HoonSmart.com>>10 วัน มีผู้เสียชีวิต 436 ราย บาดเจ็บอีก 2,376 คน หลักๆ จากขับรถเร็ว,ตัดหน้ากระชั้นชิด,เมาแล้วขับ เรื่องร้ายๆ ที่สังคมไทยเมิน?
ในทุกๆ ปีช่วงเทศกาลปีใหม่ คนไทยที่เดินทางช่วง 10 วัน จะมีคนตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เกินกว่าปีละ 300 คน
“ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568”ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ได้สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ตลอด 10 วัน ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2568
พบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุ รวม 2,467 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 436 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,376 คน
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด,ตัดหน้ากระชั้นชิด,ดื่มแล้วขับ และรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 82.67%
สังคมไทย อาจมองว่า คนตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงปีใหม่ เป็นเรื่องปกติไปแล้ว เมื่อเทียบกับจำนวนผู้คนที่เดินทางระดับหลักล้านคน แต่เป็นความเจ็บปวดของครอบคร้วผู้ตาย
แม้จะมีการรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัย การบังคับให้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ พ.ร.บ. แต่ผู้คนยังไม่สำเหนียกเท่าที่ควร
เห็นได้จากสถิติบริษัทกลาง คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพบว่า ผู้เสียชีวิต 436 ราย มีผู้ได้รับความคุ้มครองจากรถคันที่เกิดเหตุมีประกันภัย พ.ร.บ. 66 %
คนที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันภัย พ.ร.บ. เนื่องจากรถคันที่เกิดเหตุไม่พบการมีประกันภัย พ.ร.บ. อีก 34%
นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่รู้สิทธิและมีการรายงาน ยังมีคนที่ห่างไกล ที่ไม่ทราบว่าเมื่อถูกรถชนแล้ว สามารถเรียกร้องสิทธิจากประกันภัย พ.ร.บ.อีกจำนวนมาก
สำหรับ สิทธิตามกฎหมาย เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากรถที่มีประกันภัย พ.ร.บ. ทายาท หรือผู้เสียสามารถเรียกร้องได้ ประกอบด้วย
-กรณีเสียชีวิต ทายาทจะได้รับ 500,000 บาทต่อราย
-กรณีบาดเจ็บ เบิกค่ารักษาพยาบาลตามจริง สูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน
-กรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพพิการถาวร รับค่าเสียหายตั้งแต่ 200,000 ถึง 500,000 บาทต่อคน
-กรณีเป็นผู้ป่วยในเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาล จะได้รับความคุ้มครองเป็นค่าชดเชย วันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน
ส่วน คนขับรถที่มีประกันภัย พ.ร.บ. จะได้รับการชดใช้เพียงค่าเสียหายเบื้องต้นจากบริษัทที่รับประกันภัยรถของตน เท่านั้น
ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายถูก มีสิทธิไปเรียกร้องเอาจากฝ่ายผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายผิดที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งผู้ทำผิดอาจจ่ายมากกว่า 5 แสนบาท
การทำประกันภัย พ.ร.บ. ไม่เพียงทำตามกฎหมายเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดคือ เป็นหลักประกันให้กับผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันท่วงที เพราะมีประกันภัยพร้อมจ่ายค่ารักษาพยาบาล และช่วยดูแลค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย
เรียบเรียงโดย วารุณี อินวันนา