร และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ Bio-Solutions ที่เป็นเมกะเทรนด์และเติบโตสูง ควบคู่กับบริหารต้นทุนและการผลิตสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานทางเลือกเป็นร้อยละ 35 ของการใช้พลังงานทั้งหมด เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้วย ESG (Environmental, Social, Governance) และการพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี ซึ่งมีโอกาสเติบโตอีกมาก หากเร่งผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพร้อมเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และอำนวยความสะดวกในการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จะช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ควรส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตาม ESG ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกให้การยอมรับ เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว ล่าสุด เอสซีจี ได้รับดัชนีความยั่งยืนชั้นนำโลก ESG Industry Top Rated ลำดับที่ 1 จาก 125 บริษัทในกลุ่ม Industrial Conglomerate ทั่วโลก ซึ่งจัดอันดับโดย Morningstar Sustainalytics สะท้อนถึงธุรกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ควบคู่กับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน จากการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ – ภายใต้เชื่อมั่น โปร่งใส)

คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 6  บาท รวมเป็นเงิน 7,200 ล้านบาท คิดเป็น 54% ของกำไรไม่รวมรายการพิเศษ บริษัทจ่ายระหว่างกาลแล้วหุ้นละ 2.5 บาท  6 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 3.50 บาท จะขึ้นเครื่องหมาย XD  ในวันที่ 4 เม.ย. 2567 กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 เม.ย.2567

ด้านราคาหุ้น SCC วันที่ 25 เม.ย. 2567  ปรับตัวลงปิดที่ 267 บาท ลดลง 3 บาทหรือ -1.11% นิวโลว์ต่อเนื่อง  หลังจากตลาดผิดหวังกำไรปี 2567 นักวิเคราะห์ปรับลดประมาณการกำไร และราคาเป้าหมายลง