NER ชงบอร์ดสร้างโรงงานใหม่ ทุ่ม 1.2 พันล.เพิ่มกำลังผลิตหนุนโต

HoonSmart.com>> “นอร์ทอีส รับเบอร์”(NER) เตรียมชงบอร์ดควักเงินสด 1,200 ล้านบาท เดินหน้าก่อสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสมแห่งที่ 3 กำลังการผลิต 3.02 แสนตัน รองรับลูกค้าใหม่ ดันรายได้เติบโตยาว คาดเฟสแรกเสร็จปลายปี 67 พร้อมป้องกันความเสี่ยงของราคายางที่ผันผวนด้วยวิธี matching order เพื่อรักษาอัตรากำไร ส่วนปี 66 นี้มั่นใจยอดขาย 5 แสนตัน ตามเป้า

ศักดิ์ชัย จงสถาพงษ์พันธ์

นายศักดิ์ชัย จงสถาพงษ์พันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบริหารบัญชี-การเงิน บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ ( NER ) เปิดเผยว่าบริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตสินค้าประเภทยางแท่งและยางแท่งผสม โดยจะเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติเงิน 1,200 ล้านบาท สำหรับการลงทุนก่อสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสมแห่งที่ 3 กำลังการผลิต 302,400 ตัน แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกจะมีกำลังการผลิต 172,800 ตัน คาดว่าโรงงานจะสร้างเสร็จปลายปี 2567 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2568

ภายหลังจากขยายกำลังการผลิตดังกล่าว บริษัทจะมีกำลังการผลิตสินค้ารวมทั้งสิ้น 818,000 ตันต่อปี จากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ 515,600 ตัน โดยยังมุ่งเน้นการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกำลังการผลิตใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีการเซ็นสัญญากลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายรายทั้งในประเทศจีน สิงคโปร์ อินเดีย และไทย และคาดว่าครึ่งปีหลังจะมีลูกค้าใหม่เพิ่มอีกหลายราย

“ภาพรวมปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายประมาณ 5 แสนตัน จากปัจจุบันเดินเครื่องกำลังการผลิตอยู่ในระดับที่สูง 90% จึงจำเป็นต้องสร้างโรงงานใหม่ เพื่อรองรับลูกค้า ซึ่งจากกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น จะรองรับลูกค้าใหม่ได้อีกหลายปี โดยเงินลงทุนก่อสร้างโรงงานใหม่มาจากกระแสเงินสดของบริษัท ซึ่งไม่มีแผนออกหุ้นกู้เพิ่ม”นายศักดิ์ชัย กล่าว

อย่างไรก็ตามการลงทุนห่อสร้างโรงงานใหม่จะไม่กระทบต่อผู้ถือหุ้น เนื่องจากบริษัทยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผล 40% ของกำไรสุทธิ ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะจ่ายเงินปันผลสูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้

สำหรับภาพวมปี 2566 บริษัทยังคงตั้งเป้าปริมาณขายสินค้าที่ 500,000 ตัน จากกำลังการผลิตทั้งหมด 515,600 ตัน และ 10 เดือนแรกมีปริมาณขายสินคิาที่ 4.1 แสนตัน โดยการเติบโตมาจากการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าต่างๆ และความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยในปัจจุบันบริษัทยังได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีการขายให้กับลูกค้าไปถึงไตรมาสที่ 1/2567 แล้ว จากอานิสงค์ของคำสั่งซื้อจากประเทศจีนที่ยังมีความต้องการสูงและราคายางที่ปรับตัวดีขึ้น

ส่วนสถานการณ์ราคายางพารานั้น เริ่มมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด (Demand) ภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งตลาดในและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มยานยนต์ (รวมยานยนต์ไฟฟ้าตามแผนสนับสนุนของภาครัฐ) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มขยายตัวหนุนความต้องการใช้ยางในภาคก่อสร้าง ส่วนสถานการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นนั้น บริษัทใช้วิธี “Matching Order” เพื่อป้องกันความเสี่ยงของราคายางที่ผัน ซึ่งทำให้บริษัทสามารถรักษาอัตราการทำกำไร

ขณะที่ธุรกิจแผ่นปูรองนอนปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องและเพื่อเป็นการสร้างการเติบโตในอนาคต บริษัทจึงมีแผนที่จะขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันได้เข้าไปเจรจาลูกค้าในเวียดนาม รวมถึงเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มสินค้าปศุสัตว์อีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในเร็วๆนี้