ความจริงความคิด : หุ้นกู้เบี้ยวหนี้ ต้องทำอย่างไร

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ปี 2567 ควรเป็นปีที่สดใสสำหรับการลงทุนในหุ้นกู้ เพราะอัตราผลตอบแทนในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก และแนวโน้มของดอกเบี้ยก็อยู่ในทิศทางขาลง ประกอบกับสภาพของเศรษฐกิจโลกก็น่าจะอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ แต่ภายใต้ภาพที่สวยงาม ประเทศไทยเราก็เริ่มต้นปีด้วยข่าว ITD ประกาศขอเลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้ ทุกรุ่นออกไปอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งมีมูลค่ารวมกันกว่า 14,455 หมื่นล้านบาท เพียงแต่ระหว่างทาง ITD จะยังคงจ่ายดอกเบี้ยตามปกติ พร้อมกับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้ถือหุ้นอีก 0.25-0.5% ต่อปี แถมข้อมูลจาก ThaiBMA ระบุว่า หุ้นกู้ครบกำหนดในปี 2567 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 890,908 ล้านบาท ในจำนวนนี้

90% เป็นหุ้นกู้ในกลุ่ม Investment grade 791,322 ล้านบาท
10% เป็นหุ้นกู้ในกลุ่ม High Yield (Below investment grade) และหุ้นกู้ของบริษัทที่ไม่ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Non-rated) มูลค่า 99,586 ล้านบาท

    1. o 50% ที่ไม่มีปัญหาเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

 

    o 50% มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

ความหมายของหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ คือการที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยได้ตามวันเวลาที่กำหนด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ส่งผลให้นักลงทุนในฐานะเจ้าหนี้ สูญเสียเงินต้นและดอกเบี้ยบางส่วนหรือทั้งหมด หมายความว่า ผิดจำนวนเงิน คือ จ่ายเงินต้น หรือ ดอกเบี้ยไม่ครบ หรือ ผิดเวลา คือ จ่ายเงินต้นหรือดอกเบี้ยไม่ตรงเวลา ก็ถือว่า “ผิดนัดชำระหนี้” ทั้งหมด

และหากหุ้นกู้ที่ที่เราลงทุนอยู่ผิดนัดชำระหนี้ สิ่งที่เราควรทำเพื่อรักษาเงินลงทุนของเราให้มากที่สุด คือ

1. ตรวจสอบข้อกำหนดของหุ้นกู้
จริงๆแล้วเราควรตรวจสอบข้อกำหนดของหุ้นกู้ก่อนที่เราจะซื้อ แต่หลายครั้ง เรามักจะดูเฉพาะดอกเบี้ยว่าให้ดอกสูงหรือไม่ โดยมองข้ามความเสี่ยงของหุ้นกู้ไป ทั้งที่ “หุ้นกู้ที่ยิ่งให้ดอกเบี้ยสูง มักจะมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงด้วย” ข้อมูลของหุ้นกู้ที่เราควรตรวจสอบมี ดังต่อไปนี้

ข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ อาทิเช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการชำระหนี้ และหลักประกัน

ข้อมูลลำดับการชำระหนี้ เพื่อทราบถึงลำดับที่นักลงทุนจะได้รับการชำระหนี้คืนในกรณีที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย อาทิเช่น

    1. หุ้นกู้มีประกัน คือ หุ้นกู้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ โดยผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ตามสินทรัพย์หลักประกันเหนือเจ้าหนี้รายอื่น

หุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ คือ หุ้นกู้ที่ไม่ได้กำหนดให้มีหลักประกันในการชำระหนี้คืน โดยผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้เท่ากับเจ้าหนี้สามัญทั่วไป

หุ้นกู้ไม่มีประกันและด้อยสิทธิ คือ หุ้นกู้ที่ไม่ได้กำหนดให้มีหลักประกันในการชำระหนี้คืนและผู้ถือมีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ในอันดับหลังจากเจ้าหนี้สามัญ แต่จะมีสิทธิ์สูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์และหุ้นสามัญในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออก

หุ้นสามัญ คือ ผู้ถือหุ้นซึ่งเปรียบได้กับเจ้าของกิจการมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นลำดับสุดท้าย
นักลงทุนสามารถค้นหา ข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ และ ข้อมูลลำดับการชำระหนี้รวมถึงข้อมูลอื่นๆของหุ้นกู้ได้จากทางแอปพลิเคชัน SEC Bond Check หรือ เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต

2. ติดตามข่าวสารจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (Bond หรือ Debenture Holder Representative) เป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นกู้ในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ควรติดตามข่าวสารจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อย่างใกล้ชิดเพื่อทราบถึงการดำเนินการต่างๆ ที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้กำลังดำเนินการ
โดยหน้าที่หลักของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ประกอบไปด้วย

ประสานงานกับผู้ออกหุ้นกู้เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะประสานงานกับผู้ออกหุ้นกู้เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ โดยอาจหารือแนวทางการแก้ไขหนี้ด้วยการขยายเวลาชำระหนี้ หรือขอความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินหรือหน่วยงานรัฐ

เรียกร้องให้ชำระหนี้
ในกรณีที่การเจรจากับผู้ออกหุ้นกู้ไม่เป็นผล ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะทำการเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา โดยอาจส่งหนังสือทวงถามหรือดำเนินการฟ้องร้องคดี

บังคับหลักประกัน
ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้มีหลักประกัน เช่น สินทรัพย์หรือเงินสด ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อาจดำเนินการบังคับหลักประกันเพื่อนำเงินมาใช้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้

ดำเนินคดีกับผู้ออกหุ้นกู้
ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อาจดำเนินคดีกับผู้ออกหุ้นกู้เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้
โดยชื่อของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะระบุอยู่ใน factsheet ซึ่งนักลงทุนสามารถค้นหาได้จากทางแอปพลิเคชัน SEC Bond Check หรือ เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต

3. เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นกู้
ผู้ถือหุ้นกู้ควรเข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ที่จัดขึ้นโดยผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อให้ทราบถึงการดำเนินการต่างๆที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้กำลังดำเนินการ ทั้งนี้ ควรศึกษาเอกสารการประชุมอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงมติเพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ให้มากที่สุด

4. พิจารณาดำเนินการฟ้องร้องผู้ออกหุ้นกู้
ในกรณีที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ เพื่อเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ ผู้ถือหุ้นกู้อาจพิจารณาดำเนินการฟ้องร้องผู้ออกหุ้นกู้เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายด้วยตัวเอง

แต่ถึงแม้จะดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้ก็ตาม โอกาสที่เราจะได้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืน 100% ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย “การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ปัญหา” ทางที่ดีควรศึกษาข้อมูลหุ้นกู้ก่อนลงทุน ตามคำเตือนของสำนักงาน ก.ล.ต. :

ก่อนตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ออกตราสารหนี้ และเงื่อนไขของตราสารหนี้ รวมทั้ง ความเหมาะสมในการลงทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี

ขอบคุณข้อมูลจาก investree (https://www.investree.co.th/knowledge-hub-detail/what-to-do-bond-investment-defaults)