“ETL หุ้นขนส่งไร้พรมแดน พื้นฐานแกร่ง ธุรกิจหนุนทะยานไกล”

HoonSmart.com>>บริษัท ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETL ประกอบธุรกิจโฮลดิ้งที่มีธุรกิจหลักให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง และจีนขยายไปทวีปยุโรป ผ่านการเชื่อมต่อทางถนนและรางรถไฟ ตลาดมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 เตรียมจะเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปี 2566 อาศัยจุดเด่นที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ส่งออก-นำเข้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เสนอบริการให้เหมาะสมกับเงื่อนไขในการขนส่งสินค้า พร้อมกับช่วยบริหารต้นทุนให้กับลูกค้าเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน


“จุดเด่นเพียบหนุนแนวโน้มสดใส”

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางหลักของผู้ประกอบการในภูมิภาคเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสะดวกในการเดินทางติดต่อไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา ลาว เวียดนาม พม่าและจีน

แนวโน้มอุตสาหกรรมการให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนของประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนจะเติบโตขึ้นอย่างมากมาย จากความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรมขนส่งโลจิสติกส์ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีมูลค่าทางการตลาดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการขนส่งระหว่างประเทศทั้งฝั่งส่งออกและนำเข้า ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการขนส่งหลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับเงื่อนไขของประเภทสินค้า ระยะเวลา และเส้นทาง ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมต้นทุนการส่งออกและการนำเข้าสินค้าได้ และหนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับความนิยม คือ การขนส่งทางบกด้วยรถบรรทุกสินค้าข้ามพรมแดน ที่มีความยืดหยุ่น ความคล่องตัว และคุ้มค่า สามารถคาดการณ์เวลาส่งมอบสินค้าได้ และมีระบบการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด

ปัจจุบันรัฐบาลของหลายประเทศได้มีการสร้างเครือข่ายถนน เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคและประเทศต่างๆ อย่างทั่วถึงในหลากหลายเส้นทาง เอื้ออำนวยต่อการให้บริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งแบบเต็มตู้คอนเทนเนอร์ (Full Truck Load : FTL) ที่มีจำนวนเที่ยวการขนส่งมากถึง 98% จากจำนวนเที่ยวทั้งหมดที่ ETL ให้บริการ โดยบริษัทฯ จะนำรถบรรทุกพร้อมตู้คอนเทนเนอร์ไปรับสินค้าจากโรงงานหรือคลังสินค้าของผู้ส่งสินค้า (Shipper) และส่งไปยังโรงงานหรือคลังสินค้าของผู้รับสินค้า ซึ่งจะมีทั้งบริการขนส่งโดย ตู้คอนเทนเนอร์แบบมาตรฐาน (Dry Container) และ ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิ (Reefer Container) และสำหรับการขนส่งแบบไม่เต็มตู้ (Less than Truck Load : LTL) บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตมากขึ้นในอนาคต โดยลูกค้าสามารถแบ่งใช้พื้นที่ตู้คอนเทนเนอร์ร่วมกันได้ โดยการส่งสินค้ามายังศูนย์รวมสินค้า (Hub) ณ ประเทศต้นทางของ ETL และ ETL จะดำเนินการส่งสินค้าถึงศูนย์รวมสินค้า (Hub) ปลายทางตามตารางเวลาการขนส่งที่บริษัทฯ กำหนด นอกเหนือจากนี้ ETL ยังมีรูปแบบการขนส่งให้เลือกแบบหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางถนนเพียงอย่างเดียว หรือการขนส่งทางถนนเชื่อมต่อกับการขนส่งทางรถไฟในเส้นทางจีน-ลาว ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันเชิงธุรกิจและเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้ามากขึ้น

กลุ่มลูกค้าหลักของ ETL คือ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร (International Logistics Services and Solutions Provider) และบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์แก่ผู้ประกอบการในการนำเข้าและส่งออก (Freight Forwarder) ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร แผงโซล่าเซลล์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค ยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น

สำหรับแผนการเติบโต บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาขั้นตอนการให้บริการที่มีความยืดหยุ่น และสามารถตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพิ่มเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ให้บริการขนส่งมากกว่าคู่แข่ง จัดตั้งบริษัทย่อยในพื้นที่เส้นทางขนส่งทางบกผ่าน มี Hub, Command Center และ Digitalization เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเครือข่ายรวมถึงตอบสนองความต้องการของลูกค้า และแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ทางด้านผู้บริหารมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดในช่วงนั้นๆ ทำให้บริษัทฯ มีความสามารถในการแข่งขันดียิ่งขึ้น

“มุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงค่าน้ำมัน-ค่าเงินผันผวน”

บริษัทฯ มีน้ำมันเป็นต้นทุนหลักในการให้บริการ จึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน โดยในปี 2563-2565 และงวด 6 เดือน ปี 2566 บริษัทฯ มีต้นทุนค่าน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 3.74% 4.40% 11.56% และ 14.11% ของต้นทุนการให้บริการตามลำดับ อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้บริหารความเสี่ยงโดยการจะพิจารณาโครงสร้างต้นทุน อัตรากำไรที่สามารถยอมรับได้ และจะเสนอค่าบริการที่ปรับตามต้นทุนราคาน้ำมันหากราคาน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากผลกระทบของความผันผวนของราคาน้ำมันลงได้

ขณะที่ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากกลุ่มบริษัทฯ ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน ทำให้มีการทำธุรกรรมระหว่างกันในกลุ่มบริษัทฯ และกับพันธมิตรในหลายประเทศ ทำให้รับรู้รายได้และต้นทุนในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ โดยในปี 2563 – 2565 และงวด 6 เดือนปี 2566 กลุ่มบริษัทฯ มีรายรับเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 80.85 ร้อยละ 79.83 ร้อยละ 78.37 และร้อยละ 75.78 ของรายได้ทั้งหมดตามลำดับ ดังนั้น การทำธุรกรรมภายในกลุ่มบริษัทฯ และพันธมิตรต่างประเทศในแต่ละเดือน โดยบริษัทฯมีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยวิธีการบริหารรายได้และรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้อยู่ในสกุลเดียวกัน (Natural Hedge) เช่น การนำรายได้และรายจ่ายสกุลเดียวกันกับคู่ค้ารายเดียวกัน หรือคู่ค้าหลายรายมาหักกลบลบหนี้กันก่อนแล้วจึงรับหรือจ่ายเงินตราต่างประเทศด้วยยอดสุทธิ (net) หรือการจับคู่รายรับและรายจ่ายสกุลเดียวกัน ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของกลุ่มบริษัทฯ โดยที่ผ่านมาผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่จัดว่ามีนัยสำคัญต่อผลประกอบการโดยรวมของบริษัทฯ

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิดและเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและผลประกอบการ โดยมีการสื่อสารกับลูกค้า รวมถึงจัดทำแผนสำรองฉุกเฉินร่วมกับลูกค้า เพื่อรองรับหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น การปิดพรมแดน เป็นต้น

“กลยุทธ์ในการบริหารต้นทุน เพื่อสร้างอัตรากำไรสุทธิดีขึ้น”

กลุ่ม ETL มีบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุนทั้งหมด 7 บริษัท ในประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม และจีน รายได้ส่วนใหญ่มาจากมาเลเซียประมาณ 40-50% รองลงมาคือบริษัทในจีนและไทย

ผลงานในปี 2563-2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการจำนวน 939.04 ล้านบาท 1,855.71 ล้านบาท และ 1,477.30 ล้านบาทตามลำดับ โดยเฉพาะในปี 2564 มีอัตราการเติบโตก้าวกระโดดถึงร้อยละ 97.62 สะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัวและเติบโตในช่วงการเปลี่ยนแปลงของตลาดขนส่งทางบกระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี ตลอดจนยังสามารถรักษาฐานลูกค้าไว้ได้มาจนถึงปัจจุบัน

“ในช่วงโควิด มีการปิดชายแดนในประเทศจีน อีกทั้งการขนส่งทางเรือประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ทำให้ค่าระวางเรือสูงมากอย่างผิดปกติ และการขนส่งทางอากาศปิด ผู้ส่งออก-นำเข้าหลายรายเลือกที่จะเปลี่ยนมาใช้บริการขนส่งทางบกข้ามแดน ทางรถและทางรถไฟแทน บริษัทฯ มองเห็นโอกาสในการเติบโต และได้มีการเพิ่มบุคลากรรวมไปถึงขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการขนส่ง และตอบสนองกับปริมาณการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้นในเส้นทางจากประเทศจีนมายังประเทศไทย และจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ไปยังประเทศจีน พร้อมขยายการให้บริการขนส่งทางรถไฟในปี 2564 เป็นการบูรณาการการเชื่อมต่อเส้นทางรถไปยังรถไฟจากประเทศลาวไปยังจีน”

สำหรับในปี 2565 รายได้ลดลง 20.39% ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดด่านตามมาตรการคุมเข้มโควิดของจีน ทางบริษัทได้ปรับเปลี่ยนการขนส่งสินค้าบางส่วนผ่านทางรถไฟลาว-จีน รวมถึงปรับกลยุทธ์ทางการตลาดโดยเพิ่มการให้บริการขนส่งสินค้าระยะสั้นที่ไม่ผ่านเข้า-ออกประเทศจีนให้มากขึ้น ทำให้กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น

ส่วนในช่วง 6 เดือนปี 2566 ETL มีรายได้จากการให้บริการจำนวน 646.18 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับจำนวน 689.73 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับอัตรากำไรสุทธิที่ดีขึ้นเป็นร้อยละ 4.91 จากร้อยละ 3.42 ในช่วงเดียวกันปี 2565 ทั้งนี้ในงวด 6 เดือน ปี 2566 กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 31.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.69 เทียบกับกำไรสุทธิ 24.02 ล้านบาทในงวดเดียวกันปี 2565 ด้วยกลยุทธ์ในการบริหารต้นทุนและการลดลงของต้นทุนการขนส่งแบบเหมาเที่ยว (Outsource)

“เร่งเครื่องพร้อมขายหุ้น IPO เสริมความแข็งแกร่งในอนาคต”

ETL ปรับแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์จากตลาด mai เป็น SET โดยการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 310.00 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยปัจจุบัน ETL มีทุนชำระแล้วทั้งสิ้น 224,067,280 บาท แบ่งเป็นหุ้นจำนวน 448,134,560 หุ้น และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 171,865,440 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 27.72% เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนในยานพาหนะ การลงทุนในตู้คอนเทนเนอร์ การลงทุนในระบบการบริหารจัดการการขนส่ง และการลงทุนในลานตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงมีแผนที่จะชำระคืนเจ้าหนี้ค่าซื้อกิจการ ชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต เพิ่มความแข็งแกร่งและขยายโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เชื่อว่าหุ้น ETL จะเป็นหนึ่งในทางเลือกให้กับนักลงทุนที่ชื่นชอบ “หุ้นโลจิสติกส์” เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาว

“ภายหลังจากเข้าจดทะเบียนใน SET บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO ไปใช้ในการขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการขนส่ง รวมไปถึงขยายเส้นทางการให้บริการเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างครอบคลุม นอกจากนี้ บริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องของเทคโนโลยีซึ่งเป็นพื้นฐานของการบริหารจัดการการขนส่ง โดยเตรียมที่จะพัฒนาระบบ Transportation Management System ซึ่งเป็นระบบการจัดการเที่ยวรถที่ใช้ภายในกลุ่มบริษัทฯ ให้รองรับการให้บริการที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับช่วยเสริมประสิทธิภาพในการจัดการต้นทุนและเที่ยวรถอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ ETL ยังคงเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสัญชาติไทยที่เติบโตได้อย่างมีศักยภาพ