ส่งออกส.ค.พลิกล็อกโต 2.8% คาดทั้งปีลบ1-0% กสิกรฯหั่นเป้าศก.ปี’66 โต 3.0%

HoonSmart.com>>ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยส่งออกส.ค.เพิ่มขึ้น 2.6% บวกครั้งแรกรอบ 11 เดือน ดีเกินตลาดคาด -3.5 ถึง -5.0% ได้กลุ่มเกษตร-สินค้าอุตสาหกรรมหนุน รวม 8 เดือน -4.5% คาดไตรมาส 4 บวกต่อ เป้าทั้งปี -1% ถึง 0% ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% คาดเงินบาทอ่อนตัวระยะสั้น  ส่งออกหดตัว -2.5% จากเดิมคาด-1%รับผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการส่งออกในเดือนส.ค.2566 มีมูลค่า 24,279 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.6% ผิดจากตลาดคาด -3.5 ถึง -5.0%  ถือว่าเป็นการพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน จากผลของกลุ่มสินค้าเกษตร ที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ขณะที่การนำเข้าเดือนส.ค.มีมูลค่า 23,919 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12.8% ส่งผลให้ในเดือนส.ค. ไทยเกินดุลการค้า 360 ล้านดอลลาร์

ส่วนการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่ารวม 187,593 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.5% การนำเข้า มีมูลค่า 195,518 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.7% ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ไทยยังขาดดุลการค้า 7,925 ล้านดอลลาร์

“การส่งออกในช่วงไตรมาส 4  จะขยายตัวเป็นบวกได้ เทียบกับฐานต่ำและเนื่องจากเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามากตามวัฎจักร  ภาพรวมทั้งปี -1 ถึง 0% น่าจะมีโอกาส ปีนี้เราข้อสอบยาก ถ้าเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน ทุกคนคะแนนไม่ดี  แต่เรายังสามารถยืนอยู่แถวหน้าได้ หากการส่งออกในปีนี้ไม่ติดลบ หรืออยู่ที่ 0% มูลค่าการส่งออกในช่วง 4 เดือนที่เหลือ จะต้องทำได้เดือนละอย่างน้อย 24,960 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในระยะหลัง สามารถทำได้ถึงเดือน 23,000-24,000 ล้านดอลลาร์ ” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกในเดือนก.ย. อาจจะกลับมาติดลบได้ เพราะเทียบกับฐานที่สูงในเดือนก.ย.ปีก่อน แต่ตั้งแต่เดือนต.ค.เป็นต้นไป หรือตลอดช่วงไตรมาส 4 เชื่อว่าการส่งออกจะยังคงเป็นบวก นอกจากนี้ จากภาวะเงินบาทที่อ่อนค่ามาอยู่ในระดับ 35 บาท/ดอลลาร์ ตั้งแต่ช่วงเดือนส.ค. และที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ ในเดือนก.ย.นั้น ได้ส่งผลดีต่อภาพรวมการส่งออก  โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการช่วยเพิ่มกำลังซื้อ ส่งผลดีต่อการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

การส่งออกในเดือนส.ค. พบว่า สินค้าเกษตร มีมูลค่า 2,217 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.2% ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี เช่น ผลไม้สด แช่เย็น-แช่แข็ง และแห้ง, ผักสด แช่เย็น-แช่แข็ง และแห้ง, ข้าว ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 19,159 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.5% กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี เช่น สิ่งปรุงอาหาร, ผักกระป๋อง และแปรรูป, นม และผลิตภัณฑ์นม

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า  1,815 ล้านดอลลาร์ ลดลง 7.6% โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่สินค้าอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น หม้อแปลงไฟฟ้า, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด, รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกที่สำคัญ คือ สินค้าเกษตร ผลักดันให้การส่งออกขยายตัวได้ นอกจากนี้ การตระหนักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่มีส่วนช่วยให้เกิดการผลิตพลังงานทางเลือก แต่ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยท้าทายที่สำคัญ คือ ผู้บริโภคและภาคธุรกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการลงทุน จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ภาคการผลิตโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว

ตลาดส่งออกส่วนใหญ่กลับมาขยายตัว สอดคล้องกับสัญญาณการปรับดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลก โดยตลาดหลัก ขยายตัว 2.3% โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่ขยายตัว 21.7% ตลาดจีน ที่กลับมาขยายตัว 1.9% และตลาดญี่ปุ่น ที่กลับมาขยายตัว 15.7% ส่วนตลาดรอง ขยายตัว 2.4% โดยขยายตัวดีในตลาดทวีปออสเตรเลีย 22.4% ตลาดรัสเซียและกลุ่ม CIS ขยายตัว 30.4% และสหราชอาณาจักร ขยายตัว 10.7%

ด้านนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสิรมการค้าระหว่างประเทศ ประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จะมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนส์ด้านพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัลมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และในช่วงปลายปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลเฉลิมฉลองในประเทศคู่ค้า

ส่วนแผนส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังคงรักษาเป้าหมายการส่งออกในปี 66 ไว้อยู่ที่ 1-2% และมีนโยบาย “เร่งขยับตัวเลขการส่งออก เปลี่ยนจากติดลบให้เป็นบวก” โดย 1.ใช้ประโยชน์จาก Soft Power สร้างเรื่องราวให้กับสินค้าและบริการไทยโดยเชื่อมโยงกับภาคบริการและการท่องเที่ยว  2.จัดทำและนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกในตลาดทั่วโลก เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการ   3.แก้ไขปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดน

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% จากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเพียง 27.6 ล้านคน  และส่งผลกระทบกับการค้าโลก คาดการส่งออกสินค้าที่จะหดตัว 2.5% มากกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ -1%

นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศยังคงได้รับผลจากการที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงภาคการผลิตที่ยังชะลอต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะแนวโน้มการเร่งตัวของหนี้รหัส 21 หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วันจากสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น โควิด-19 ส่งผลให้อุปสงค์ยังอ่อนแออยู่ สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ที่ยังหดตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของ ธปท. และคาดว่าในการประชุม กนง. ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25%

สำหรับนโยบายที่รัฐบาลประกาศไปและจะดำเนินการเพิ่มเติม จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ผ่านการลดค่าครองชีพ การพักหนี้ และเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัดในปี 2566 แต่คาดว่าจะเห็นผลบวกชัดขึ้นในช่วงต้นปี 2567 สำหรับค่าเงินบาทมองว่าในระยะสั้นมีโอกาสอ่อนค่าจากแนวโน้มส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยที่จะอยู่ในระดับสูงอีกสักระยะ และประเทศไทยยังน่าจะรักษาอันดับความน่าเชื่อถือเอาไว้ได้ในขณะนี้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลในระยะต่อไป

ในบริบทที่การค้าโลกมีนโยบายกีดกันการค้าที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นด้วย แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ได้รับอานิสงส์เท่าที่ควร นอกจากนั้นยังเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายอย่างที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญไปพร้อม ๆ กับมาตรการ Quick Win ที่กำลังดำเนินการอยู่

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับการค้าโลก สะท้อนจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเยอรมนีที่พึ่งพาการส่งออกสูง นอกจากนั้น จีนยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลลบกับอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังแสดงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ อีกทั้งเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้ และคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้ในปี 2567
ปลัดพาณิชย์ คาดส่งออกไทยปีนี้ -1 ถึง 0% แนวโน้ม Q4 เป็นบวก