ส่องผลตอบแทน “กองทุนหุ้น” ปี 66 “กลุ่มเทค” นำโด่ง “หุ้นไทย” รั้งท้าย

HoonSmart.com>> ส่องผลงานแชมป์กลุ่มกองทุนหุ้น สร้างผลตอบแทนสูงสุดรอบปี 66 “กองทุนหุ้นเทคโนโลยีทั่วโลก” ผลงานโดดเด่น 218% รองลงมา “กองทุนทุนสหรัฐ” 58.29% ด้านหุ้นไทยรั้งท้าย กลุ่ม “กองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก” ทำได้สูงสุด 2.32% “กองทุนหุ้นขนาดใหญ่” ติดลบ -0.33%

“HoonSmart” สำรวจผลตอบแทน “กองทุนหุ้น” ในแต่ละนโยบายการลงทุนรอบปี 66 กองทุนหุ้นต่างประเทศสร้างผลตอบแทนโดดเด่น ทิ้งห่างกองทุนหุ้นไทยค่อนข้างมาก โดยกองทุนที่สร้างผลตอบแทนสูงสุดในแต่ละประเภทกองทุน ข้อมูล ณ 28 ธ.ค.2566 จากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) พบ กลุ่มหุ้นเทคโนโลยีทั่วโลก โดยกองทุนเปิดแอสเซทพลัส ดิจิทัล บล็อกเชนเพื่อการออม (ASP-DIGITBLOC-SSF) สร้างผลตอบแทนสูงสุด 218%

กองทุนหุ้นสหรัฐ โดยกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Innovation (ชนิดเพื่อการออมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) SCBINNO (SSFE) ผลตอบแทนสูงสุดในกลุ่มอยู่ที่ 58.29% กองทุนหุ้นทั่วโลก กองทุนเปิดธนชาต อีสท์สปริง (T-ES-GINNO) ผลตอบแทน 57.39% กองทุนหุ้นญี่ปุ่น โดยกองทุนเปิดกรุงศรีเจแปนอิควิตี้อินเด็กซ์ เฮดจ์ฟันด์เอฟเอ็กซ์-ผู้ลงทุนสถาบัน (KFJPINDX-I) ผลตอบแทน 47.24% กองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ กองทุนเปิดเคดับบลิวไอ อิเมอร์จิ้ง อีสเทอร์น ยุโรป เอฟไอเอฟ (KWI EE EURO) ผลตอบแทน 47.22%

กองทุนหุ้นยุโรป โดยกองทุนเปิดกรุงศรียุโรปอิควิตี้ (KF-EUROPE) ผลตอบแทน 23.05% กองทนหุ้นเอเชีย แปซิฟิก ไม่รวมญี่ปุ่น กองทุนเคดับบลิวไอ เอเชียน สมอลแคป อิควิตี้ เอฟไอเอ (KWI ASIAN SM) ผลตอบแทน 17.57% กองทุนหุ้นอาเซียน กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม ไทย ออพเพิร์ทูนิตี้ ชนิดผู้ลงทุนพิเศษ (PRINCIPAL VTOPP-X) ผลตอบแทน 16.49%

กองทุนหุ้นเวียดนาม กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ ชนิดผู้ลงทุนพิเศษ (PRINCIPAL VNEQ-X) ผลตอบแทน 14.35% กองทุนหุ้นเฮลธ์แคร์ กองทุนเปิดทิสโก้ Genomic Revolution (TGENOME) ผลตอบแทน 13.20% กองทุนหุ้นจีน กองทุนเปิดยูโอบี สมาร์ท เกรธเธอร์ ไชน่า (UOBSGC) ผลตอบแทน 3.59% กองทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็ก กองทุนเปิดแอสเซทพลัส ไทย ท็อป 12 (ASP-T12) ผลตอบแทนดีสุด 2.32% ขณะที่กองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ กองทุนเปิดทิสโก้ ไฮ ดิวิเดนด์ หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (THDRMF) ผลตอบดีสุด -0.33%

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดการลงทุนจบปี 2566 ค่อนข้างสวยงาม ถึงแม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง เกิดเหตุการณ์วุ่นวายหลังธนาคาร SVB ล้ม และสงครามอิสราเอล-ฮามาส แต่อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง

สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงในปีที่ผ่านมา นำโดยตลาดหุ้น โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 20% ตามด้วยหุ้นกู้ความเสี่ยงสูง (High yield bond) กองทรัสต์อสังหาฯ (REIT) และทองคำ ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงมากกว่า 10% สวนทางกับราคาน้ำมัน ตลาดหุ้นไทยและจีน ซึ่งติดลบกว่า -10%

ตลาดการลงทุนในปีนี้ มองว่าปัจจัยขับเคลื่อนหลักยังเป็นเศรษฐกิจและนโยบาย เงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลง ธนาคารกลางหลายประเทศจะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่มีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น เพราะเป็นปีที่น่าจะชี้ขาดว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะ Recession หรือไม่ และมีการเลือกตั้งผู้นำในหลายประเทศสำคัญ

อย่างไรก็ตามไม่ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ Recession หรือไม่ หรือใครจะมาเป็นผู้นำ มีปัจจัยหนึ่งที่ค่อนข้างแน่นอน คือ แนวโน้มดอกเบี้ยที่ลดลง แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากขาลงของดอกเบี้ย และมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล กองทรัสต์อสังหาฯ และหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรตติ้งในกลุ่มน่าลงทุน (Investment Grade)