DELTA โชว์กำไร Q3/66 โต 32% แตะ 5,429 ล้านบาท สร้างสถิติสูงสุด

HoonSmart.com>> “เดลต้า อีเลคโทรนิคส์”(ประเทศไทย) (DELTA) โชว์กำไรสุทธิไตรมาส 3/66  สร้างสถิติสูงกว่า 5,429 ล้านบาท เติบโต 32% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ กวาดยอดขายสินค้าและบริการ 40,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.2% กลุ่มผลิตภัณฑ์เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์รักษาระดับการเติบโตได้แข็งแกร่ง หนุน 9 เดือน กำไรสุทธิ 13,711.15 ล้านบาท รุกตั้งบริษัทย่อยใหม่ ตัวแทนจำหน่ายและประมูลงานโครงการในอินโดนีเซีย

บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2566 กำไรสุทธิ 5,428.66 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.44 บาท เพิ่มขึ้น 32.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 4,110.01 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.33 บาท

ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2566 กำไรสุทธิ 13,711.15 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.10 บาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 11,153.59 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.89 บาท

บริษัทฯ มียอดขายสินค้าและบริการในไตรมาส 3 ปี 2566 จำนวน 40,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลุ่มผลิตภัณฑ์เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์รักษาระดับการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ขับเคลื่อนโดยกลุ่มโซลูชั่น สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Solutions) ที่เติบโตสูงกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ดีซี เพาเวอร์ (DC Power) และเพาเวอร์ซัพพลายสำหรับระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรม (Industrial Automation)

ด้านกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย รวมถึงศูนย์ข้อมูล Data Center มียอดขายทรงตัวจากไตรมาสก่อน และเติบโตในระดับปานกลางจากฐานสูงของปีที่แล้ว โดยมีการขยายตัวตามแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Application) อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการค้าและการลงทุน รวมถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลงในภูมิภาคต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อยอดขายที่ชะลอตัวลง

สำหรับสินค้าบางกลุ่ม เช่น กลุ่มพัดลมและระบบจัดการความร้อน (Fan & Thermal Management)กลุ่มผลิตภัณฑ์โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ลดลงจากไตรมาสที่แล้วและปีก่อน เนื่องจากดีมานด์อ่อนตัวในตลาดยุโรป ทำให้ลูกค้าเพิ่มความระมัดระวังและปรับแผนงานสำหรับโครงการต่าง ๆ พร้อมมุ่งเน้นการบริหารสินค้าคงคลังให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่มีความท้าทาย

กำไรขั้นต้นมีจำนวน 9,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขับเคลื่อนโดยการเติบโตของยอดขายพร้อมการบริหารต้นทุนการผลิตของกลุ่มโซลูชั่นสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นภายใต้กลุ่มธุรกิจพาวเวอร์อิเล็คทรอนิกส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ทั้งนี้ ภาพรวมอัตรากำไรขั้นต้นอ่อนตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าและปีที่แล้ว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดีสถานการณ์ขาดแคลนวัตถุดิบคาดว่าจะทยอยคลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนและวัตถุดิบเพื่อปรับปรุงอัตรากำไรให้ดีขึ้น

ด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (รวมการวิจัยและพัฒนา) มีจำนวน 4,098ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.3% จากปีก่อนหน้า สอดคล้องกับการเติบโตของรายได้และกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนาที่มากขึ้น ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการคิดเป็นสัดส่วน 10.0% ของรายได้รวม ลดลงจากสัดส่วน 11.1% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่ายพร้อมผลักดันยอดขายให้เติบโต

ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานมีจำนวน 5,047 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไร 12.5% เพิ่มขึ้นจาก 12.0% ของงวดเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นของยอดขายในกลุ่มสินค้าที่เติบโตสูง

ขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาสนี้สร้างสถิติสูงกว่า 5,429 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 13.4% และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 0.44 บาท เติบโตถึง 33.7% เมื่อเทียบกับ 0.33 บาทต่อหุ้นในไตรมาสเดียวกนัของปีก่อน

บล.ฟินันเซีย ไซรัส DELTA รายงานกําไรสุทธิไตรมาสที่ 3/2566 เท่ากับ 5,429 ล้านบาท  (+ 16% Q0Q +32% Y0Y) หากไม่รวมกำไรอัตราแลกเปลี่ยน 380 ล้านบาท จะมีกําไรปกติ 5,049 ล้านบาท  (+14% Q0Q, +30% Y0Y) ดีกว่าที่เราและ Consensus คาด 6% และ 4% ตามลําดับ เป็นกําไรนิวไฮ

กําไรดีกว่าคาดจากรายได้และรายได้อื่นที่ดีกว่าคาด รวมถึงภาษีจ่ายตํ่ากว่าคาด

รายได้สกุลดอลลาร์เร่งขึ้นทํานิวไฮที่ 1,129 ล้านดอลลาร์ (+ 11% Q0Q, +33% Y0Y) โตดีที่ EV power เป็นหลัก +30% Q0Q, +122% Y0Yส่วน Data Center ค่อนไปในทางทรงตัว ขณะที่ Fan & thermal management อ่อนลงทําให้สัดส่วนของรายได้ EV สูงขึ้นเป็น 31.2% แซง Data Center ที่ สัดส่วนลดลงเป็น 25%

อัตรากําไรขั้นต้นยังแผ่วลงต่อเหลือ 22.6% จาก 23.4% ในไตรมาสที่ 2/2566 และ 23.3% ในไตรมาสที่ 3/2565 จากทั้ง Product Mix (เพราะมาร์จิ้นของ EV ตํ่ากว่า Data Center) และปัญหาการตั้งสำรองสินค้าคงคลังที่ยังมีอยู่

ค่าใช้จ่ายโดยรวม และ R&D ยังปรับขึ้น แต่ด้วยรายได้ที่เร่งขึ้น ทําให้ SG&A to sale อ่อนลงเป็น 10.1% จาก 10.6% ในไตรมาสที่ 2/2566 และ  11.2%ในไตรมาสที่ 3/2565

บริษัทมีกําไรสุทธิรวม 9 เดือน เท่ากับ 13,711 ล้านบาท (+23% Y0Y) คิดเป็นสัดส่วน 78% ของประมาณการทั้งปี เบื้องต้นมองแนวโน้มกําไรไตรมาสที่ 4/2566 น่าจะอ่อนตัวลง Q0Q เล็กน้อยตามฤดูกาล แต่ยังคาดโต Y0Yจากคําสั่งซื้อที่สูงขึ้น

ปัจจัยหนุนการเติบโตในปี 2567 จะมาจากคําสั่งซื้อที่ยังเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งในกลุ่ม EV และคาดหวัง Data Center จะยังเติบโตได้เล็กน้อย ขณะที่จะสามารถใช้กําลังการผลิตใหม่ส่วนเพิ่มของ EV ที่เริ่มเปิดดำเนินการในครึ่งหลังปี 2566 ได้เต็มปีในปี 2567 ส่วนโรงงานใหม่ EV (โรง 8) จะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567

“ยังคงประมาณการกําไรสุทธิปี 2566 ไว้ตามเดิมที่ 1.75 หมื่นล้านบาท +14.2% จากปีก่อนและคาดกําไรปี 2567 จะโตเร่งตัวขึ้น +24.8% Y0Y เป็น 2.18 หมื่นล้านบาท ถือเป็นสมมติฐานที่ Aggressive พอควรด้วยคาดรายได้สกุลดอลลาร์ +18.5% จากปีก่อน จึงยังคงราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 70 บาท (อิง PE เดิม 40 เท่า) ราคาหุ้นยังเต็มมูลค่า”บล.ฟินันเซียไซรัสระบุ

บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) คาดว่า DELTA จะมีกำไรหลักไตรมาสที่ 3/2566  ที่  4,500 ล้านบาท  รวม 9 เดือนปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1.24 หมื่นล้านบาท  +23% YoY) คิดเป็น 75% ของประมาณการทั้งปีของเรา  ส่วนหุ้นที่ร่วงลงแรง 30% กดดันต่อราคาหุ้นจากล็อตใหญ่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐาน จึงยังคงราคาเป้าหมายสิ้นปี 2567 ไว้ที่ 100 บาท โดยอิงจาก PER 64.0 เท่า  (+1.0S.D ของค่าเฉลี่ยในอดีต) และเมื่อ upside ถึงเป้าหมายของเราที่ 27% เราจึงอัพเกรดตัวนับเป็น Outperform จาก Neutral

ด้านที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯมีมติแต่งตั้งนายเจิ้งอัน (Cheng An) เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนาธุรกิจที่กำลังขยายตัวของเดลต้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์และตลาดโลกโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567

นอกจากนี้มีมติอนุมัติการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัทย่อยโดยให้บริษัทย่อยคือ  DET International Holding B.V. (DETH) เข้าถือหุ้นในบริษัทย่อยได้แก่บริษัท Elteks.r.o. (Eltek SK) และบริษัท Delta Electronics (Automotive) Americas Inc. (DEA (US)) เพื่อลดความซับซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างกลุ่มเดลต้า

ทั้งนี้ บริษัท Eltek SK เป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมผ่าน DETH สัดส่วน 55% และถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท Delta Greentech (Netherlands) B.V. (NL BV) สัดส่วน 45% ส่วนบริษัท DEA (US) เป็นบริษัทย่อยอีกแห่งหนึ่งที่บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อม 100% ผ่าน NL BV

นอกจากนี้อนุมัติการก่อสร้างอาคารของบริษัท Delta Energy Systems Property (Germany) GmbH (DESProperty) ในประเทศเยอรมันนี ซึ่งเป็นบริษัทที่บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อม 100% ผ่านบริษัท DeltaEnergy System (Germany) GmbH (DES Germany) จำนวน 24.90 ล้านยูโร (ประมาณ 964 ล้านบาท) เพื่อสร้างห้องปฏิบัติการและอาคารสำนักงานใหม่ในสถานที่เดิม โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับการเติบโตและการขยายธุรกิจในอนาคต ทั้งนี้การจัดหาเงินทุนของโครงการจะมาจากเงินสดสำรองที่มีอยู่ของ DES Germany โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2568

อีกทั้งอนุมัติการจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ในอินโดนีเซีย ชื่อ PT Delta Electronics Indonesia ดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายและประมูลงานโครงการในประเทศอินโดนีเซีย ภายในไตรมาส 4 ปี 2566 และมีมติอนุมัติการปิดบริษัท Delta Energy Systems (Romania) SRL ดำเนินธุรกิจด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศโรมาเนีย เพื่อปรับปรุงโครงสร้างการลงทุนและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ซึ่งการเลิกกิจการไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ คาดว่าจะใช้เวลาเลิกบริษัท และชำระบัญชีประมาณ 7-12 เดือน