“BBL” กำไร 9 เดือนพุ่ง 50.8% รายได้ดอกเบี้ยโต 33.3%

HoonSmart.com>>ธ.กรุงเทพ (BBL) เผย 9 เดือนแรก กำไรสุทธิ 32,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 33.3%

ธนาคารกรุงเทพ (BBL)  รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 สิ้นสุด 30 ก.ย. 2566 ก่อนสอบทาน กำไรสุทธิ 11,349.90 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 5.95 บาท ดีขึ้น 3,692.91 ล้านบาท หรือ 48.23% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน กำไรสุทธิ 7,656.99 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 4.01 บาท

งวด 9 เดือน กำไรสุทธิ 32,772.71 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 17.17 บาท ดีขึ้น 50.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน กำไร 21,736.12 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 11.39 บาท

สำหรับไตรมาส 3 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัว จากการภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก จำนวนนักท่องเที่ยวยังเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกของประเทศไทยชะลอตัวลง ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่อ่อนตัว

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิสำหรับ 9 เดือนปี 2566 จำนวน 32,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 33.3% สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย โดยอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น สุทธิกับการทยอยเพิ่มขึ้นของต้นทุนเงินรับฝากและการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าสู่ระดับเดิมตั้งแต่ต้นปี 2566 ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.96% ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 16.4% ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพ
การดำเนินงาน โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงอยู่ที่ 46.4% ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารมีการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง จึงมีการตั้งสำรองในไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 9 เดือนปี 2566 มีจำนวน 26,323 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ณ สิ้นเดือนก.ย. 2566 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,723,751 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% จากสิ้นปีก่อน ส่วนใหญ่จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ 3.0%

ทั้งนี้ ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 283.3%

ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนก.ย. 2566 จำนวน 3,163,297 ล้านบาท ลดลง 1.5% จากสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 86.1% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 19.6% , 16.2% และ 15.4% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจโลก เนื่องจากผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและคงไว้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจกระทบต่อการส่งออกของไทย ตลอดจนปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปแม้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง หรือเกิดโอกาสหรือเป็นความท้าทายทางธุรกิจ โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์

รวมถึง ความท้าทายจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้บริโภค และการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้หลังโควิด-19 ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น

ธนาคารตระหนักถึงความท้าทายในการดำเนินธุรกิจของลูกค้า จึงยังคงมุ่งเน้นการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจตามสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนใหม่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านความยั่งยืนในระยะยาว