HoonSmart.com>>ดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่ง 358 จุด ดูดีกว่า S&P ที่ปิดบวกเล็กน้อย และ Nasdaq ปิดร่วงลงจากแรงขายกลุมเทคโนโลยี ท่ามกลางบอนด์ยีลด์สูงขึ้น ลดความคาดหวังเฟดปรับลดดอกเบี้ย ตลาดยุโรปปิดร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ ด้านราคาน้ำมันพุ่ง
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average: DJIA) วันที่ 13 มกราคม 2568 ปิดที่ 42,297.12 จุด เพิ่มขึ้น 358.67 จุด หรือ +0.86% และดัชนี S&P 500 ปิดบวกเล็กน้อยหลังฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน แต่ดัชนี Nasdaq ร่วงลงเนื่องจากยังคงมีแรงเทขายในกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น เพราะนักลงทุนลดความคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)
ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,836.22 จุด เพิ่มขึ้น 9.18 จุด, +0.16%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 19,088.10 จุด ลดลง 73.53 จุด, -0.38%
นักลงทุนสลับออกจากกลุ่มเทคโนโลยีเข้าไปที่หุ้นกลุ่มอื่นๆ อย่าง Caterpillar JPMorgan และ United Health ส่งผลให้หุ้น Palantir และ Nvidia ลดลงกว่า 3% และราว 2% ตามลำดับ หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าจะจำกัดการส่งออกชิปปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีเพิ่มเติม ส่วนหุ้นเทคโนโลยีอื่นทั้ง Apple และ Micron ก็ลดลง
กลุ่มพลังงานปรับขึ้นนำตลาด โดยบวกกว่า 2% จากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูง กลุ่มเฮลธ์แคร์และวัสดุก็ปรับขึ้นเช่นกัน
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน ที่ 4.805% และซื้อขายล่าสุดที่ 4.79% จากข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจแข็งแกร่งแต่มีแรงกดดันด้านราคา บวกกับความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ของเฟด
นักลงทุนรอการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคในวันพุธ ซึ่งหากผิดจากที่คาดอาจทำให้เกิดความกังวลว่าเฟดอาจหยุดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยชั่วคราว ผลสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.9% ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 2.7% ในเดือนพฤศจิกายน และเพิ่มขึ้น 0.3% ต่อเดือน
ข้อมูลราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ มีกำหนดเผยแพร่ในวันอังคาร
นโยบายภาษีศุลกากรจากว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้ออีกด้วย
ตลาดมองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ไว้ประมาณ 0.25% โดยมีโอกาส 52.9% ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน การประชุมของเฟดครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 28-29 มกราคม
นักลงทุนคาดหวังว่าการเริ่มต้นฤดูกาลผลประกอบการของไตรมาสที่สี่จะทำให้ตลาดมีเสถียรภาพ ธนาคารต่างๆ รวมถึง Citigroup, Goldman Sachs และ JPMorgan Chase กำหนดรายงานผลการดำเนินงานในวันพุธ ขณะที่ Morgan Stanley และ Bank of America จะแจ้งผลในวันพฤหัสบดี
ตลาดยุโรปปิดร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ ท่ามกลางการขายออกในวงกว้างเนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากข้อมูลการจ้างงานในสหรัฐฯ ซึ่งตอกย้ำความคาดหวังที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังในปีนี้
หุ้นเทคโนโลยีซึ่งอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ลดลง 1.2% ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ลดลง1.3% และกลุ่มเฮลธ์แคร์ลดลง 1.2%
หุ้นพลังงานเพิ่มขึ้น 1.1% จากราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเนื่องจากการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปยังผู้ซื้อรายใหญ่ เช่น อินเดีย และจีน
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยุโรปยังคงเพิ่มขึ้นตามพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีอยู่ใกล้ระดับสูงสุดในรอบกว่า 6 เดือน ในสหราชอาณาจักร อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 27 ปี
นักลงทุนจับตาการรายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในวันพุธ ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟด รวมไปถึงการเผยแพร่ข้อมูลเงินเฟ้อของยุโรปในสัปดาห์นี้ ทั้ง เงินเฟ้ออังกฤษและเยอรมนี
ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 508.68 จุด ลดลง 2.82 จุด, -0.55%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,224.19 จุด ลดลง 24.30 จุด, -0.29%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,408.64 จุด ลดลง 22.40 จุด, -0.30%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 20,132.85 จุด ลดลง 81.94 จุด, -0.41%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 2.25 ดอลลาร์ หรือ 2.94% ปิดที่ 78.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนและราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 1.25 ดอลลาร์ หรือ 1.57% ปิดที่ 81.01 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล