คลังยันคาดการณ์ศก.ปี 66 โต1.8% แบงก์กสิกรฯมองต่าง ยืนเป้าโต 2.5%

HoonSmart.com>>กระทรวงการคลังแถลงยืนยันประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 โตต่ำเพียง 1.8% คาดส่งออกหดตัว 1.5 % นำเข้าลดลง 1.9%  เงินไหลออกจากตลาดทุนไทย 3.3 แสนล้านบาท ส่วนเศรษฐกิจปี 67 คาดขยายตัว 2.8%  นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 33.5 ล้านคน สร้างรายได้ 1.48 ล้านล้านบาท โต 23.6% เสนอแนวทางโตอย่างยั่งยืน แนะติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด  ด้านธนาคารกสิกรไทยคาดปี 66  เศรษฐกิจโต 2.5% จับสัญญาณตลาดเพิ่มความกังวลเศรษฐกิจถดถอย คาดเฟดลดดอกเบี้ยไตรมาส 2 หนุนค่าเงินบาทสิ้นปีอยู่ที่  34  บาท 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.8% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.6%-2.0%) ชะลอลงจากปี 2565 ที่เติบโต 2.6% โดยมีปัจจัยสำคัญจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ และคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้า คาดว่าจะหดตัว -1.5% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ -1.8% ถึง -1.3%) จากอุปสงค์ที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจะหดตัว  -1.9% (ช่วงคาดการณ์ที่  -2.2% ถึง -1.7%)

ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทในปี 2566 มีความผันผวนโดยอ่อนค่าในช่วง 3 ไตรมาสแรก และแข็งค่าขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4  โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจจีน และนโยบายการเงินผ่อนคลายของญี่ปุ่น  ส่งผลให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 34.81 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 2565 ที่ 0.7% นอกจากนั้นยังมีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดทุนไทยสุทธิ -3.3 แสนล้านบาท ทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรไทยที่ -1.9 และ -1.4 แสนล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับในปี 2567 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 2.8% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.3% ถึง 3.3%) โดยปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะยังสามารถขยายตัวได้ ส่วนภาคการท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาจำนวน 33.5 ล้านคน ขยายตัว 19.5% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากประเทศจีนและมาเลเซียเป็นสำคัญ และมีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวน 1.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% ต่อปี ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ส่วนการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอตัวลงเล็กน้อยตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวชะลอตัวลง ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่  4.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.7% ถึง 4.7%) และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัว 4.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่  3.5% ถึง 4.5%) ในขณะที่รายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลคาดว่าจะมีอัตราการเบิกจ่ายที่  99.5% และ 64.0% ตามลำดับ ลดลงจากปีก่อนหน้าเนื่องจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ในด้านเสถียรภาพ  คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.5% ถึง 1.5%) เนื่องจาก ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในระดับทรงตัวที่ 82 ดอลลาร์ สหรัฐต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในปี 2566 ที่ 81.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์น้ำมันดิบโลก ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัด มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 10.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น  1.8% ของ GDP แต่ต้องติดตามสถานการณ์หนี้ภาคครัวเรือน โดยล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3 /2566 มียอดคงค้างอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น  90.9% ของ GDP

สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพในระยะยาวนั้น ควรให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Development) เช่น การพัฒนาการใช้พลังงานที่ยั่งยืน การลงทุนในด้านดิจิทัล และการพัฒนาด้านคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ จะช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ และทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางในระดับภูมิภาคได้ 2) การพัฒนาทักษะ (Skills Development) การเตรียมแรงงานให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจโลกมีความสำคัญและจะส่งเสริมความสำเร็จในระยะยาวได้ดี 3) การรักษาเสถียรภาพทางการคลัง (Fiscal Stability) มุ่งมั่นในการบริหารจัดการการคลังอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงการใช้จ่ายของรัฐและระดับหนี้สาธารณะอย่างรับผิดชอบ เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตได้

นอกจากนี้ ยังควรติดตามปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ 1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ สถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น และความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน 2) สถานการณ์การเลือกตั้งผู้นำของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศรัสเซีย และประเทศอินเดีย เป็นต้น ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของไทย 3) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และ 4) สถานการณ์เศรษฐกิจของจีน ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย

ด้านนายกอบสิทธิ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) วิเคราะห์เศรษฐกิจในปี 2567 ว่า เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความท้าทายมากมาย ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มองการเติบโตอยู่ที่ 2.5% และในปี 2567 กรณีฐานอยู่ที่ 3.1% หากรวมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต จะอยู่ที่ 3.6%

นายกอบสิทธิยังกล่าวอีกว่า ตลาดเห็นโอกาสเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 15% จากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนส่งผลกระทบต่อการค้าโลก และเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอก็ส่งผลเสียต่อดุลการค้าไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการบริการมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจำกัดการเติบโตในระยะยาว

ส่วนการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 2/2567 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์/เงินบาท คาดว่าแนวโน้มจะลดลงเหลือ 34 บาท/ดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้