บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ หรือ EARTH “จบเกมยื้อ” หลังจากใช้เวลาเกือบ 2 ปี ดิ้นรนหาหนทางฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารใจถึง กล้าเสกอภิมหาหนี้สูงถึง 26,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับหนี้เดิมที่มีอยู่จำนวน 21,480 ล้านบาทสิ้นไตรมาส 1/2560 ทำให้มีคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์“มีหนี้สินล้นพ้นตัว” นำไปสู่คำสั่งของศาลล้มละลายกลางให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2560 และที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ ด้วยคะแนนถึง 83%
แต่ในที่สุด วันที่ 15 พ.ย. 2561 ศาลล้มละลายมีคำสั่งไม่รับแผนฟื้นฟูกิจการเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ และวันรุ่งขึ้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อาศัยคำสั่งของศาลล้มละลาย ในการกล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร กับพวกรวม 17 ราย กรณีสร้างหนี้เทียม พร้อมแจ้งพนักงานอัยการฟ้องผู้กระทำผิด 11 ราย กรณีอาศัยข้อมูลภายใน (อินไซด์เดอร์เทรดดิ้ง) ขายหุ้น EARTH และส่งต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินต่อไป
คำสั่งศาลไม่รับแผนฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ หมายความว่า บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ในการสะสางหนี้ทั้งหมด ซึ่งบริษัทเปิดเผยในแผนฟื้นฟูกิจการว่ามีเจ้าหนี้มีประกันและไม่มีประกันรวม 2,352 ราย รวมหนี้ทั้งสิ้นประมาณ 148,474 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นประมาณ 23,196 ล้านบาทและภาระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องประมาณ 125,278 ล้านบาท ขณะเดียวกันวันที่ 15 ม.ค.2561 มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสิทธิจำนวน 2,433 ราย รวมเป็นเงินทั้งหมด 152,518 ล้านบาท
หนี้สูงขนาดนี้ บริษัทไม่มีปัญญาชำระคืนอย่างแน่นอน และ“ประเมินมูลค่ากิจการเอิร์ธไม่ได้” เพราะไม่รู้ว่าข้อมูลหรือหลักฐานต่างๆชิ้นไหนเป็นของจริงหรือของปลอมบ้าง
ผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษพบรายการเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าและเงินจองสิทธิ์ในการซื้อสินค้าในเดือน มิ.ย. 2560 รวมถึงทรัพย์สินอื่น แลกเปลี่ยนกับสิทธิในเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 2 แห่ง มูลค่ารวม 731 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณเกือบ 25,000 ล้านบาท สำนักงานก.ล.ต.สั่งให้ชี้แจงข้อมูลความมีอยู่จริงและมูลค่ายุติธรรมของสิทธิในเหมืองถ่านหิน อินโดนีเซีย 2 แห่งดังกล่าว บริษัทกลับขอเลื่อนการชี้แจงตั้งหลายครั้ง และในที่สุดก็ตอบไม่ได้ “มีอยู่จริงหรือไม่”
นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ ยื่นร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดําเนินคดีกับบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสารนําเข้าถ่านหินมาใช้เป็นหลักฐานในการกู้เงินธนาคารด้วย
ข้อมูลเหล่านี้น่าจะปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แผนฟื้นฟูกิจการเอิร์ธเดินหน้าต่อไปไม่ได้
ประเด็นที่สำคัญ น่าจะเกิดจากการให้สัมภาษณ์ของ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เรื่องผลสอบกรณีการปล่อยกู้บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ โดยเบื้องต้นพบความผิดของพนักงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ทั้งที่เป็นความผิดของระบบ และความผิดของพนักงานธนาคาร
ธนาคารกรุงไทยปล่อยข้อมูลทุจริตการให้สินเชื่อเอิร์ธออกมาชัดเจนขนาดนี้แล้ว เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ก่อนการตัดสินของศาล จะด้วยเหตุผลใด หรือมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรบ้าง คงไม่มีใครรู้ได้ แต่เชื่อว่ามีน้ำหนักมากทีเดียวต่อการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการครั้งนี้
ขณะนี้ผู้เกี่ยวข้อง ต่างรอเวลาให้ศาลเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงเหตุผลไม่รับแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ
แต่หนี้ของ EARTH จะต้องเดินหน้าสะสางกันต่อไป บริษัทฯ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าจะรีบจัดการประชุมคณะกรรมการอย่างเร่งด่วน เพื่อกำหนดนโยบายและแผนงานเพื่อให้บริษัทฯกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปโดยเร็วที่สุด
เจ้าหนี้คงจะรอไม่ไหว โดยเฉพาะเจ้าหนี้รายใหญ่ อย่าง ธนาคารกรุงไทย มูลหนี้กว่า 12,000 ล้านบาท จะต้องวิ่งเต้นหาหลักประกัน บริษัทซ่อนเงิน หรือมีทรัพย์สินเก็บไว้ที่ไหนบ้าง จะต้องรีดออกมาให้มากที่สุด
ขณะนี้ทางออกของปัญหามีไม่กี่ทาง เชื่อว่าจะต้องนำไปสู่“การฟ้องล้มละลายบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ”
กฎหมายเปิดทางให้เจ้าหนี้บุคคลที่มีหนี้จำนวน 1 ล้านบาท หรือเจ้าหนี้นิติบุคคลที่มีหนี้ 2 ล้านบาท สามารถฟ้องลูกหนี้ล้มละลายได้ หากเห็นว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งเอิร์ธฯเข้าเกณฑ์นี้ เมื่อพิจารณาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้
แต่ปัญหาของ เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ไม่ใช่ล้มละลายแล้ว ทุกอย่างจะจบลงง่ายๆ
เจ้าหนี้ทุกรายเจ็บตัวหนัก บริษัทมีสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาเงินกู้ และตราสารทางการเงิน จำนวน 4 ราย นอกจากมีธนาคารกรุงไทยแล้ว ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มีภาระหนี้รวมกันสูงถึง 13,959 ล้านบาทไม่รวมภาระดอกเบี้ยอีก 361 ล้านบาท
การตามหนี้เอิร์ธฯคืนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หากเห็นผลงานของอดีตผู้บริหารที่ใช้เวลาในการสร้างธุรกิจเทียมมาได้ไกลขนาดนี้ บริษัทสร้างเครดิตในการกู้เงินแบงก์ โดยไม่ต้องวางหลักประกัน สามารถออกตั๋วบี/อี ขายหุ้นกู้จำนวนมาก หุ้นมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี บริษัทมีกำไรทุกปี และจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ
แต่ตอนนี้ ไม่รู้ว่าเงินหายไปไหนหมด เจ้าหนี้ที่เป็นผู้ถือหุ้นกู้จะตามเงินคืนได้อย่างไร ติดตามตอนต่อไป