เชียร์ CPALL ดีเกินคาด กำไรสดใสถึงปี 63

นักวิเคราะห์แนะนำซื้อ CPALL ดีบีเอสฯให้เป้าหมาย 83 บาท เคทีบีตีมูลค่า 85 บาท คาดแนวโน้มกำไรเติบโตอย่างน้อย 2 ปี ฟิทช์ คงอันดับเครดิตที่ A ห่วงแบกค่าใช้จ่ายสูงเกินคาดจากการขยายการลงทุนของ MAKRO

นักลงทุนยังคงให้ความสนใจซื้อขายหุ้น บริษัท ซีพีออลล์ (CPALL) เช้าวันที่ 14 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีมูลค่าการซื้อขายสูงกว่า 1,152 ล้านบาท ราคาขึ้นสูงสุด 70.25 บาท ก่อนมาซื้อขายบริเวณ 69.75 บาท บวก 0.25 บาท หลังจากบริษัทประกาศกำไรไตรมาส 3 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 83 บาท/หุ้น จากกำไรไตรมาส 3ถือว่าออกมาดีกว่าที่เราและตลาดคาด เนื่องจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายขาย-บริหารเทียบกับรายได้ต่ำกว่าที่ประมาณการกันไว้ โดยร้านสะดวกซื้อกำไรเพิ่ม 13% ขณะที่ MAKRO กำไรกลับลดลง 6%

” คาดว่ากำไรไตรมาส 4จะมีโมเมนตัมที่ดี และดูสดใสขึ้นในงวดปี 2562″บล.ดีบีเอสฯระบุ

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 85 บาท กำไรสุทธิที่ 5,182 ล้านบาทในไตรมาส 3 มากกว่าที่ตลาดและเราคาด (+6.5%) รวม 9 เดือนทำกำไรได้ประมาณ 73% ของประมาณการทั้งปี โดยคงเป้าหมายไว้ที่ 20,900 ล้านบาท และขยายเข้าสู่ธุรกิจ logistics ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตตามธุรกิจ e-commerce ที่ขยายตัวสูง 10-15% ต่อปี

กำไรที่สูงขึ้นในไตรมาส 3 ได้รับผลดีจากการบริหารสินค้าที่มาร์จิ้นสูงเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้และลดสินค้าแอลกอฮอล์ที่มีมาร์จิ้นต่ำลงบริหาร Distribution Center ได้ดีขึ้น บริษัทลูก คือ MAKRO เริ่มฟื้นตัวจากเดิมที่คาดว่าจะอ่อนตัว ราคาสินค้าอาหารสดหมูไก่อยู่ในแนวโน้มดีขึ้น การขยายสาขาเป็นไปตามแผน มองว่ากำลังซื้อมีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาส 4 เนื่องจากจะเข้าสู่ไฮซีซันปลายปี

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท ซีพี ออลล์ ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้มีประกันของบริษัทฯ ที่ ‘A(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันที่ ‘A-(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่ ‘BBB(tha)’ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’

ฟิทช์คาดว่าแผนการขยายธุรกิจที่มากขึ้นของบริษัทแมคโคร (A(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของกลุ่ม CPALL เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 2.3 หมื่นล้านถึง 2.4 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2562-2564 ซึ่งสูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิมที่ระดับ 1.8 หมื่นล้านบาทถึง 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายลงทุนดังกล่าวได้รวมถึงแผนการเปิดสาขาร้าน 7-Eleven จำนวน 700 สาขาต่อปีและการลงทุนในกิจกรรมสนับสนุนอื่นๆ ซึ่งน่าจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2560 แต่สูงกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้เดิม

นอกจากนี้ แผนการลงทุนที่สูงขึ้นและผลขาดทุนจากธุรกิจในต่างประเทศของ MAKRO น่าจะทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินปันผลจ่ายต่อยอดขาย ของ CPALL เกือบเป็นศูนย์จนถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ Free Cash Flow Margin น่าจะปรับตัวมาอยู่ที่ประมาณ 1.5% ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน น่าจะลดลงมาอยู่ในระดับ 4.3 เท่า ณ สิ้นปี 2561 และอยู่ในช่วง 3.5 เท่าถึง 4.0 เท่าในช่วงปี 2562-2563 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของ CPALL อาจจะลดลงเร็วกว่าที่คาดได้หากมีการขายหุ้นของ MAKRO เพิ่มขึ้น และนำรายได้มาชำระคืนหนี้สิน

ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ CPALL จะเติบโต 7-8% ในปี 2561 และ 9-10% ต่อปีในปี 2562-2563 อัตราการเติบโตของรายได้ที่สูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าน่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดขายของสาขาในต่างประเทศของ MAKRO ในขณะที่ฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของยอดขายต่อร้านเดิมของร้าน 7-Eleven น่าจะอยู่ที่ 2-3% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้เดิมที่ 3-4% เนื่องจากร้านสาขาเปิดใหม่ที่มีจำนวนมากขึ้นอาจจะมีการแย่งยอดขายบางส่วนจากร้านเดิมรวมถึงการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ช้ากว่าที่คาด CPALL ยังคงได้รับประโยชน์จากการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากสินค้าที่ขายส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความผันผวนของรายได้และอัตราส่วนกำไรที่ค่อนข้างต่ำ

ฟิทช์เชื่อว่า CPALL จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำทางการตลาดไว้ได้ แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกจะมีการแข่งขันที่สูงขึ้นก็ตาม สภาพคล่องของ CPALL มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากเงินสดจำนวน 3.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2561 และความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง รวมถึงความสามารถในการออกหุ้นกู้ในตลาดตราสารหนี้ CPALL มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ยประมาณ 1.9 แสนล้านบาท (รวมหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน) ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2561 โดย 15.5% จะครบกำหนดชำระคืนในอีก 12 เดือนข้างหน้า และประมาณ 93% ของหนี้สินทั้งหมดของ CPALL เป็นหุ้นกู้สกุลเงินบาท โดย 57% ของจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้มีหลักประกันที่เป็นหุ้นของ MAKRO