คอลัมน์ความจริงความคิด : การเงินคู่สมรส ตอนที่ 1

.

โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ใกล้สิ้นปี นอกจากเป็นเทศกาลภาษีกับเกษียณแล้ว ยังเป็นเทศกาลของการแต่งงานด้วย สังเกตุง่ายๆก็คือ เรามักจะได้รับการ์ดเชิญไปงานแต่งงานมากในช่วงนี้ (แต่สำหรับผมตอนนี้ไม่ค่อยได้รับการ์ดแต่งงานแล้ว เพราะเพื่อนๆก็อายุมากๆกันทั้งนั้น ที่ได้บ่อยๆ คือ การ์ดงานศพ ไม่พ่อแม่เพื่อน ก็เพื่อนเองนั่นแหละที่ค่อยๆหายไปทีละคนสองคน) หรือ อีกอย่างที่เราสังเกตุกันได้ก็คือ ใน line group เราจะมี happy birthday เพื่อนๆใน line กันถี่มาก เพราะเกิดกันช่วงปลายปีเยอะมาก ถ้าระยะเวลาตั้งครรภ์คือ 9 เดือน แสดงว่าแต่งงานกันก็น่าจะแถวๆปลายปีนั่นแหละ

ทีนี้ เมื่อพูดถึงการแต่งงาน คือ การสัญญาว่าจะอยู่ด้วยกันตลอดชีวิต แต่เมื่อคิดจะรักจริงหวังแต่ง ต้องวางแผนเผื่อหย่าด้วย ไม่ใช่แช่ง แต่อยากให้คิดเผื่อเอาไว้

เพราะจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ข้อมูลในปี 2562 สำนักการบริหารทะเบียน กรมการปกครองพบว่า มีคู่สมรสที่จดทะเบียนแต่งงาน 328,875 คู่ แต่มีคู่สมรสที่จดทะเบียนหย่า 128,514 คู่ มองดูคร่าวๆ ก็ประมาณ 1 ใน 3 เทียบกับปี 2546 มีผู้จดทะเบียนสมรส 328,356 คู่แต่มีคู่สมรสเก่าจดทะเบียนหย่า 80,836 คู่

โดยกรมสุขภาพจิตให้สาเหตุของการหย่าร้างว่า

• ประการแรก มาจากแรงกดดันมาจากการใช้ชีวิตภายนอกครอบครัว โดยเฉพาะความตึงเครียดจากสภาพการทำงานมีมากขึ้น เมื่อกลับมาสู่ครอบครัวต่างมีความตึงเครียดกลับเข้ามาด้วย หากไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ ก็จะนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง และทำให้ชีวิตครอบครัวยุติลง

• ประการที่ 2 มาจากต่างฝ่ายต่างพึ่งพาตนเองได้ มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งคู่ชีวิตอีกคน ความอดทนจึงน้อยลง

อาจจะผิดคาดสำหรับหลายคนที่คาดว่าสาเหตุการหย่าร้างน่าจะมาจากบุคคลที่สาม แต่กลับมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เรื่องเงินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของการใช้ชีวิตคู่

ดังนั้น ก่อนแต่งงาน เราก็ควรคุยกันแผนการเงินก่อนแต่งงาน โดยก่อนจะวางแผนการเงิน สิ่งแรกที่ควรทำคือ

1. ศึกษานิสัยและทัศนคติเกี่ยวกับการเงินของทั้งคู่ว่าแต่ละคนมีพื้นฐานอย่างไร เพื่อนำไปใช้เป็นองค์ประกอบในการวางแผนการเงินก่อนการแต่งงานได้ละเอียด และรอบคอบยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยลดความขัดแย้งหรือความไม่เข้าใจกัน

2. เพราะกฎหมายกำหนดให้ทรัพย์สินที่มีก่อนจดทะเบียนสมรส ถือเป็นสินส่วนตัว แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังจดทะเบียนสมรสจะถือเป็นสินสมรส รวมถึงดอกผลของสินส่วนตัวและรายได้ที่เกิดขึ้นหลังจากการจดทะเบียนสมรสด้วย ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง การทำสัญญาระบุสินส่วนตัวของแต่ละคน โดยให้มีพยานเซ็นรับรอง 2 คน ทำทุกอย่างให้ชัดเจน น่าจะดี ที่เมืองนอกก็เห็นพวกดาราทำกันเป็นเรื่องปกติ แต่ที่เมืองไทยยังไม่ค่อยเห็นมีใครทำ อาจเพราะวัฒนธรรมของไทย ยังเกรงใจกันอยู่มาก และมองว่าไม่รักกันจริง หรือ เตรียมหย่า เป็นต้น เลยมักหยวนๆไม่คุยกัน แต่เวลามีปัญหาก็จะทะเลาะกัน ตกลงกันไม่ได้ จากประสบการณ์วางแผนการเงินมา เคร่งครัดตอนต้น ผ่อนคลายตอนปลายดีกว่า ผ่อนคลายตอนต้นแล้วมาเคร่งครัดตอนปลายเยอะครับ

3. ตกลงวิธีบริหารเงินกันให้เรียบร้อย การบริหารค่าใช้จ่ายและการตัดสินใจทางด้านการเงินในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อแต่งงานด้วยกันอาจจะต้องมีการเลือกว่าจะซื้อสิ่งนั้นสิ่งนี้หรือไม่ จะใช้จ่ายไปกับอะไร ซึ่งบางคู่รักก็อาจจะแยกกระเป๋าเงินกันใช้ คือ ใครมีรายได้เท่าไหร่ก็มีอิสระในการใช้จ่ายของตนเองไป แล้วเมื่อต้องซื้ออะไรที่ใช้ร่วมกันก็จะลงขันร่วมกันเป็นครั้งคราว แต่ก็มีบางครอบครัวที่รวมเงินไว้เป็นกองกลางและบริหารจัดการด้วยใครคนใดคนหนึ่งอาจจะเป็นฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง หรือมีเงินส่วนกองกลางที่ต้องตัดสินใจร่วมกัน แล้ววิธีการไหนเป็นวิธีการที่ดีกว่า

ถ้าเป็นเมืองไทย หลายคนคงตอบกันว่า วิธีที่ดีที่สุด คือ ภรรยาธิปไตย คือ เอาเงินไว้ที่เมียทั้งหมด จะใช้อะไร ก็ขอจากเมีย วิธีนี้มีเงินเก็บแน่นอน เพราะเมียจะควบคุมค่าใช้จ่ายหมด อะไรไม่จำเป็น ก็ไม่ให้ซื้อ และเมื่อไม่มีเงิน ปัญหามีเมียน้อยก็น้อยลง ช่วยลดปัญหาครอบครัวเสียอีก แล้วจริงๆแล้ว ใช่วิธีที่ดีที่สุดจริงเหรอ ไว้ครั้งหน้า เรามาคุยกันนะว่า ต่างประเทศเขามีการทำวิจัยเรื่องนี้ แล้วผลวิจัยออกมาว่าอย่างไร