‘ANI’ ต่อจิ๊กซอว์เชื่อมต่อโอกาสทั่วโลก ผู้นำธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน ตั้งเป้ารายได้เติบโต 30%/ปี ในช่วงปี 66-68

HoonSmart.com>>ในปี 2566 นักลงทุนจะมีโอกาสซื้อหุ้นคุณภาพยอดเยี่ยม บริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ ANI หนึ่งในผู้นำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งเป็นตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน (Cargo General Sales Agent: GSA) ระดับภูมิภาค ด้วยจุดหมายปลายทางครอบคลุมมากกว่า 400 แห่งทั่วโลก และเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกว่า 23% ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ และ ฮ่องกง ในปี 2565 โดย ANI เป็นหุ้นที่มีจุดเด่น เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปรับกลยุทธ์รวดเร็ว มีเครือข่ายที่ครอบคลุม และความสัมพันธ์ที่ดีกับสายการบินชั้นนำมาอย่างยาวนาน ศักยภาพของทีมผู้บริหารและพนักงานพร้อมขยายตัวสูงตามเมกะเทรนด์ มีการวางโมเดลธุรกิจขยายบริการทุกภูมิภาคทั่วโลก ที่สำคัญไม่ต้องลงทุนขนาดใหญ่เหมือนธุรกิจทั่วไป ก็สามารถสร้างรายได้ระยะยาวได้

ANI สั่งสมประสบการณ์มานานกว่า 10 ปี โดยได้รับสิทธิในการขายและบริหารจัดการพื้นที่ขนส่งสินค้าของสายการบินเพียงผู้เดียวในแต่ละเส้นทาง และเป็นตัวแทนให้แก่สายการบินชั้นนำกว่า 20 สายการบินใน 8 ประเทศและเขตบริหารพิเศษทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา จีน และ ฮ่องกง สร้างผลงานที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพสูงสามารถสานสัมพันธ์ที่ดีกับสายการบินชั้นนำมาอย่างยาวนาน ด้วยอัตราการต่อสัญญากับสายการบินมากกว่า 98 % สามารถจัดหาสัญญาใหม่เพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่อง พิสูจน์ฝีมือฝ่าวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก จากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการเช่าเหมาลำ (Charter Flight) เพื่อให้บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่ยังมีความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศ ในช่วงที่อุตสาหกรรมการบินมีข้อจำกัด ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถรักษาผลประกอบการ และสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีจุดแข็งด้าน Ecosystem ผ่านความร่วมมือกับบริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ (iii ) หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ANI และเป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจรของประเทศไทย ที่ประกอบธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานขนส่งสินค้าเดียวกัน

พันธมิตรแนบแน่น

บริษัทในฐานะตัวกลางในการขายและบริหารพื้นที่ขนส่งสินค้าของการสายการบินระหว่างประเทศต้นทางไปยังประเทศปลายทางของแต่ละสายการบินแบบครบวงจร ให้กับตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้า (Freight Forwarder) ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อส่งมอบสินค้าถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็ว เช่น ผู้นำเข้า หรือ ผู้ส่งออก ผ่านการบริหารจัดการของคณะผู้บริหารส่วนใหญ่ที่มีประสบการณ์กว่า 35 ปีในอุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศ และพนักงานเกือบทั้งหมดอยู่คู่กับบริษัทมานานกว่า 5 ปี โดยมีการบริหารงานแบบรวมศูนย์โดยทีมสำนักงานใหญ่ผ่าน ANI (สำนักงานใหญ่ในประเทศไทย) และ Superior (สำนักงานใหญ่ในประเทศสิงคโปร์) ที่มีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่เป็นศูนย์กลางของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ แผนธุรกิจ และวิธีการปฏิบัติงานของบริษัทย่อยภายในกลุ่มทั้งหมด

บริษัทฯ มีคุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการอย่างสม่ำเสมอ จนได้รับความไว้วางใจจากกว่า 7 สายการบินในการเป็นตัวแทน GSA มามากกว่า 10 ปี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน มีกว่า 10 สายการบิน ที่บริษัทฯ ให้บริการมากกว่า 1 เส้นทาง

ด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุม บริษัทฯ มีบริษัทย่อยในหลายประเทศ เพื่อประกอบธุรกิจ GSA ในประเทศนั้นๆ ซึ่งนอกจากเพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยการขายพื้นที่ขนส่งสินค้าในสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศที่ประกอบธุรกิจ รวมถึงมีการร่วมทุนกับพันธมิตรทางการค้าที่มีประสบการณ์ในประเทศต่างๆ เป็นต้น

โอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง

บริษัทฯ มีการวางเป้าหมายระยะสั้นที่จะขยายไปยังตลาดที่มีการเติบโต เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ส่วนเป้าหมายระยะยาว จะขยายไปยังภูมิภาคอื่น รวมถึงเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้เล่นในทวีปยุโรปและทวีปออสเตรเลีย พร้อมขยายธุรกิจผ่านการซื้อกิจการหรือร่วมทุน และพัฒนาบริการการขนส่งสินค้าทางอากาศของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเช่าเหมาลำ (Charter Flight) หรือการนำเสนอพื้นที่ขนส่งสินค้าทางอากาศและเส้นทางบินของบริษัทฯ เอง เพื่อสร้างความยั่นยืนในระยะยาว

ท่ามกลางอุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หลายปัจจัยสนับสนุน โดยเฉพาะการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในช่วงหลังโควิด-19 (New Normal) จึงทำให้ธุรกิจ E-Commerce เติบโต ซึ่งในปี 2564 คำสั่งซื้อทั้งหมดของการขนส่งข้ามประเทศ มีการใช้บริการการขนส่งทางอากาศมากถึง 80% รวมถึงความต้องการการขนส่งสินค้ามูลค่าสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง ยังมีแนวโน้มการเติบโตในระดับสูง โดยมีอัตราการเติบโต 7.8% ต่อปีระหว่างปี 2565-2570 จากข้อมูลของ Frost & Sullivan

ความน่าสนใจของธุรกิจ GSA ถูกคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10.3% ต่อปีระหว่างปี 2565 – 2570 จากการเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) อุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศ โดยสายการบินมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาบริการจากผู้ให้บริการ GSA มากขึ้น เพื่อช่วยลดขั้นตอนในการทำงานและลดค่าใช้จ่ายให้กับสายการบินต่าง ๆ มากขึ้น แทนการจัดตั้งสำนักงานและจัดจ้างทรัพยากรบุคคล เพื่อดำเนินธุรกิจขนสนสินค้าในแต่ละประเทศด้วยตัวเอง

ในปี 2567 การส่งออกและนำเข้าของโลกจะฟื้นตัวชัดเจน ตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกและอุปสงค์สินค้าโลกที่ทยอยฟื้นตัว โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์การส่งออกของไทยจะเติบโต 4.2% และนำเข้าขยายตัว 4.1% สนับสนุนเศรษฐกิจขยายตัวถึง 4.4% เทียบกับปีนี้คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.8% และสถานการณ์ “เอลนีโญ” คลองปานามาจำกัดการเดินเรือขนส่งกดดันค่าระวางสูงขึ้น เพิ่มทางเลือกการขนส่งสินค้าทางอากาศมากขึ้น

ปี 63-65 รายได้โตเฉลี่ย 26.6%

ในช่วงวิฤติการณ์โควิดที่อุตสาหกรรมการบินมีข้อจำกัด บริษัทฯ ยังสามารถสร้างผลประกอบการที่แข็งแกร่ง โดยในปี 2563-2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการ จำนวน 4,813.8 ล้านบาท 7,763.3 ล้านบาท และ 7,717.6 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 26.6% ต่อปี จากความสามารถในการปรับกลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เพิ่มขึ้น เช่น การดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าผ่านเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) เป็นต้น

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทฯ มีสัญญาในการให้บริการ GSA จำนวนมากกว่า 40 สัญญา จากสายการบินชั้นนำมากกว่า 20 สายการบิน โดยบริษัทฯ ได้มีการจัดหาสัญญา GSA ฉบับใหม่จากสายการบินเดิมและสายการบินใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้บริการแก่สายการบินและประเทศที่หลากหลายแลละครอบคลุมมากขึ้น

บริหารความเสี่ยง

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าระวาง ผ่านการพัฒนารูปแบบการขายที่หลากหลาย เช่น การขายพื้นที่บล็อก (Block space) ซึ่งมีการกำหนดราคาและปริมาณการขนส่งกับลูกค้าล่วงหน้าตลอดทั้งปี หรือการยื่นเสนอราคาขาย สำหรับลูกค้าที่มีปริมาณขนส่งจำนวนมาก ด้วยวิธีเจรจากับสายการบิน ทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุน อัตรากำไร และปริมาณการขนส่งล่วงหน้าตลอดทั้งปี ประกอบกับที่บริษัทฯ มีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการส่วนต่างของราคาขายต่อตันไม่ให้แปรผันตามค่าระวาง ในบางกรณีที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมสูง หรือค่าระวางมีความผันผวนอย่างมาก บริษัทฯ อาจเจรจากับสายการบินเพื่อขอลดต้นทุน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน รักษาอัตรากำไรและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ไว้ได้

พร้อมขาย IPO

ANI นับเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ GSA ระดับภูมิภาครายแรกและรายเดียวที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เตรียมจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 554.738 ล้านหุ้น หรือ 30% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้ว และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม

วัตถุประสงค์การระดมทุน ใช้ปรับโครงสร้างทางการเงินจากการซื้อธุรกิจ GSA ในสิงคโปร์และมาเลเซียช่วงปลายปี 2565 และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

บริษัทฯ มีความสามารถในการทำกำไรที่ดี สร้างธุรกิจเติบโตมั่นคง ภายใต้กรอบของธรรมาภิบาลที่ดี มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ