ก.ล.ต.ฟันก๊วนปั่นหุ้น FVC-NMG-EIC-TH สมัย’รพี-รื่นวดี’ ก่อนหมดอายุความ

HoonSmart.com>> ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 13 ราย ต่อ บก.ปอศ. กรณีสร้างราคา-ปริมาณซื้อขายหุ้น “บริษัท ฟิลเตอร์” วิชั่น (FVC) ช่วง 25-31 ส.ค.และ 19-21 ต.ค.58 พร้อมแจ้งดำเนินคดีต่อปปง.เพื่อตรวจเส้นทางการเงิน นอกจากนี้ยังลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 9 ราย สร้างราคาหุ้น NMG-EIC-TH ช่วงปี 60 สั่งปรับรวม 33.68 ล้านบาท สั่งห้ามซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า , ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร คาดก.ล.ต.จะมีการกล่าวโทษอีกหลายคดีที่คั่งค้างมานานสมัย รพี สุจริตกุล-รื่นวดี สุวรรณมงคล เป็นเลขาธิการก.ล.ต. ก่อนที่จะหมดอายุความ 10 ปี

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติม กรณีพบพยานหลักฐานน่าเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้กระทำความผิดจำนวน 13 ราย ได้แก่ (1) นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย (2) บริษัท นิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) (ปัจจุบันชื่อบริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ -GLOCON) (3) นางสาวทิพรัตน์ สาครสุขศรีฤกษ์ (4) นางสาวรินนภา คุณะวัฒน์สถิตย์ (5) นายวัฒนา สวัสดิ์ทอง (6) นายดนุช บุนนาค (7) นายประพล มิลินทจินดา (8) นางกิ่งกาญจน์ สมิตานนท์ (9) บริษัท พี-แซท คอร์ปอเรชั่น (P-SAT) (10) นายอนุพนธ์ ศรีอาจ (11) นายกิจจพัฒน์ อิทธิฤทธานนท์ (12) นางอนัญญา เรืองศักดิ์วิชิต และ (13) นายนัฐพล เฉลิมพจน์

ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างกันได้เข้ามาซื้อขายหุ้น FVC และมีพฤติกรรมการซื้อขายในลักษณะรู้เห็นหรือตกลงกัน โดยแบ่งหน้าที่กันส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น FVC สอดรับและสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ราคาและปริมาณการซื้อขายของหุ้น FVC ผิดไปจากสภาพปกติ ในช่วงระหว่างวันที่ 25 – 31 ส.ค. 2558 (รวม 5 วันทำการ) และวันที่ 19 – 21 ต.ค. 2558 (รวม 3 วันทำการ) ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดว่าขณะนั้นมีความต้องการซื้อขายหุ้น FVC ในปริมาณมากและเข้ามาซื้อขายตาม จึงเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 244 และมาตรา 243(2) ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นความผิดตามมาตรา 244/3 และมีระวางโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559

นอกจากนี้ การกระทำของนายอนุพนธ์ ในฐานะผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลที่บริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี  (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ ) ซึ่งมีอำนาจสั่งซื้อขายในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล ได้ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น FVC ในลักษณะการสร้างราคาในช่วงเวลาดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้มอบหมายให้จัดการกองทุนส่วนบุคคลโดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 134 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบมาตรา 133 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ รวมทั้งกรณีของนายประพล ที่ไม่รายงานการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหุ้น FVC ข้าม 5% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด ยังเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ อีกด้วย

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติกรรมของกลุ่มผู้กระทำความผิดมีรูปแบบของการกระทำเป็นขบวนการ มีลักษณะแบ่งหน้าที่ในการส่งคำสั่งซื้อขายเพื่อสร้างราคาหุ้น FVC ประกอบกับผู้กระทำความผิดหลายรายในกรณีนี้ ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบการกระทำผิดในหลายกรณีต่อเนื่องกันทั้งที่เป็นการทุจริตและการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลดังกล่าวแล้วในหลายกรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษกลุ่มผู้กระทำความผิดทั้ง 13 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เนื่องด้วยเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์  และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าระหว่างเดือนม.ค. – มี.ค. 2560 กลุ่มผู้กระทำความผิด 9 ราย ได้แก่ (1) นายยรรยงค์ อินทรสงเคราะห์ (2) นายภาณุรักษ์ แสงอร่าม (3) นายเอกวิชญ์ กมลเทพา (4) นายศิร์วสิษฏ์ สายน้ำผึ้ง (5) นางสาวกรรณิดา ตั้งกิจตรงเจริญ (6) นายภควันต์ วงษ์โอภาสี (7) นายกรวิช อัศวกุล (8) นางสาวกัญจนารัศม์ วงศ์พันธุ์ และ (9) นางมะลิวัลย์ วงศ์ชินศรี ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และ/หรือมีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลโดยตรง หรือเชื่อมโยงกันผ่านบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันส่งคำสั่งซื้อขาย หุ้นของบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ (EIC) และบริษัท ตงฮั้ว โฮลดิ้ง (TH) แล้วแต่กรณี

โดยส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ที่สอดรับและสนับสนุนกันในลักษณะของการผลักดันราคา การจับคู่ซื้อขายระหว่างกัน หรือการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะขัดขวางการซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่น ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์และส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกัน โดยมุ่งหมายให้ราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

1. กรณีสร้างราคาหุ้น NMG ระหว่างวันที่ 30 ม.ค. – 2 ก.พ. 2560 ผู้กระทำความผิด รวม 8 ราย ได้แก่ นายยรรยงค์ นายภาณุรักษ์ นายเอกวิชญ์ นายศิร์วสิษฏ์ นางสาวกรรณิดา นายภควันต์ นายกรวิช และนางสาวกัญจนารัศม์ ได้ร่วมกันกระทำการโดยมีผลทำให้ราคาและปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

2. กรณีสร้างราคาหุ้น NMG ระหว่างวันที่ 21 – 24 ก.พ. 2560 ผู้กระทำความผิด รวม 7 ราย ได้แก่ นายยรรยงค์ นายภาณุรักษ์ นายเอกวิชญ์ นายศิร์วสิษฏ์ นางสาวกรรณิดา นายภควันต์ และนางสาวกัญจนารัศม์ ได้ร่วมกันกระทำการโดยมีผลทำให้ราคาและปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

3. กรณีสร้างราคาหุ้น EIC ระหว่างวันที่ 14 – 15 มี.ค.2560 ผู้กระทำความผิดรวม 7 ราย ได้แก่ นายยรรยงค์ นายภาณุรักษ์ นายเอกวิชญ์ นางสาวกรรณิดา นายภควันต์ นางสาวกัญจนารัศม์ และนางมะลิวัลย์ ได้ร่วมกันกระทำการโดยมีผลทำให้ราคาและปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

4. กรณีสร้างราคาหุ้น EIC ในวันที่ 31 มี.ค. 2560 ระหว่างเวลา 10.13.32 – 11.20.59 น. ผู้กระทำความผิดรวม 7 ราย ได้แก่ นายยรรยงค์ นายภาณุรักษ์ นายเอกวิชญ์ นางสาวกรรณิดา นายภควันต์ นางสาวกัญจนารัศม์ และนางมะลิวัลย์ ได้ร่วมกันกระทำการโดยมีผลทำให้ราคาและปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

5. กรณีสร้างราคาหุ้น TH ในวันที่ 24 มี.ค. 2560 ระหว่างเวลา 11.48.21 -14.29.33 น. ผู้กระทำความผิดรวม 6 ราย ได้แก่ นายยรรยงค์ นายภาณุรักษ์ นายเอกวิชญ์ นางสาวกรรณิดา นายภควันต์ และนางสาวกัญจนารัศม์ ได้ร่วมกันกระทำการโดยมีผลทำให้ราคาและปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

การกระทำของบุคคลดังกล่าวเป็นความผิดฐานสร้างราคาหุ้น NMG EIC และ TH ตามมาตรา 244/3(1)(2) ประกอบมาตรา 244/5(2)(3)(5) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 296 มาตรา 296/1 และมาตรา 296/2 และมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา 317/4 และมาตรา 317/5 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 9 ราย โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่

ก. ให้ผู้กระทำความผิดชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด ดังนี้ นายยรรยงค์ จำนวน 7,737,658 บาท นายภาณุรักษ์ จำนวน 3,202,885 บาท นายเอกวิชญ์ จำนวน 3,201,066 บาท นายศิร์วสิษฏ์ จำนวน 3,919,807 บาท นางสาวกรรณิดา จำนวน 4,265,567 บาท นายภควันต์ จำนวน 3,489,821 บาท นายกรวิช จำนวน 506,704 บาท นางสาวกัญจนารัศม์ จำนวน 5,048,305.50 บาท และนางมะลิวัลย์ จำนวน 2,305,324 บาท

ข. ห้ามผู้กระทำความผิดจำนวน 6 ราย ได้แก่ นายยรรยงค์ นายภาณุรักษ์ นายเอกวิชญ์ นางสาวกรรณิดา นายภควันต์ และนางสาวกัญจนารัศม์ ซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลารายละ 30 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลารายละ 60 เดือน ห้ามผู้กระทำความผิดจำนวน 2 ราย ได้แก่ นายศิร์วสิษฏ์ และนางมะลิวัลย์ ซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลารายละ 28 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลารายละ 56 เดือน และห้ามผู้กระทำความผิดรายนายกรวิช ซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 14 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลา 28 เดือน

มาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนดตาม ข. จะมีผลเมื่อผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หรือเมื่อครบกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารตามคำสั่งของ ก.ล.ต. ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กจ. 3/2560* แล้วแต่กรณี หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด

ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง

สำหรับการกล่าวโทษครั้งนี้ คดี FVC  มีการติดตามตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานมาตั้งแต่สมัยที่นาย รพี สุจริตกุล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการก.ล.ต. ซึ่งการกระทำความผิดเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ส่วนคดี NMG,EIC และ TH ดำเนินการตรวจสอบในสมัย น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เป็นเลขาธิการ พบการกระทำความผิดเกิดขึ้นในปี 2560  ทั้งนี้ ก.ล.ต.มีเรื่องอยู่ในมือจำนวนมาก คาดว่าจะต้องมีการลงโทษตามมาอีกหลายคดี  เพราะจะต้องเร่งดำเนินการก่อนที่จะหมดอายุความ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้  10 ปี