เดือนเม.ย.ของแพงขึ้น 1%

เงินเฟ้อเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 1.07% รวม 4 เดือนเฉลี่ย 0.75% ผลจากราคาน้ำมันแพง ผัก ผลไม้ขึ้น ส่วนการบริโภค การลงทุนทั้งของรัฐและเอกชนยังดีต่อเนื่อง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย.2561 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 101.57 ขยายตัว 1.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเทียบเดือนก่อนหน้า มี.ค. ขยายตัว 0.45% รวมเงินเฟ้อ 4เดือน(ม.ค.-เม.ย.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.75%

ส่วน Core CPI อยู่ที่ 101.78 ขยายตัว 0.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.03 % จากเดือน มี.ค..61

“เงินเฟ้อเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 14 เดือน ส่วน 4 เดือนเพิ่มขึ้น 0.75% อยู่ในกรอบคาดการณ์ปีนี้ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 0.7-1.7% สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาจากราคาพลังงาน, การลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรบางตัว และกำลังการบริโภคเฉลี่ยของประชาชนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่ต้นทุนราคาสินค้าอุตสาหกรรมโดยรวมยังชะลอตัว สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านการใช้จ่าย การลงทุน และต้นทุนการผลิต ซึ่งชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อมาจากความต้องการใช้จ่ายและการลงทุนมากกว่าด้านต้นทุนและการผลิต”น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในเดือนเม.ย. จากทั้งหมด 422 รายการที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อทั่วไป พบว่า สินค้า 239 รายการมีราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเจ้า, ขนมปังปอนด์, ผักสด, ผลไม้สด, กุ้งขาว, ก๊าซหุงต้ม, ค่า ไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงมี 112 รายการ เช่น เนื้อสุกร, ไก่สด, ไข่ไก่, ข้าวสารเหนียว, น้ำยาล้างห้องน้ำ, สบู่ และน้ำปลา เป็นต้น ในขณะที่มีสินค้าอีก 71 รายการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง

ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ สะท้อนว่าการบริโภคและการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชนยังอยู่ในระดับที่ดี ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2561 ไม่พบว่าส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในเดือนเม.ย.ให้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า จากมาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีผู้มีสิทธิราว 11.4 ล้านคนจากทั่วประเทศ พบว่าสามารถช่วยลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในกลุ่มดังกล่าวลงได้ 7.2%