“NL” หุ้น “รับเหมาฯไฮเทค” ผู้นำงาน รพ.ไม่มีหนี้ กำไรโต

HoonSmart.com>ในเร็วๆนี้ จะมีหุ้น “รับเหมาก่อสร้างพันธุ์ใหม่” ให้นักลงทุนจองซื้อ เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ (NL) คลุกคลีอยู่ในวงการนี้มานานกว่า 42 ปี วางโมเดลธุรกิจครบวงจร (One-Stop Service) กระจายรายได้จากงานรับเหมาฯหลากหลาย ภายใต้ 3 กลยุทธ์สุดยอด เป็นหนึ่งในผู้นำการใช้เทคโนโลยีทันสมัย สร้างคนงานเองให้รู้เท่าทันนวัตกรรม ไม่มีหนี้ พอร์ตมีศักยภาพ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประมูล โดยเฉพาะงานอาคารโรงพยาบาล สถานพยาบาลขนาดใหญ่ ขณะนี้มีความพร้อมที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) นำชื่อเสียง เงินทองมาต่อยอดธุรกิจ สร้างองค์กรให้มั่นคงและกำไรเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ประกอบการงานก่อสร้างมืออาชีพชั้นแนวหน้าของเมืองไทย

“ศรันย์ โรจน์เลิศจรรยา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ (NL) เล่าให้ฟังว่า บริษัทเอ็นแอลฯก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2524 โดยคุณพ่อ (ภูมิสัน โรจน์เลิศจรรยา) เพื่อประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั่วไป เริ่มแรกรับโครงการขนาดเล็กของหน่วยงานภาครัฐ ต่อมารับงานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยวางโมเดลธุรกิจที่ให้บริการครบวงจร เริ่มตั้งแต่สำรวจ ออกแบบ จนก่อสร้างเสร็จ ตามด้วยงานสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน และงานระบบอาคาร (สาธารณูปโภค)ทั้งไฟฟ้า ประปา แอร์ พร้อมกระจายแหล่งที่มาของรายได้การก่อสร้างจากงาน 5 ประเภท ได้แก่ 1.โรงพยาบาล-สถานพยาบาล 2. อาคารสำนักงานและเพื่อการพาณิชย์ 3. อาคารพักอาศัย 4.อาคารพิเศษ เช่น พิพิธภัณฑ์ 5. งานก่อสร้างอื่นๆ

ท่ามกลางสมรภูมิธุรกิจรับเหมาฯมีการแข่งขันกันดุเดือดมาก ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ รายกลางและเล็ก บางช่วงเวลารายใหญ่ลงมาหาตลาดของรายเล็ก ทำให้บริษัทหลายแห่งล้มหายตายจากไป บริษัทที่จะอยู่รอด เพื่อเติบโตก้าวขึ้นไปยืนอยู่แถวหน้าได้ จะต้องมีความโดดเด่นครบเครื่อง หรือเป็นเบอร์ต้นๆของตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) ขณะที่เอ็นแอลฯมองเห็นโอกาสการเติบโตจากงานก่อสร้างโรงพยาบาลและสถานพยาบาล ด้วยการสนับสนุนของนโยบายรัฐ และประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย คาดการณ์ว่าจะมีโครงการออกมามากอย่างต่อเนื่องและมีการต่อยอดธุรกิจ สร้างศูนย์พักฟื้นผู้สูงอายุในระยะยาว

งานสร้างโรงพยาบาลใหญ่มีคู่แข่งน้อย

จุดเริ่มต้นของบริษัทฯได้งานก่อสร้างโรงพยาบาลสมุทรปราการ มูลค่าโครงการ 268.31 ล้านบาท บริษัทใช้เวลาในการพัฒนาฝีมือ สั่งสมประสบการณ์ สร้างพอร์ตที่มีศักยภาพ ให้สามารถมารับงานขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาทหลายโครงการ เช่น อาคารศูนย์ความก้าวหน้าทางวิชาการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มูลค่า 1,447.70 ล้านบาท และอาคารผู้ป่วยนอก 9 ชั้น และที่จอดรถใต้ดิน คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มีมูลค่า 1,617 ล้านบาท อาคารจอดรถใต้ดินที่มีความลึก 18 เมตรและติดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นงานที่มีความซับซ้อน จึงต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างและความเชี่ยวชาญพิเศษ นอกจากนี้ภายในอาคารยังมีการติดตั้งเครื่องไม้เครื่องมือขนาดใหญ่ ผนังห้องป้องกันรังสี และการตกแต่งภายในของแต่ละชั้นก็ไม่เหมือนกัน ทำให้มีคู่แข่งน้อยและได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า

ปัจจุบันเอ็นแอลฯก้าวขึ้นมายืนอยู่แถวหน้างานก่อสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมการแข่งขันตลอด  บางครั้งได้โครงการมา แม้ไม่ได้เสนอราคาต่ำที่สุดก็ตาม เพราะมีการพิจารณาจากจุดเด่นของพอร์ตที่มีศักยภาพ บริษัทฯให้ความสำคัญในการส่งมอบงานที่มีคุณภาพด้วย

เอ็นแอลฯมาถึงจุดนี้ได้ ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรให้มีความแข็งแกร่ง สร้างกำไรเติบโตอย่างมั่นคง ภายใต้ 3 กลยุทธ์ คือ 1.ด้านการแข่งขัน 2.ด้านการบริหารงาน และ 3.ด้านความยั่งยืน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยต้นทุนที่ต่ำและมีประสิทธิภาพสูง

เปิดกลยุทธ์การแข่งขัน

กลยุทธ์ด้านการแข่งขัน บริษัทฯเริ่มตั้งแต่ช่องทางการจัดหางาน วางตำแหน่งทางการตลาดที่สามารถรับงานได้ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ปรับตัวรับงานตามสถานการณ์ของตลาด สภาพเศรษฐกิจ และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจในแต่ละช่วงเวลา ขณะเดียวกันมีการวางระบบในการติดตามโครงการอย่างสม่ำเสมอ ได้รับการแนะนำจากบริษัทที่ปรึกษาผู้ควบคุมโครงการ การตัดสินใจรับงานในแต่ละครั้ง บริษัทฯ มีการประเมินความเสี่ยงของโครงการ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถส่งมอบงานได้ตามคุณภาพ ความถูกต้องครบถ้วน และระยะเวลาที่กำหนด

บริษัทฯ มีนโยบายการกำหนดราคาโดยการประมาณการต้นทุนอย่างละเอียดบวกอัตรากำไร ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสม สามารถแข่งขันในตลาดได้

นอกจากนี้ เอ็นแอลฯยังเป็นบริษัทรับเหมาฯรายแรกๆ ที่ได้นำเทคโนโลยี Building Information Modeling (BIM) มาช่วยในการถอดแบบให้มีความรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ควบคุมต้นทุนได้ดี  การทำงานระหว่างทาง ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะทราบข้อมูลการแก้ไขแบบ ความคืบหน้าของงาน ทำให้งานมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น บริษัทฯ ยังกำหนดให้หน่วยงานก่อสร้างและส่วนงานที่เกี่ยวข้องนำนโยบายคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9001:2015 มาปฏิบัติใช้เป็นหลัก เน้นประสิทธิภาพ คุณภาพ ความปลอดภัย รวมถึงงานคืบหน้าตามระยะเวลาที่กำหนด ภายในวงเงินงบประมาณ  รวมถึงมีการใช้ระบบ ERP ในการวางแผนการจัดการด้วย

“เอ็นแอลฯ รับงานขนาดใหญ่มูลค่า 1,000-2,000 ล้านบาท หรือหลักสิบล้านบาท เพราะมีค่าใช้จ่ายคงที่ งานส่วนเพิ่มคือกำไร”

โควิดทำให้บริษัทแกร่งยิ่งขึ้น

” ผมเข้ามาร่วมงานในเอ็นแอลฯ มาตั้งแต่ปี 2547  และรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการประมาณปี 2559-2560 เมื่อมาเจอวิกฤตโควิด-19 หลายประเทศมีการล็อกดาวน์ รวมถึงไทยด้วย คาดว่าสถานการณ์ยืดเยื้อแน่นอน ราคาวัสดุก่อสร้างแห่ปรับขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์ เหล็ก น้ำมัน และแรงงานยังขาดแคนมากด้วย เนื่องจากแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ ทำให้บริษัทต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ ไม่เข้าร่วมประมูลทุกงาน ประกาศนโยบายในการรับงานที่มีกำไรเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องสร้างงานในมือสูง ๆ (Backlog)  พร้อมหาแนวทางในการบริหารจัดการกับความเสี่ยง และต้นทุนการก่อสร้าง เพื่อเพิ่มอัตรากำไร ”

เอ็นแอลฯเป็นบริษัทรับเหมาฯเพียงไม่กี่แห่ง ที่มีการลงทุนสร้างโรงงานตัดและดัดเหล็กเส้นและโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์เอง ตั้งอยู่ในพื้นที่ของบริษัทฯ ถนนพุทธมณฑลสาย 7 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นอกจากคำนึงถึงคุณภาพงานตามความต้องการแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนได้มาก ส่วนสูญเสียน้อยลง  เศษเหล็กที่ตัดออกมา ยังขายต่อได้  ส่วนเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากบริษัททำธุรกิจครบวงจร มีการตกแต่งภายในด้วย ไม่ต้องว่าจ้างบริษัทอื่นผลิต และยังสามารถขายให้กับโครงการอื่นๆด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทฯมีการลงทุนสร้างคลังสินค้า สามารถเก็บเหล็กเส้นได้มากถึง 5,000 ตัน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการเก็งกำไร มีไว้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง การรับงานในแต่ละครั้ง มีการประเมินความต้องการใช้เหล็กเส้นล่วงหน้า หากแนวโน้มราคาปรับตัวขึ้น ก็สามารถซื้อไว้ก่อนเพื่อล็อกต้นทุน ทำให้งานไม่ขาดทุน

นอกจากนี้ในปี 2565 บริษัทฯ ได้จัดตั้ง บริษัทย่อย ชื่อ พาร์เซคอน (PSC) ในการให้บริการแรงงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน  และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงแรงงานจากบุคคลภายนอก โดยพัฒนาแรงงานผ่านการอบรม พนักงานสามารถเรียนรู้และก้าวทันการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ เช่น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (SCC) นำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาช่วยเพิ่มคุณภาพงาน ทำให้งานเสร็จรวดเร็วยิ่งขึ้น

” ช่วงโควิด ถือว่าเราตัดสินใจถูกต้อง เห็นได้จากรายได้จากการก่อสร้างลดลง แต่กำไรสุทธิเติบโตขึ้นทุกปี มั่นใจว่าจะพาองค์กรไปรอดในระยะยาว จากการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยต้นทุนที่ต่ำและมีประสิทธิภาพสูง ผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยีทันสมัย สร้างโรงงานดัด-ตัดเหล็กเส้น คลังสินค้าไว้บริหารราคาเหล็กเส้น โรงงานเฟอร์นิเจอร์ และสร้างบุคคลากรเอง โดยมีนโยบายรับงานที่มีกำไรเท่านั้น ปัจจุบันบริษัทฯยังมีความแข็งแกร่งทางการเงิน ไม่มีหนี้กับสถาบันการเงิน มีเพียงการออกหนังสือค้ำประกัน ส่วนการซื้อสินค้าขนาดใหญ่ เช่น แอร์ ก็ได้รับการสนับสนุนจากคู่ค้า นอกจากนั้นงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ใช้เวลาดำเนินการ  4-5 ปี ยาวที่สุดเกือบ 6 ปี ทำให้มีรายได้ยาวถึงปี 2568 และยังมีโอกาสรับงานใหม่ๆเข้ามาเพิ่มเติม   ”

กำไรโต

ด้านผลการดำเนินงานของ NL มีรายได้จากการก่อสร้างมากกว่า 90% ของทั้งหมด ก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิด ปี 2561-2562 บริษัทมีรายได้รวมประมาณ 1,900 ล้านบาท ส่วนปี 2563-2565 รายได้จากการรับเหมาฯลดลงเหลือ  1,690.75 ล้านบาท 1,384.79 ล้านบาท และ 1,218.79 ล้านบาท ตามลำดับ สาเหตุหลักมาจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนชะลอแผนเปิดประมูลและการลงทุนก่อสร้างอาคารจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นกลับเพิ่มขึ้น มีกำไรขั้นต้นเท่ากับ 240.28 ล้านบาท 233.77 ล้านบาท 237.98 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น  14.21% 16.88% 19.53% ตามลำดับ โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นเฉลี่ย (CAGR) 0.48 %

ส่วนกำไรสุทธิ เท่ากับ 50.90 ล้านบาท 57.33 ล้านบาท และ 57.56 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 3.01% 4.14% และ 4.72% ตามลำดับ

สำหรับผลงานงวด 6 เดือนแรกปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการรับเหมาฯ 1,142.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า 148.82%  มีกำไรสุทธิ  67.53 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 5.91% ผลจากนโยบายการเสนอราคาเฉพาะโครงการที่มีกำไร บริษัทยังคงบริหารต้นทุนได้ดีและการได้รับค่า K (ดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงมูลค่างาน)  รายได้หลักมาจากโครงการกลุ่มสถานพยาบาล 79.72% สะท้อนความเชี่ยวชาญของ NL และมีลูกค้าหน่วยงานราชการคิดเป็น 72.60% รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐประเภทอื่น 14.09% และหน่วยงานเอกชน 13.32%

ใช้เงิน IPO ซื้อเครื่องจักร ลุยงานแทนเช่า

บริษัทฯเตรียมเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 130 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท มีวัตถุประสงค์นำเงินไปซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้าง และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในปี 2567 เพื่อรับงานเพิ่มขึ้น และเครื่องจักรที่เคยเช่ามา  ก็ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายอีกต่อไป  ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ประมาณปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท เครื่องมือและอุปกรณ์สามารถรองรับงานได้ถึง 4,000 ล้านบาท สร้างกำไรให้เติบโตอย่างมั่นคง

เอ็นแอลฯมีความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปี 2566  แม้หุ้นรับเหมาฯโดยทั่วไปจะไม่เซ็กซี่  แต่หุ้น NL มีจุดเด่นที่แตกต่าง องค์กรและฐานลูกค้ามีความแข็งแรง พร้อมเดินหน้าเติบโตไปกับเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐ และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจให้กับ NL ผู้นำงานก่อสร้างอาคารสูง สามารถสร้างกำไร ให้ผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนในระยะยาว