“ผมไม่อยากให้นักลงทุนบอกว่าเราขายฝัน ปั่นราคาหุ้น และถ้ากำไรบริษัทโตปีละแค่ 10% แล้วคนไม่ให้ราคา (หุ้น) ก็ไม่เป็นไร เราทำธุรกิจให้แข็งแกร่ง มีผลกำไรโตต่อเนื่อง เป็นหุ้นปันผลดี ส่วนการขยายธุรกิจ เราไม่เคยหยุดยั้ง” ชาญกฤช เดชวิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ หรือ TMILL ให้สัมภาษณ์ HoonSmart.com หลังราคาหุ้น TMILL ร่วงลงแตะระดับ 3.30 บาทต่อหุ้นจากที่เคยสูงเกิน 6 บาทต่อหุ้น
ชาญกฤช ระบุว่า ปีนี้เป็นอีกปีที่มีความท้าทายอย่างมาก สำหรับธุรกิจโรงโม่แป้งสาลีของ TMILL ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิต 500 ตันต่อวัน มากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจาก บริษัท แหลมทองสหการ ทีมีกำลังผลิตอันดับสอง 750 ตันต่อวัน และบริษัท ยูไนเต็ด ฟลาวมิลล์ ที่มีกำลังผลิตอันดับหนึ่ง 1,000 ตันต่อวัน โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะสร้างกำไรเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่บริษัทมีกำไร 69.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรประมาณ 90 ล้านบาท
“ปกติแล้วเราตั้งเป้าโตปีละ 10% เป็นการเติบโตตามการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากปี 2560 ถือเป็นปีทอง ราคาข้าวสาลีพุ่งขึ้น เพราะภัยแล้ง ทำให้กำไรเราเติบโตผิดปกติเป็น 105.49 ล้านบาท ถ้าเราเอาเป้ากำไรปี 2560 เป็นตัวตั้ง ถือว่าเราโกหกตัวเอง แต่แน่นอนว่านักลงทุนมีความสุขกับกำไรที่ 105 ล้านบาทไปแล้ว ดังนั้น ปีนี้เรามาพบกันครึ่งทาง เราใช้ฐานกำไรปี 2559 คือ 70 ล้านบาท เป็นตัวตั้ง แล้วเราจะทำกำไรเพิ่มขึ้นให้ได้ 30%”ชาญกฤชกล่าว
ชาญกฤช กล่าวว่า ธุรกิจโรงโม่แป้งสาสีเป็นธุรกิจที่แข่งขันสูง จากโรงโม่แป้งสาลีเพื่อการค้า 10 โรงในประเทศ และโรงโม่แป้ง 7 ใน 10 โรง ร่วมมือกันแข่งขันกับ TMILL ที่รุกเข้าไปกินตลาดแป้งสาลีเพิ่มขึ้นทุกปี โดย TMILL มีจุดแข็งที่ทำให้แข่งขันกับโรงโม่แป้งสาลีอื่นๆ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวได้ อาทิ การมีต้นทุนโลจีสติกส์ที่ต่ำ เพราะโรงโม่แป้งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สมุทรปราการ มีไซโลเก็บข้าวสาลีระบบปิดที่ควบคุมคุณภาพวัตถุดิบได้ดี และมีต้นทุนการเงินต่ำกว่า
“อุตสาหกรรมแป้งสาลีในประเทศมี 10 โรง แต่มี 7 โรงที่เขาร่วมดูแลราคากันอยู่ ซึ่งไม่มีเรา เราก็ต้องตัดราคาสู้ เราเคยผ่านช่วงนั้นมาแล้ว แต่การตัดราคากัน ก็ทำร้ายกันเอง ผมแค่ขาดทุนกำไร และจนถึงตอนนี้สงครามราคายังมีอยู่ เพราะเขาเห็นผม (TMILL) โตเอาๆ เขาจะยอมให้เราแย่งลูกค้าของเขาเหรอ”ชาญกฤชระบุ
นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 ปีมานี้ TMILL ปรับทีมบริหารใหม่และมุ่งเน้นกระจายลูกค้าเพื่อลดความเสี่ยง จากเดิมที่คำสั่งซื้อแป้งสาลีกระจุกตัวอยู่กับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายเดียว 60% โดยปัจจุบัน TMILL มีลูกค้ากระจายอยู่ทุกสินค้าและอุตสาหกรรมต่างๆกว่า 200 ราย ทั้งผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป บะหมี่สด ขนมปัง บิสกิต และคุกกี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแบรนด์ชั้นนำที่ขายสินค้าทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบให้ผู้ผลิตเค้ก ซาลาเปา ปาท่องโก อาหารปลาและอาหารสุนัข
“จุดโฟกัสหลักปีนี้ เราจะเพิ่มการใช้กำลังผลิตโรงโม่แป้งให้ได้ 75% จากปีที่แล้วที่เราใช้กำลังการผลิตได้ 65% เท่านั้น และในปี 2563 เราตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 95-100% โดยจะเร่งหาลูกค้าใหม่ หาเค้กก้อนใหม่ และสร้างตลาดใหม่ โดยไม่มีนโยบายผลิตสินค้าแข่งขันกับลูกค้าเดิมของเรา ซึ่งผมกำลังมองถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม ผมอยากขยายสู่ปลายน้ำ โดยจะควบรวมกิจการกับผู้ผลิตในธุรกิจอาหาร หลังจากพลาดไปเมื่อ 1-2 ปีก่อน”ชาญกฤชกล่าว
ชาญกฤช กล่าวว่า ธุรกิจโรงโม่แป้งสาลีมีความเสี่ยงอยู่ 2 เรื่อง คือ ความเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบ และความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยในส่วนความเสี่ยงของราคาวัตถุดิบนั้น TMILL มีโซโลที่สต็อกข้าวสาลีได้ 4 เดือน แต่หากประเมินแล้วว่าราคาข้าวสาลีแนวโน้มขาขึ้น เช่น ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีการคาดว่าราคาข้าวสาลีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก จากในช่วงครึ่งปีแรกที่ราคาเพิ่มขึ้นแล้ว 10-20 เหรียญต่อตัน ทาง TMILL สามารถสต็อกวัตถุดิบได้นานกว่า 4 เดือน
ชาญกฤช ยอมรับว่า ธุรกิจโรงโม่แป้งสาลีในไทยเป็นธุรกิจที่ขยายหรือส่งออกไปต่างประเทศยาก และต้องพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก เพราะหากเปรียบเทียบกำลังการผลิตของผู้ผลิตในไทยกับผู้ผลิตในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ผลิตในจีน จะพบว่าต้นทุนของจีนต่ำกว่ามาก เนื่องจากจีนปลูกข้าวสาลีได้เองทำให้ต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้า อีกทั้งกำลังการผลิตต่อโรงของจีนสูงมาก จนเรียกได้ว่าโรงโม่แป้งของ TMILL กำลังการผลิต 500 ตันต่อวัน กลายเป็นรายเล็กไปเลย
“เราเป็นหุ้นปันผลดี อย่างปีที่แล้วเราปันผล 18 สตางค์ต่อหุ้น คิดเป็น 60% ของกำไร และ TMILL เป็นหุ้นปันผลดี 3 ปีซ้อนแล้ว”ชาญกฤชกล่าวสรุปเมื่อถามถึงนิยามของบริษัท