ความจริงความคิด : ประกันสุขภาพ เรื่องจำเป็นยุคสังคมคนสูงอายุ? ตอนที่ 1

โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

องค์การสหประชาชาติได้ประเมินสถานการณ์ประชากรว่าในปี 2544- 2643 จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ โดยคาดการณ์ว่าผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 พันล้านคนในปี 2568 และจะกลายเป็น 2 พันล้านคนในปี 2593

ส่วนวิกฤติสังคมคนสูงอายุของไทยเองก็น่ากังวลไม่น้อยเช่นกัน ความจริงประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548 แล้ว ตอนนั้นเรามีผู้สูงอายุ 10.4% และปี 2564 นี้ประเทศไทยก็เข้าสู่ “สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์” คือ มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดการณ์ว่าในปี 2574 เราจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างเต็มที่ คือ มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 30% ของประชากรทั้งประเทศ

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมคนสูงอายุอย่างรวดเร็ว ก็คือ อัตราการเกิดที่ลดลงซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จในการรณรงค์เพื่อให้คนไทยมีลูกน้อยลงตั้งแต่ทศวรรษ 70 ตอนนั้นประเทศไทยมีอัตราการเกิดใหม่ (fertility rate) ประมาณ 6.6 คน (ต่อพ่อ-แม่ 2 คน) และต่อมาก็ลดลงอย่างรวดเร็วเหลือ 2.2 คนในช่วงทศวรรษ 90 ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราต่ำสุดที่จะรักษาให้ขนาดของประชากรไม่ลดลง (ซึ่งจะต้องมีการเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่า 2.1 คน)

แต่ปรากฏว่าอัตราการเกิดใหม่ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องไปอีกเหลือเพียง 1.5 คนในปัจจุบัน ซึ่งต่ำกว่าประเทศจีนที่ 1.7 คน ประเด็นคือการเกิดใหม่ที่ต่ำเช่นนี้จะทำให้จำนวนคนไทยที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 68 ล้านคนจะเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อยในอีก 5-10 ปีข้างหน้าที่ประมาณ 69 ล้านคน แล้วลดลงอย่างต่อเนื่องถึง 34.1% ในปี 2100 (อีก 81 ปีข้างหน้า) ทำให้ประชากรไทยมีเหลือเพียง 45.5 ล้านคน

“เกิด แก่ เจ็บ ตาย”

“เกิด แก่ เจ็บ ตาย” สัจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ เมื่อสังคมไทยเริ่มมีคนสูงอายุเพิ่มมากขึ้น จากรายงานการวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์ภาวะสุขภาพ ภาระโรคและความต้องการบริการด้านสุขภาพในผู้สูงอายุ” โดยนพ.สกานต์ บุนนาค และคณะ พบว่า จำนวนผู้ป่วยสูงอายุชายที่มารับบริการในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2562 จำนวนกว่า 5.1 ล้านคน โดย คือ

1. อันดับ 1 โรคเบาหวานมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 19.90
2. อันดับ 2 โรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 5.83
3. อันดับ 3 โรคข้อเสื่อมร้อยละ 5.80
4. อันดับ4 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร้อยละ 3.75
5. อันดับ5 โรคหัวใจขาดเลือดร้อยละ 2.59
6. อันดับ6 วัณโรค ร้อยละ 2.64
7. อันดับ 7 หูหนวก ร้อยละ 1.81
8. อันดับ8 โรคมะเร็งตับ ร้อยละ 0.50
9. อันดับ9 โรคสมองเสื่อม ร้อยละ 0.48 และ
10. อันดับ 10 โรคมะเร็งหลอดลมและปอด ร้อยละ 0.01

ส่วนผู้ป่วยสูงอายุหญิง จำนวนกว่า 6.4 ล้านคน

1. อันดับ 1 โรคเบาหวาน ร้อยละ 30.97
2. อันดับที่ 2 คือโรคข้อเสื่อม ร้อยละ 12.67
3. อันดับที่ 3 ต้อกระจก ร้อยละ 8.32
4. อันดับที่ 4 โรคไตอักเสบและไตพิการ ร้อยละ 6.16
5. อันดับที่ 5 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังร้อยละ 4.12
6. อันดับที่6 โรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 4.07
7. อันดับที่ 7 โรคหัวใจขาดเลือด ร้อยละ 1.68
8. อันดับที่ 8 โรคหูหนวก ร้อยละ 1.46
9. อันดับที่ 9 โรคสมองเสื่อมร้อยละ 0.61 และ
10. อันดับที่ 10 โรคมะเร็งตับ ร้อยละ 0.24

และพบว่าสาเหตุการสูญเสียปีสุขภาวะ(เป็นจำนวนปีที่เสียไปเพราะสุขภาพไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัย) มากที่สุดในผู้สูงอายุทั้งเพศชายและเพศหญิงคือ โรคหลอดเลือดสมอง และหากจำแนกตามกลุ่มอาการสูงอายุ โรคที่พบบ่อยมากที่สุด คือปัญหาช่องปาก ข้อเข่าเสื่อม และการมองเห็น
สอดคล้องกับรายงานวิจัยของ TDRI กุมภาพันธ์ 2018 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรกว่า 14 ล้านคนที่เป็นโรคในกลุ่ม NCDs (Non-Communicable Diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเสียชีวิตมากกว่า 300,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 25.2 พันล้านบาทต่อปี