“กองทุนประกันชีวิต”เปิด 5 แผนปี’67 เร่งตามคืนเงินประชาชนทิ้งกรมธรรม์

HoonSmart.com>>กองทุนประกันชีวิตเปิด 5 ทิศทางการดำเนินงานปี 2567 เดินหน้าภาระกิจสำคัญเร่งตามคืนเงินจากการที่ประชาชนไม่มารับกว่า 2,000 ล้านบาทเหตุไม่ทราบว่ามีเงินสดค้างอยู่ในกรมธรรม์

นายนพพล เบี้ยวไข่มุก ผู้จัดการ กองทุนประกันชีวิต เปิดเผยแผนการดำเนินงานปี 2567 ว่า จะยังคงเดินหน้าคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ให้สามารถจัดการความเสี่ยงและวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิผล ภายใต้ภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยหนึ่งในงานสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อคือ การติดตามคืนเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ(ม.52) แก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด

สำหรับ เงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ (ม.52) เป็นเงินที่ประชาชนไม่มารับคืนจากบริษัทประกันชีวิตในช่วง 10 ปี และถูกส่งต่อมาเก็บไว้กองทุนประกันชีวิตอีก 10 ปี ปีนี้เฉลี่ยเดือนละ 27 ล้านบาทต่อเดือน หากยังไม่มาติดต่อรับเงินคืนอีกจะตกเป็นของกองทุนฯ ซึ่งมีบางรายมีเงินค้างอยู่ถึง 2.6 ล้านบาท เพราะผู้ทำประกันเสียชีวิตและผู้รับผลประโยชน์ไม่ทราบว่ามีการทำประกันชีวิตไว้ก็ไม่ได้ติดต่อมาทางบริษัทประกันชีวิตเพื่อขอรับเงินตามสัญญา

อย่างไรก็ตาม ทางกองทุนฯไม่ได้รอให้ประชาชนติดต่อมารับฝ่ายเดียว แต่ยังทำงานเชิงรุกมาตลอดโดยการพยายามติดตามคืนเงินแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยทำงานร่วมกับบริษัทประกันชีวิต สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) สมาคมประกันชีวิตไทย ตัวแทน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตามหาเจ้าของเงิน รวมถึงเปิดช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบได้

ณ วันที่ 31 ต.ค. 2566 มีเงินที่ประชาชนไม่มารับคืนอยู่กับกองทุน 2,174.23 ล้านบาท แยกเป็นเงินที่ยังไม่มารับไม่เกิน 10 ปี 1,729.97 ล้านบาท เงินยังไม่มารับเกิน 10 ปี 304.70 ล้านบาท เงินที่รับไปแล้ว 139.54 ล้านบาท จะเป็นเห็นว่าเงินที่ค้างอยู่ไม่เกิน 10 ปีมีสัดส่วนมากถึง 79.57% ซึ่งเงินจำนวนนี้เจ้าของเงินสามารถไปสร้างประโยชน์หรือถ้านำไปลงทุนจะได้ผลตอบแทนให้กับตัวเองและครอบครัวได้

สำหรับ ปัญหาที่บริษัทประกันชีวิตไม่สามารถส่งคืนเงินแก่เจ้าของกรมธรรม์ได้ เพราะไม่สามารถติดต่อเจ้าของกรมธรรม์ได้ เพราะมีการย้ายที่อยู่ ในขณะที่ประชาชนก็ไม่ทราบว่าในกรมธรรม์ที่ทิ้งไปไม่ส่งต่อมีเงินสดเหลืออยู่ หรือ ผู้รับผลประโยชน์ไม่ทราบว่าคนในครอบครัวมีการทำประกันไว้เพราะกรมธรรม์สูญหาย ในขณะที่ตัวแทนไม่มีการติดตามแจ้งผลประโยชน์ให้ลูกค้าทราบ และในอดีตตัวแทนหลายรายมีการใช้ที่อยู่ตัวแทนเป็นที่อยู่ของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันตัวแทนมีคุณภาพเพิ่มขึ้นมีการขายที่ถูกต้องมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ติดตามเจ้าของกรมธรรม์มารับเงินคืนได้ง่าย

นอกจากนี้ จะร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้ยุค Aging Society และกฎหมาย PDPA รวมทั้งการตระหนักการจัดการความเสี่ยงในภาวการณ์ ESG (Environment,Social,Governance)ปัจจุบัน ทำการพัฒนาทรัพยากรในองค์กร โดยเฉพาะบุคคลากรให้มีความรู้ ทักษะและประสบการณ์ สามารถเติบโตในอาชีพอย่างมั่นคงก้าวหน้า และเปี่ยมสุขด้วยธรรมาภิบาลและจริยธรรมในระยะยาว

รวมถึง พัฒนา Platform และ Process & Service ในการดำเนินงานด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ในยุค Cyber World ภายใต้การป้องกันความเสี่ยงเพื่อความปลอดภัยทางเทคโนโลยี สอดรับกับกฎหมาย Cyber ประสานเชื่อมสัมพันธ์เครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ที่มีอยู่ประมาณ 20 องค์กรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน พร้อมสร้างระบบนิเวศน์และยังประโยชน์ร่วมกัน

นายนพพล กล่าวว่า กองทุนประกันชีวิต ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้หรือประชาชนผู้ทำประกันชีวิต ในกรณีที่บริษัทประกันชีวิตถูกสั่งปิดกิจการ ทางกองทุนประกันชีวิตจะทำการชดเชยให้กับผู้ถือกรมธรรม์ตามสัญญา แต่ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีบริษัทประกันชีวิตรายใดถูกสั่งปิดกิจการ