BBL โมเดลเจ๋ง หนุนกำไรโตยาว SCB-KBANK รอปรับตัว ลูกค้าแก้หนี้

HoonSmart.com>>นักวิเคราะห์แห่เชียร์ซื้อหุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) ให้เป้าหมายมากกว่า 200 บาท ชื่นชอบโมเดลธุรกิจเบอร์ 1 ลูกค้ารายใหญ่และธุรกิจต่างประเทศ หนุนกำไรเติบโตโดดเด่นในปี 2566 ที่ผ่านมา และต่อเนื่องในปี 2567  ได้ธนาคารเพอร์มาตาร์ อินโดนีเซียมาช่วยต่อยอดธุรกิจและเสริมเชี้ยวเล็บตลาดใหญ่ต่างประเทศ แต่ยังต้องขยายตลาดใหม่ๆ สร้างสมดุล เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม ขยายพอร์ตลูกค้าขนาดกลาง รายเล็กและเอสเอ็มอี รองรับแผนรัฐบาลเร่งแก้หนี้คนไทย 

ส่วนธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เดินสายกลางโมเดลธุรกิจระหว่างธนาคารกรุงเทพ และค่ายไทยพาณิชย์ เพิ่มการซื้อหุ้นธนาคารแมสเปี้ยน ประเทศอินโดนีเซีย ขยายธุรกิจดิจิทัลและลงทุนสตาร์ทอัพ ขณะที่บริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ยานแม่ ลูกๆอยู่ระหว่างการขยายธุรกิจ ยังต้องใช้เวลาสร้างการเติบโต ส่วนหนึ่งได้รับผลลบจากหนี้ครัวเรือนสูง SMEs การลงทุนในสตาร์ทอัพก็จะต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และรัฐบาล ต่างให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ แต่ไม่เร็วและไม่ง่าย  หากปลดล็อกได้เมื่อไร เชื่อว่าทั้งค่าย SCB และกสิกรไทยจะมีกำไรที่ดีขึ้นมาก

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำซื้อ BBL ธนาคารที่มีกำไรโตสูงสุดในปี 2566 คาดว่าทำได้ทั้งสิ้น 4.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.3% เทียบกับปี 2565 มีกำไรเติบโตสูงที่สุดในกลุ่ม ส่วนปี 2567 คาดว่าจะเติบโต 8.5% เป็น 4.8 หมื่นล้านบาท คงราคาพื้นฐาน 190 บาท

“BBL เป็นธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านสินเชื่อรายใหญ่ คิดเป็นสัดส่วน 44% ของสินเชื่อทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะมีผลตอบแทนต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่นแต่ก็มีความเสี่ยงต่ำกว่า และมีสินเชื่อต่างประเทศสูง คิดเป็น 25% ซึ่งจะช่วยในการเติบโตของสินเชื่อโดยรวม นอกจากนี้ BBL ยังเป็นธนาคารที่รับความเสี่ยงได้มากจากการมีสัดส่วนสำรองต่อ NPL สูงที่สุด ถึง 258% เทียบค่าเฉลี่ยของกลุ่มอยู่ที่เพียง 168% “บล.ฟิลลิประบุ

ส่วน SCB ยังแนะนำซื้อ เพราะคงเป็นธนาคารที่มีสินเชื่อเติบโตมากที่สุดในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ คาดไตรมาสที่ 4/2566 มีกำไร 9,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่กำไรจะลดลง 6.1%จากไตรมาสที่ 3 เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่มักจะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี รวมทั้งปีกำไรทั้งสิ้น 4.2  หมื่นล้านบาท เติบโต 10.8% และในปี 2567 คาดว่าการตั้งสำรองจะลดลง ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นอีก 13.3% เป็น 4.7 หมื่นล้านบาท ยังคงราคาพื้นฐานไว้ที่ 114 บาท อาจจะเหลือส่วนต่างจากราคาหุ้นในปัจจุบันไม่มาก แต่ปันผลยังคงโดดเด่นเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ คาดปี 2566  จะมีการจ่ายปันผล 7.42 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 7% และเพิ่มเป็น 8.31 บาท/หุ้นในปี 2567 หรือผลตอบแทน 7.8%

“การปรับโครงสร้างธุรกิจมาเป็นโฮลดิ้ง ทำให้ SCB มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจ และมีโอกาสเติบโต ถึงแม้ว่าจะทำได้ช้ากว่าที่คาดหวังไว้ก่อนหน้า แต่คาดว่ารายได้จากธุรกิจนอกเหนือธุรกิจธนาคารจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ”

ด้านบล.ทิสโก้ คงคำแนะนำซื้อ BBLและ SCB ให้มูลค่าที่เหมาะสม 195 และ 122 บาท ส่วนธนาคารอื่นๆปรับประมาณการเหลือเพียง “ถือ” คาดธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2567 มีแนวโน้มลดลง หน่วยงานกำกับดูแลอาจต้องการให้แบงก์รักษาฐานเงินทุนที่สูงไว้ได้ เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงด้านลบรอบๆด้าน และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ทรงตัว ไม่สามารถรองรับผลประกอบการอีกต่อไป  เนื่องจากต้นทุนเงินทุนที่เพิ่มขึ้นผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะประจำ (40% ของฐานเงินฝากของภาคส่วน) จะสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อ NIM จะอ่อนตัวลงเหลือ 3.3%แต่จะลดลงมากเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความเร็วในการเปลี่ยนรูปแบบสินเชื่อให้ผลตอบแทนสูงกว่าได้  รวมถึงรายได้สินเชื่อและค่าธรรมเนียม การลดต้นทุนเพิ่มเติมนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากใช้จ่ายด้านไอทีก็เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลยังคงดำเนินต่อไป

นอกจากนี้คาดว่า Credit cost จะทรงตัวและถือเป็นความเสี่ยงหลัก คาดว่าจะทรงตัว ส่วนเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่สถานการณ์ปกติ

“เราเห็นหุ้นแบงก์บางตัวที่มีตัวกระตุ้นที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับผลตอบแทนที่น่าพอใจได้ หนึ่งในนั้นคือ BBL แม้ว่า NIM ควรจะเป็นไปตามแนวโน้มของภาคส่วนและลดลง แต่งบดุลที่แข็งแกร่งจะช่วยลดผลกำไรได้ SCB ในระดับปัจจุบันก็ดูน่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูง สำหรับ KBANK กระบวนการปรับงบดุลอย่างต่อเนื่องน่าจะจำกัดส่วนต่างของกำไร KTB น่าจะเห็น NIM ตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน ไม่เพียงแต่จากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น แต่ยังรวมถึงสินเชื่อภาครัฐด้วย ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงน่าจะช่วยลดการกลับตัวของหุ้น เช่นเดียวกับ KBANK,BAY ได้รับผลกระทบจากปัญหาคุณภาพสินทรัพย์
โดยเฉพาะจากการดำเนินงานในต่างประเทศ ทั้งนี้ KKP เป็นอีกหนึ่งธนาคารที่ต้องการเวลามากขึ้นในการแก้ไขปัญหา NPL ที่เพิ่มขึ้น”

ส่วนในปี 2566 ที่ผ่านมา ไม่ใช่ปีที่ดีสำหรับหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ลดลง 3% ยังคงเป็นกลุ่มที่มีผลงานดีที่สุดแซงหน้า SET ถึง 12% แต่ภายในกลุ่มมีผลการดำเนินงานที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มที่เห็นว่าคุณภาพสินทรัพย์ด้อยลง (KBANK, SCB, KKP) และกลุ่มที่ไม่ด้อยลง(BBL, KTB, TTB) อย่างไรก็ตาม ธนาคารทุกแห่งมีการเติบโตที่ดี โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของอัตรากำไรสุทธิ(NIM) ดังนั้นการลงทุนในปี 2567 ผู้ลงทุนจึงต้องเลือกสรรและระมัดระวังต่อราคาหุ้นของกลุ่ม เชื่อว่าตลาดอาจประเมินแนวโน้ม NIM ไว้สูงเกินไป และเมื่อ NIM เริ่มลดลง ก็ควรนำไปสู่การปรับฐาน และความเสี่ยงเกี่ยวกับ NPL มีนัยสำคัญ รวมถึงการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจ อาจจำกัดการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจ รายได้ค่าธรรมเนียมจะยังคงอ่อนแอที่ 2.3%จึงคงคำแนะนำกลุ่มแบงก์ไว้ที่ NEUTRAL

บล.ดาโอมอง BBL ยังมีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินที่รองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าคู่แข่ง เพราะมี coverage ratio อยู่ในระดับสูงที่สุดในกลุ่มที่ 285% ขณะที่มองว่าราคาหุ้นมีโอกาส Outperform ได้เพราะในอดีตเมื่อระดับกำไรยืนเหนือ 1 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส ราคาหุ้นจะขึ้นไปซื้อขายที่ระดับเกิน 200 บาท ด้าน Valuation ยังน่าสนใจโดยเทรดที่ PBV เพียง 0.55 เท่า หรือที่ระดับ -1.25SD ย้อนหลัง 10 ปีเท่านั้น