วิจัยกรุงศรี ชี้ 3 วิกฤติโลก ฉุดศก.-ดันน้ำมัน เงินเฟ้อพุ่ง

HoonSmart.com>>วิจัยกรุงศรี ประเมินผลกระทบสงครามยูเครน,อิสราเอล-ฮามาส วิกฤติน้ำมัน ระบุ IMF ฟันธงฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 67 ลง 0.15% น้ำมันพุ่ง 10% เงินเฟ้อขยับ 0.4% คาดเฟดคงดอกเบี้ยถึงกลางปีหน้า ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่นเดินหน้านโยบายผ่อนคลายทางการเงินถึงปี 68 การพึ่งพิงน้ำมันจากตะวันออกกลางฉุดการเติบโต ส่วนไทยได้รับผลกระทบวงจำกัดเหตุมูลค่าทางการค้าไทย-อิสราเอลยังน้อย แต่ความเสี่ยงด้านการลงทุน การค้า ยังสูงผลจากราคาน้ำมันโลกพุ่ง

วิจัยกรุงศรี รายงานผลการวิจัยภาวะเศรษฐกิจและการเงิน ประจำสัปดาห์วันนี้ (17 ต.ค.2566) ว่า IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 สงครามในยูเครนและวิกฤตพลังงาน แต่การเติบโตของโลกมีแนวโน้มอ่อนแอลงในปี 2567 ทั้งในภาพรวมและรายประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐและจีน เนื่องจากบาดแผลของวิกฤตดังกล่าว ผนวกกับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดในรอบกว่าทศวรรษในประเทศสำคัญของโลก รวมถึงความเสี่ยงจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน

สำหรับประเด็นการสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส แม้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าเหตุรุนแรงดังกล่าวจะกระทบเศรษฐกิจโลกเพียงใด แต่ IMF ระบุว่าหากสถานการณ์รุนแรงจนทำให้ต้นทุนราคาน้ำมันพุ่งสูงถึง 10% จะกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจโลกประมาณ 0.15% และทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 0.4%

ด้านภาวะสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ส่งผลให้การคาดการณ์ทิศทางราคาพลังงานและอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 4 มีความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้น
ผลกระทบจะขึ้นอยู่กับขอบเขตของสงครามว่าจะอยู่ในวงจำกัดหรือขยายขอบเขตไปทั่วภูมิภาคของตะวันออกกลางจากการประเมินเบื้องต้นในกรณีที่ความขัดแย้งไม่ลุกลามคาดว่าราคาพลังงานมีแนวโน้มปรับขึ้นในกรอบจำกัดภายใต้เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในทิศทางชะลอตัวซึ่งจะช่วยให้อัราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบประมาณการเดิมที่ 3.3% และ 2.5% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ เมื่อประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลงต่อเนื่องรวมถึงค่าจ้างเฉลี่ย ตลาดแรงงานที่ชะลอตัว

ฝ่ายวิจัยกรุงศรีจึงประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% อย่างน้อยจนถึงกลางปี 2567
เพื่อให้สอดคล้องกับสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่เป็นบวกมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2551

กรณีที่ความขัดแย้งไม่ลุกลามแต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังมีแนวโน้มเติบโตต่ำจากการส่งออกที่อ่อนแอและการชะลอตัวของค่าจ้างแรงงาน ด้วยเหตุนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำและการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจนกว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2.0% ในระยะยาวซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2568 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสัดส่วนน้ำมันดิบที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากตะวันออกกลางอยู่ที่ 95% หากกรณีที่สงครามอิสราเอล-ฮามาส มีการขยายขอบเขตไปสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางจนส่งผลให้ราคาของน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นอาจนำไปสู่จุดเปลี่ยนทิศทางของนโยบายการเงินเร็วกว่าที่ตลาดคาดแล
ะกระทบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้มีโอกาสหดตัวได้ในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้า

สำหรับเศรษฐกิจไทย การบริโภคภาคเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปียังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปีที่ขยายตัวสูงกว่า 6.8% YoY ปัจจัยหนุนนอกจากมาตรการต่างๆของภาครัฐแล้ว ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังมีทิศทางทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ 66.7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 64.2 ในเดือนส.ค.

อย่างไรก็ตาม แม้ล่าสุดจะมีความคืบหน้าจากการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แต่ยังต้องรอความชัดเจนในประเด็นต่างๆ เช่นเงื่อนไขและขอบเขต (รัศมี) ในการใช้จ่าย รวมถึงแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในโครงการและการบริหารจัดการหนี้ โดยทางรมช.คลัง ระบุแผนกำหนดการณ์เบื้องต้นว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดทั้งหมดของโครงการได้ภายในเดือนต.ค.นี้

ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เติบโตเพียง 1.8% YoY เครื่องชี้ล่าสุดจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในช่วงเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคมยังมีทิศทางฟื้นตัวไม่ชัดเจนโดยหดตัวที่ 1.1% แม้ส่วนหนึ่งของการลงทุนจะได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมในประเทศและภาคท่องเที่ยวก็ตาม แต่ยังมีปัจจัยลบจากภาคส่งออกที่ยังอ่อนแอตามภาวะการค้าโลกและอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว

ล่าสุดปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นในอิสราเอล ในเบื้องต้นหากสถานการณ์ไม่ลุกลามรุนแรงคาดว่าจะมีผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกของไทยค่อนข้างจำกัด เนื่องจากอิสราเอลนับเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 40 ของไทย ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปอิสราเอลอยู่ที่ 546 ล้านดอลลาร์(หรือคิดเป็น 0.3% ของมูลค่าการส่งออกรวม) ขยายตัว 12.6% YoY โดยสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

ด้านการนำเข้าจากอิสราเอลมีมูลค่า 311 ล้านดอลลาร์ (0.2%ของมูลค่าการนำเข้ารวม) หดตัว 14.2% สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาสยังมีความไม่แน่นอนสูงและยังไม่สามารถปฏิเสธโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์เลวร้าย ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาคการค้า การลงทุนและต้นทุนการผลิตผ่านปัญหาด้านการขนส่งและการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก