HoonSmart.com>>สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เผยหุ้นกู้ครบกำหนดชำระปี’68 มูลค่ากว่า 8.93 แสนล้านบาท มั่นใจ ITD + EA จ่ายดอกเบี้ยและไถ่ถอนได้ตามสัญญา กลุ่มอินเวสท์เม้นท์เกรด 85% ไม่น่าห่วง ลุ้นกลุ่มไฮยิลด์ 1.3 แสนล้านบาทอาจมีการขอยืดหนี้ออกไป คาดยอดระดมทุนใหม่ราว 9 แสนล้านบาทลดลงเล็กน้อยผลจากเศรษฐกิจยังชะลอตัว
น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ปี 2568 จะมีหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดชำระ 893,275 ล้านบาท แยกเป็นหุ้นกู้ระดับลงทุนได้ตั้งแต่ BBB ขึ้นไป 762,049 ล้านบาท คิดเป็น 85% และกลุ่มไฮยิลด์บอนด์ตั้งแต่ BB ถึงไม่มีเรทติ้ง 131,227 ล้านบาท คิดเป็น 15% โดยไตรมาส 2 จะครบกำหนดอายุมากที่สุด 219,196 ล้านบาท ซึ่งจากการดูสถานภาพของผู้ออกแล้วไม่น่ามีปัญหาในการไถ่ถอนหุ้นกู้ และยังมีความสามารถในการต่ออายุหุ้นกู้ยังสูง เพราะหุ้นกู้ส่วนใหญ่เป็นระดับอินเวสเม้นท์เกรด อาจจะมีผลบ้างต่อกลุ่มผู้ออกหุ้นกู้กลุ่มไฮยิลด์บอนด์อยู่บ้าง แต่เชื่อว่าจะมีการรับมือได้ เช่น การขอยืดหนี้ออกไป และจากสภาวะเศรษฐกิจที่โตต่ำอาจจะทำให้กลุ่มนี้ตัดสินใจชะลอการออกหุ้นกู้ชุดใหม่
“2567 ที่ผ่านมา หุ้นกู้ผิดนัดชำระลดลงโดยมีมูลค่า 3,172 ล้านบาท จากผู้ออก 5 ราย เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระ 16,363 ล้านบาท ในขณะที่ ผู้ที่มีการยืดชำระหนี้ออกไปมี 17 ราย มูลค่า 37,963 ล้านบาท ส่วนใหญ่ หรือจำนวน 12 ราย เป็นรายเดิมๆ ที่เคยเลื่อนชำระมาแล้ว ซึ่งก็ลดลงจากปี 2566 ที่มีมูลค่าสูงถึ 12,443 ล้านบาท สำหรับบริษัทรายใหญ่ที่มีการเลื่อนชำระหุ้นกู้มาในปี 2568 คาดว่าจะสามารถทำได้ตามเงื่อนไขที่ขอยืดหนี้ออกไป เช่น ITD มั่นใจว่าจะสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ตามเงื่อนไขา และ EA ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้คาดว่าจะสามารถจ่ายหนี้ได้ตามสัญญา”น.ส.อริยา กล่าว
น.ส.อริยา คาดว่า ปี 2568 จะมีมูลค่าการออกหุ้นกู้ 850,000-900,000 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 2567 ที่มีการออก 913,141 ล้านบาท ซึ่งลดลง 10% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยปีนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านผู้เล่นรายใหญ่ คือ กลุ่มสหกรณ์ ที่มีเกณฑ์การลงทุนออกมาใหม่ไม่ให้เกิน 1 เท่าของทุนเรือนหุ้นและทุนสำรอง เช่น มีทุน 1 หมื่นล้านบาท ต้องลงทุนในหุ้นกู้ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทเช่นกันเริ่มปี 2568 และให้เวลาในการปรับพอร์ตลงทุนให้ได้ตามเกณฑ์ภายใน 10 ปีนับจากนี้ จะทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้หายไปบางส่วน โดยกลุ่มสหกรณ์มีการลงทุนในหุ้นกู้ประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือประมาณ 12% ของมูลค่าหุ้นกู้คงค้างทั้งระบบ
“แต่จะไม่กระทบมากนัก เพราะหุ้นกู้ที่สหกรณ์ลงทุนจะเป็นกลุ่มอินเวสท์เม้นท์เกรด เป็นที่ต้องการของนักลงทุนทุกกลุ่ม จะทำให้หุ้นกู้กลุ่มนี้กระจายถึงมือประชาชนรายย่อยมากขึ้น จากเดิมที่จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสถาบัน”น.ส.อริยา กล่าว
อัตราดอกเบี้ยเอื้อต่อธุรกิจ
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ปี 2568 อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาลง ส่งผลบวกต่อตลาดการออกหุ้นกู้ เพราะทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ออกลดลง โดยผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2568 ที่ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 2 ครั้ง รวม 0.50% เหลือ 1.75% จากปัจจุบันที่ 2.25% โดยจะเริ่มมีการปรับลดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี
สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทยในปี 2568 ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี จะปรับตัวลงเฉลี่ย 5-15 bps. จากปลายปี 2567 จากปัจจัยเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯ และกระแสเงินลงทุน (Fund Flow) เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ อาจจะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนในตลาดหุ้นกู้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะมีผลต่อสภาพเศรษฐกิจ อัตราเฟ้อว่าจะมีผลต่อราคาสินค้าและบริการอย่างไร รวมถึงการให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ด้วย โดย เจพี มอร์แกน (JPMorgan) มีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดียเป็น 10% ถึงเดือนมี.ค.2568 นี้
“เงินทุนเคลื่อนย้ายเฉลี่ยปีละ 5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทยกว่า 17 ล้านล้านบาท ถือว่าไม่ได้น่ากลัว ประกอบกับไทยมีแหล่งเงินทุนถึง 3 กลุ่ม คือ จากตลาดหลักทรัพย์ฯ ธนาคาร และตลาดตราสารหนี้ และเศรษฐกิจไทยแม้จะปรับตัวไปอย่างช้าๆ แต่เป็นไปในเชิงบวก และปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเอื้อต่อธุรกิจมากขึ้น”ดร.สมจินต์ กล่าว
มูลค่าคงค้างปี’67 กว่า 17 ล้านล้านบาท
ดร.สมจินต์ กล่าวว่า สำหรับ มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยปี 2567 เท่ากับ 17.1 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% จากปีที่แล้ว
จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 913,141 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อนหน้า โดยหุ้นกู้กลุ่ม High yield มีอัตราการออกลดลงมากกว่ากลุ่ม Investment grade สะท้อนถึงความกังวลและการระมัดระวังการลงทุนของผู้ลงทุนในปีที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 อันดับแรก คือกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน ตามลำดับ
สำหรับการออก ESG bond ในปี 2567 เท่ากับ 179,192 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) เป็นรุ่นแรก มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท และเป็นรุ่นแรกที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศในเอเชีย นอกจากนั้น ในปีนี้มีผู้ออก ESG bond รายใหม่จากรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนรวม 6 ราย ปัจจุบันจึงมีผู้ออก ESG bond รวม 35 ราย มูลค่าคงค้าง ESG bond เท่ากับ 815,402 ล้านบาท คิดเป็น 4.7% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ในปี 2567 มีลักษณะ Bullish Flattening ที่เส้น Bond yield ปรับตัวแบนราบมากขึ้นจากการที่ Bond yield รุ่นอายุ 1 ปีขึ้นไปปรับตัวลงราว 32-40 bps. มากกว่า Bond yield รุ่นอายุต่ำกว่า 1 ปี โดย ณ สิ้นปี 2567 Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี 5 ปี และ 10 ปี ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 2.02% 2.10% และ 2.30% ตามลำดับ
เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) ในปี 2567 ของหุ้นกู้อันดับเครดิต AAA ถึง A ปรับตัวลงในช่วง 29-33 bps. ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ขณะที่หุ้นกู้อันดับเครดิต BBB+ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15 bps. จากการระมัดระวังการลงทุนของผู้ลงทุน โดย ณ สิ้นปี 2567 อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นอายุ 5 ปี ของหุ้นกู้กลุ่ม AAA AA A และ BBB+ เท่ากับ 2.81% 2.99% 3.27% และ 4.67% ตามลำดับ
กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ของนักลงทุนต่างชาติในปี 2567 เป็นการขายสะสมสุทธิ ตราสารหนี้ไทยจำนวน 67,395 ล้านบาท เป็นผลรวมของการขายสุทธิตราสารหนี้ไทย 125,959 ล้านบาทใน สองไตรมาสแรกกับไตรมาสที่สี่ และการซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทย 58,561 ล้านบาทในไตรมาสที่สาม ทำให้การถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นปี 2567 เท่ากับ 8.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5%
ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ย 8.7 ปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 8.6 ปีเมื่อสิ้นปี 2566