“ชูเกียรติ” ซีอีโอ SABUY ยัน หุ้นโดน “Naked Short” หุ้นหายจากคัสโตเดียน

HoonSmart.com>> “ชูเกียรติ” CEO “สบาย เทคโนโลยี” (SABUY) ยันหุ้นโดน “Naked Short” หลังผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นฝาก “ธนาคารต่างประเทศ” ในฐานะคัสโตเดียนที่อยู่ในประเทศไทย พบหุ้นหายไปเกือบ 20 ล้านหุ้น หลังปิดบุ๊ก ส่งเรื่องร้องตลาดหลักทรัพย์

นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี (SABUY) เปิดเผยผ่านรายการ “ทันหุ้นทันเกม” ว่า บริษัทมีการปิดสมุดมาโดยตลอด มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาตลาดมีภาวะผันผวน

แต่พบข้อสงสัยจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 1 ราย ที่มีการฝากหุ้นไว้กับคัสโตเดียนที่อยู่ในประเทศไทย แต่เป็นธนาคารต่างประเทศ จำนวน 100 ล้านหุ้น ช่วงต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา

โดยประเด็น คือ มีการทำรายการผ่านต่างประเทศ แต่หลังจากที่ทำรายการ พบว่า ส่วนต่างของหุ้นที่หายไปมีจำนวน 20 หุ้น ซึ่งเป็นไปได้อย่างไร เพราะหุ้นที่ฝากกับคัสโตเดียนไม่มีค่าธรรมเนียม จึงมองว่าผิดปกติ

ทั้งนี้จึงได้กลับไปสำรวจข้อมูลเดิมที่บริษัทปิดสมุดบัญชีผู้ถือหุ้น แต่พบว่า หุ้นที่นำไปฝากคัสโตเดียน 100 ล้านหุ้น เมื่อต.ค. ที่ผ่านมา ที่ไม่ได้อนุญาตให้ทำธุรกรรมชอร์ตเซลได้ และไม่ได้มีการขายหุ้นออกไปแต่อย่างใด

ระหว่างนั้นมีการปิดสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นในวันที่ 16 ต.ค.2566 หุ้นหายไปกว่า 17 ล้านหุ้น และปิดสมุดประมาณวันที่ 20 ต.ค.2566 พบว่า หายไปเป็นเกือบ 20 ล้านหุ้น จึงมีการติดต่อ และส่งเรื่องถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ

“มองว่าเป็นกรณีศึกษาที่หน่วยงานราชการจะช่วยได้ คือ ไม่ทราบว่าหุ้นที่หายไปซื้อขายผ่านโบรกเกอร์อะไร ซึ่งทางเรามีการฝากตั้งวันที่ 4 ต.ค.2566 เช็กได้เลยว่าตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.2566 เกิดอะไรขึ้นกับหุ้นที่ฝากไว้กับคัสโตเดียนแห่งนั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบได้เลย ช่วงที่หายไปซื้อขาย และมีการโอนไปยังโบรกเกอร์ไหน เชื่อว่าเห็นแน่นอน และหากหน่วยงานรัฐเข้าไปสำรวจในระบบของโบรกเกอร์แห่งนั้น ช่วงที่ขายนั้นมีหุ้นอยู่ในพอร์ตหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ในฐานะบริษัทสมาชิก และตนเองในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัท และหลายๆ บริษัทที่ถูกเทขายคล้ายบริษัทอาจจะเกิดขึ้นกับบริษัทอื่นๆ สิ่งที่ทำในฐานะบริษัทจดทะเบียนจึงแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบ และในฐานะนักลงทุนคาดเปิดในนักลงทุนมาร่วมลงชื่อในฐานะผู้เสียหาย

ทั้งนี้ เพื่อยื่นต่อหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจตรวจสอบเส้นทางการเงิน ความเสียหายด้านเศรษฐกิจ คาดแบ่งเป็น 2 เฟส คือ รายการที่เกิดขึ้นช่วงเดือนต.ค. และช่วง 6 เดือนย้อนหลัง เพื่อให้รับความเป็นธรรม เพราะเป็นช่วงที่บริษัทถูกปล่อยข่าวลือเข้ามาจำนวนมากในช่วงนั้น ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อบริษัท จึงดำเนินการตามสิทธิของบริษัท