ประกันภัยตามติดข้อมูลรถไฟฟ้า BKIเน้นเบี้ยเป็นธรรม-ยั่งยืน

HoonSmart.com>>ประกันภัยตามติดสถิติความเสียหายรถยนต์ไฟฟ้า หลังปริมาณการใช้เพิ่มอย่างรวดเร็ว ล่าสุด 9 เดือนแรก ยอดจดทะเบียนสะสมกว่า 5 หมื่นคัน รุกเจาะลึกรายส่วนประกอบ การจัดการซาก พฤติกรรมคนขับ มุ่งคำนวณเบี้ยให้เกิดความยุติธรรมผู้ขาย-ผู้ซื้อ หนุนความยั่งยืนทุกฝ่าย

จากความตกลงปารีส เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มี 195 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม รวมถึงประเทศไทยรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด หนึ่งในนั้นคือ การสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30/30 คือ ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือปี พ.ศ. 2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของรถยนต์ทั้งหมด แยกเป็นรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน ซึ่งจูงใจด้วยการให้สิทธิพิเศษทางอากรภาษี 18,000-150,000 บาท

ล่าสุด กรมการขนส่งทางบกรายงานยอดจดทะบียนรถใหม่ 9 เดือนแรกของปี 2566 รวม 234,499 คัน แยกเป็นรถไฟฟ้า 100% จำนวน 8,904 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์ รย.1 สะสม ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2566 มีจำนวน 500,942 คัน แยกเป็นยอดจดทะเบียนรถไฟฟ้ารวม 50,347 คัน คิดเป็น 10.05%

ขณะที่ ความเสียหายหลังเกิดอุบัติเหตุกับรถ EV เป็นประเด็นที่บริษัทประกันวินาศภัย ผู้รับประกันภัยรถยนต์ให้ความกังวลเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ที่จะต้องศึกษาอย่างใกล้ชิด

นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน์ ประธานคณะบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทกรุงเทพประกันภัย(BKI) กล่าวว่า ปี 2566 ยอดขายรถยนต์ทั่วไปไม่เพิ่มขึ้น แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เบี้ยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เติบโต 15-25% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2565 โดย 8 เดือนแรก รถ EV มีการทำประกันภัย 3,500 คัน จากงวดเดียวกันของปีก่อน 1,000 คัน มีเบี้ยประกันภัยคิดเป็น 6-7% ของเบี้ยประกันภัยรถยนต์ทั้งระบบ และคาดว่าถึงสิ้นปีนี้เบี้ยประกันภัยรถ EV ทั้งระบบจะมีประมาณ 180 ล้านบาท

ขณะนี้ บริษัทประกันภัยที่มีการรับประกันภัยรถ EV มีการติดตามสถิติความเสียหายอย่างใกล้ชิดเพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีสถิติความเสียหาย และถือว่าเป็นช่วงที่เปราะบาง

“สิ่งที่มีมูลค่าสูงที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้า คือ แบตเตอรี่ ถ้าเกิดแบตเตอรี่เสียหายใช้ไม่ได้ถือว่าต้องจ่ายสินไหมทดแทน 100% ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเริ่มต้นที่คนมาใช้รถ EV จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทางบริษัทก็อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลรถ EV ซึ่งเบื้องต้นพบว่าคนที่ใช้รถ EV ในช่วงแรก เป็นคนวัยกลางคน ใช้เป็นรถคันที่ 2 คือมีรถที่ใช้น้ำมันอยู่แล้ว แต่อยากลองจึงซื้อรถ EV มาใช้ และขับเฉพาะช่วงวันหยุดในระยะทางใกล้ๆ เพราะยังกังวลว่าจะไม่มีที่ชาร์จไฟฟ้า ในขณะที่ปีนี้กลุ่มผู้ใช้รถ EV มีอายุน้อยลง เป็นกลุ่มนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ที่พ่อแม่ซื้อรถให้ใช้เป็นรถคันแรก เพราะราคาถูก จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายไปในทิศทางใด

นอกจากนี้ ยังศึกษาปริมาณอู่ซ่อมรถ EV ว่าจะมีปริมาณที่เพียงพอต่อการรองรับลูกค้าหรือไม่ จากปัจจุบันที่มีเพียงอู่ระดับศูนย์ซ่อมเท่านั้น ทำให้ราคาค่าซ่อมรถแพงกว่ารถยนต์ทั่วไป

รวมถึง การศึกษาซากรถ EV หลังจากที่เกิดความเสียหาย 100% จะมีส่วนประกอบใดบ้างที่จะสามารถนำมารีไซเคิลได้ ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ในการขายซากรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันรถทั่วไปหลังเกิดอุบัติเหตุเสียหาย 100% สามารถนำชิ้นส่วนหลายๆอย่างมาใช้ใหม่ได้

ในส่วนของ BKI ยังไม่ทำประกันรถ EV เพราะต้องการให้ได้ผลศึกษาที่ชัดเจน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจึงจะนำความเสี่ยงทั้งหมดมาคิดราคาเบี้ยประกันภัย ให้ได้ราคาที่สะท้อนความเสี่ยงที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด จะส่งผลดีต่อลูกค้า และบริษัทเองด้วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง