คอลัมน์ความจริงความคิด : คุยกันให้ชัดเรื่องการวางแผนการเงินครอบครัว

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์ ,CPF นักวางแผนการเงิน

เมื่อเราคุยกันเรื่องการบริหารจัดการเงินของคู่สมรส กันไปแล้ว เราก็คงอยากรู้นะว่า ในเรื่องพฤติกรรมการใช้เงินและการวางแผนการเงินของครอบครัวที่เมืองนอก เขามีพฤติกรรมกันอย่างไร

งานวิจัยพฤติกรรมการใช้เงิน และการวางแผนการเงินของครอบครัวที่สำรวจโดยบริษัท ฟิเดลลิตี อินเวสท์เมนต์ โดยทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคในระดับครอบครัวครั้งนี้จัดทำขึ้นผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ จากการสุ่มโทรไปตามบ้าน นอกจากนั้นยังมีการสัมภาษณ์ผ่านระบบออนไลน์ด้วย โดยกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดประมาณ 1,000 คนที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และมีลูกๆ ที่โตเข้าสู่วัยทำงานแล้ว รวมทั้งมีการถือครองสินทรัพย์ อย่างที่ดิน และบ้าน ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ดอลลาร์

สะท้อนให้เห็นกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้า ผู้มีอิทธิพลในการใช้จ่ายเงินของครอบครัว รวมทั้งการวางแผนทางการเงินเพื่อรองรับ ช่วงเวลาเกษียณอายุของครอบครัวเดี่ยวอย่างในสหรัฐอเมริกา

“ใครคือหัวขบวนของบ้าน ใครกันเป็นผู้ที่มีอิทธิพลที่สุดในการตัดสินใจซื้อของ เข้าบ้าน หรือวางแผนการใช้เงินก้อนใหญ่ คุณพ่อ หรือคุณแม่” คือหัวข้อในการสำรวจ ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสสัปดาห์วันแม่ในสหรัฐ และเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องราวการบริหารการเงินของครอบครัวชาวอเมริกัน การสำรวจนี้มีคำตอบที่น่าสนใจ

การสำรวจพบว่า บุคคลที่เป็นผู้เปิดประเด็นในเรื่องของการตัดสินใจใช้เงินก้อนใหญ่ของครอบครัวส่วนมากคือคุณพ่อ โดยจะเริ่มต้นพูดคุยกับลูกๆที่โตแล้ว หรือเป็นผู้ใหญ่แล้วก่อน และจะเป็นเรื่องของการซื้อของ เข้าบ้าน โดยผู้เป็นแม่จะสนับสนุนไอเดียนั้น อยู่เบื้องหลังแบบเงียบๆ

ส่วนบทบาทของแม่ในเรื่องการเงินนั้นจะเป็นเรื่องของการพูดคุยกันเกี่ยวกับสวัสดิภาพ และความมั่นคงของครอบครัว อย่างเช่น การวางแผนการเกษียณอายุ การวางแผนดูแล ตัวเองทั้งด้านสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และการจัดสรรอสังหาริมทรัพย์ที่ครอบครองอยู่

ในรายงานที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็วๆ นี้ ฟิเดลลิตี อินเวสท์เมนต์ ระบุว่า “ผู้เป็นแม่มักจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนทนาเรื่องการใช้เงินในเชิงลึกของครอบครัว” ลอว์เรน บรูฮาร์ด ผู้บริหารอาวุโสด้านการวางแผนการเกษียณอายุของบริษัทวิจัยฟิเดลลิตีกล่าว

บรูฮาร์ดยังบอกอีกว่า “แต่สำหรับลูกๆ แล้ว หากคิดว่าจะเริ่มพูดคุยกันเรื่องการใช้เงิน ให้ลองเริ่มที่แม่ก่อน หากแม่สนับสนุนแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะคัดค้าน” ประเด็นสำคัญที่งานวิจัยครั้งนี้ค้นพบ ได้แก่

– กว่า 70% ของคุณแม่ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปกล่าวว่า พวกเธออยากจะมีบทสนทนาที่เป็นจริงเป็นจัง และจบลงด้วยความเข้าใจอันดีระหว่างตัวเองกับลูกๆ ที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ในเรื่องเกี่ยวกับการวางแผนชีวิตหลังจากวัยเกษียณ ในขณะที่มีคุณพ่อเพียง 55% เท่านั้นที่จะหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการสนทนา
– 79% ของคุณแม่วางแผนเรื่องการจัดสรรอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองอยู่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และเรียกลูกๆ เข้ามาคุยให้รับทราบโดยทั่วกันในขณะที่มีคุณพ่อเพียง 69% เท่านั้นที่คิดในประเด็นดังกล่าว
– คุณแม่กว่า 66% เปิดใจคุยเรื่องสุขภาพของตน กับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอย่างตรงไปตรงมากับลูกๆ โดยตัวเลขในส่วนนี้ของคุณพ่ออยู่ที่ 56%
– 64% ของคุณแม่บอกว่า การพูดคุยอย่างจริงจังกับลูกๆ เกี่ยวกับเงินออม และการลงทุนเป็นเรื่องที่ไม่ยากอย่างที่คิดในขณะที่มีคุณพ่อเห็นด้วย 54%

ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุอีกด้วยว่า เหตุผลที่ผู้เป็นแม่ดูเปิดกว้างสำหรับบทสนทนาเรื่องเงินๆ ทองๆ มากกว่า เป็นเพราะคนเป็นแม่ส่วนใหญ่ต้องการยืนอยู่ในฐานะผู้ที่เข้าอกเข้าใจทุกคนในบ้าน 15% ของคุณแม่บอกว่าอยากจะเป็นเช่นนั้น ในขณะที่คุณพ่อเพียง 6% ที่มองว่าตัวเองอยู่ในฐานะดังกล่าว

คุณพ่อส่วนใหญ่มองว่าบทบาทของตนเองในครอบครัวเป็นเสมือน “นักปฏิบัติ” และ “ลงมือทำ” เมื่อถึงโอกาสที่ต้องพูดคุยกันในเรื่องการเงิน พวกเขาเชื่อว่า ในการใช้เงินนั้น พวกเขามีความตรงไปตรงมาและชัดเจนกว่าผู้เป็นแม่

เมื่อสอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างรายบุคคล ถึงประเด็นการพูดคุยกันในบ้านที่เป็นเรื่องที่ยากที่สุดนั้น หลายครอบครัวระบุตรงกันว่าเป็นเรื่องของการเงิน การวางแผนการ ใช้เงิน หรือการเก็บออมเงิน

ลูกๆ ที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และเป็นกลุ่มสำรวจในการสอบถามครั้งนี้บอกว่า พวกเขาหลายครั้งที่เมื่อสมาชิกในครอบครัวล้อมวงกันเพื่อพูดคุยเรื่องสถานภาพทางการเงินของครอบครัว และเมื่อต้องการวางแผนการใช้จ่าย พวกเขารู้สึกว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้บอกความจริงทั้งหมด

“ประเด็นสำคัญคือ เวลาคุยกันเรื่องเงินเราแตะแค่ผิวๆ ไม่ได้ เพราะไม่มีใครอยากจะเซอร์ไพรส์กับเรื่องอะไรในขณะที่ขับรถอยู่บนท้องถนนที่ต้องใช้สมาธิ การเงินก็เช่นเดียวกัน ชีวิตที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันจะไม่ขลุกขลัก หรือมีอุปสรรค หากมีการเปิดเผยข้อมูลที่ตรงไปตรงมา และจะได้วางแผนว่าควรจะใช้เงินอย่างไร” บรูฮาร์ดกล่าว

เป็นเรื่องที่ดีกว่า หากลูกๆ จะเริ่มบทสนทนาเรื่องการเงินของครอบครัวกับผู้เป็นแม่ เพื่อลดปัญหาและความเข้าใจไม่ตรงกันที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต มีคุณแม่จำนวน 13% เมื่อเปรียบเทียบกับคุณพ่อเพียง 3% เท่านั้นที่วางแผนจะให้ลูกๆ ที่โตแล้วดูแลพวกเขาในยามป่วยไข้ ในขณะที่คุณพ่ออีก 47% บอกว่าเรื่องนี้จะยกให้เป็นหน้าที่ของคู่ชีวิต

นอกจากนั้น การศึกษายังเน้นย้ำตัวเลขที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ 40% ของคุณพ่อรู้สึกว่า หากตัวเองมีอันเป็นไปก่อน ภรรยาจะไม่สามารถคงสถานภาพทางการเงินที่มั่นคงเอาไว้ได้ ซึ่งความเป็นจริงในข้อนี้สร้างความตื่นตัวให้กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นลูกๆ เพราะพวกเขาจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยในกรณีนั้น

“หากคิดจะพูดคุยกันเรื่องการใช้เงินแล้ว ให้ลองเริ่มที่แม่ก่อน หากแม่สนับสนุนแล้ว เป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะคัดค้าน” เอ๊ะ คุ้นๆไงไม่รู้