ความจริงความคิด : โอนที่ให้ลูก เสียภาษีอย่างไร

โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เป็นข่าวฮือฮาไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เกี่ยวกับกรณีสรรรพากรออกกฎหมายจะเก็บภาษีเงินได้ ของบุคคลธรรมดา ที่มีรายได้จากต่างประเทศ รวมไปถึงเงินได้จากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยจะเริ่มต้นวันที่ 1 ม.ค. 67 ทำเอาคนที่ลงทุนในต่างประเทศที่เคยวางแผนด้วยการเอาเงินได้เข้ามาคนละปีกับปีที่มีเงินได้ต้องเช็คข้อมูลกันวุ่น ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป

เพราะตามกฎหมายใหม่ที่ออกมา เงินได้ที่เกิดในปีก่อนหน้านั้น ถ้าเอาเข้ามาในปีนี้ ก็ยังไม่ต้องเสียภาษี แต่เงินได้ที่เกิดในปีนี้ต่อให้รีบเอาเข้ามาในปีนี้ก็ต้องเสียภาษีเหมือนกับเสียทีกฎหมายยังไงไม่รู้ วางแผนภาษีอย่างดี แต่สุดท้ายมาเสียทีสรรพากร จริงๆแล้วกฎหมายที่เป็นโทษไม่ควรมีผลย้อนหลัง ถ้าจะบังคับใช้น่าจะบังคับใช้ปี 2568 เพื่อความยุติธรรมกับคนที่ลงทุนในปีนี้เพราะบริหารเงินตามกฎหมายเดิม ซึ่งเขาไม่ควรต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย

เรื่องภาษีเงินได้จากต่างประเทศก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องคือ ภาษีการรับมรดกที่สรรพากรบอกว่าเก็บได้บางไป ก็น่าจะจริง เพราะเคยอ่านข้อมูลพบว่า สรรพากรเก็บภาษีการรับมรดกได้เฉลี่ยเพียงปีละ 261 ล้านบาททั้งที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีมหาเศรษฐีเสียชีวิตกันก็หลายคน หากทายาทที่ได้รับมรดกเสียภาษีมรดกกันจริงๆตัวเลขก็น่าจะเกิน 261 ล้านบาท/ปีแน่นอน

เมื่อรัฐบาลจะปรับการเก็บภาษีการรับมรดก จะปรับยังไงก็ไม่รู้ แต่เรามาดูวิธีการบริหารภาษีการรับมรดกกันดีกว่า เนื่องจากมรดกของเศรษฐีไทยส่วนใหญ่จะมีอสังหาริมทรัพย์เป็นมรดก จึงมักจะใช้วิธีการให้ก่อนตาย เพราะจะเป็นมรดกต้องให้หลังตายเท่านั้น ให้ก่อนตายไม่ใช่มรดก คนรับก็ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก

แต่อย่างไรก็ตาม ให้อสังหาริมทรัพย์ก่อนตาย ถ้าไม่ระวังคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็อาจต้องเสียภาษีการให้แพงกว่าลูกเราเสียภาษีการรับมรดกก็เป็นได้ เพราะมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฏากรที่เป็นการยกเว้นเงินได้ กำหนดเกี่ยวกับภาษีการให้อสังหาริมทรัพย์ ดังนี้

(26) เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิหรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้จากการโอนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทต่อบุตรหนึ่งคนตลอดปีภาษีนั้น

แปลว่า ถ้าพ่อแม่ไม่อยากเสียภาษีการให้ พ่อแม่ต้องให้อสังหาริมทรัพย์ลูกไม่เกิน 20 ล้านบาท/คน/ปี

การยื่นแบบแสดงรายการภาษีการให้ : ผู้มีหน้าที่เสียภาษี (คนเป็นพ่อ เป็นแม่) มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ภายในกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถเลือกเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท หรือจะนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นก็ได้

การหักภาษี ณ ที่จ่าย : กรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ในคราวเดียวกันที่มีมูลค่าเกินกว่า 20 ล้านบาท โดยให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท

และมีค่าใช้จ่ายในการโอนอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้

1.1 ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 0.5% จากราคาประเมิน
1.2 ค่าอากรแสตมป์ 0.5% จากราคาประเมิน

นอกจากนี้ การโอนที่ดินให้ลูกที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ถึงแม้พ่อแม่จะถือครองที่ดินเพียงไม่กี่ปี ตามข้อยกเว้นของกรมสรรพากร กรณีนี้จึงมีอัตราภาษีโอนที่ดินที่ต่ำที่สุด

แต่ถ้าเป็นกรณีพ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน หรือฝ่ายพ่อไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรแต่กำเนิด แล้วฝ่ายพ่อต้องการยกที่ดินให้แก่ลูกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือลูกบุญธรรม จะเสียค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน และภาษีเงินได้ดังนี้

• ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 0.5% จากราคาประเมิน
• ค่าอากรแสตมป์ 0.5% หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% จากราคาประเมิน
• ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามขั้นบันไดจากราคาประเมิน หักค่าใช้จ่ายได้ 50% ไม่ว่าจะครอบครองมากี่ปีก็ตาม

กรณีนี้ยังได้เสียธรรมเนียมการโอนเพียง 0.5% แต่จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามขั้นบันได และถ้าถือครองไม่เกิน 5 ปี หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่เกิน 1 ปี ก็จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย