‘BAM’ ขายหุ้นกู้อายุ 2-10 ปี ให้รายใหญ่/สถาบัน 9-11 ต.ค.นี้

HoonSmart.com>> บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) พร้อมเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ อายุ 2 – 10 ปี ชูเครดิตหุ้นกู้ A- วันที่ 9 – 11 ต.ค.นี้ ให้นักลงทุนรายใหญ่/สถาบัน เพื่อนำเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจ ชำระหนี้ ดันผลการดำเนินงานปี 66  เข้าเป้า 17,800 ล้านบาท

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมที่จะออกและเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุ 2 – 10 ปี ระหว่างวันที่ 9 – 11 ต.ค.นี้ ผ่านธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่ A- ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน บริษัทจะประกาศให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยหุ้นกู้จะเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนรายใหญ่ และ/หรือ ผู้ลงทุนสถาบัน ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่ A- แนวโน้ม “คงที่” จัดอันดับโดยบริษัท ทริสเรทติ้ง ประกาศเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นกู้นี้ไปใช้ในการซื้อสินทรัพย์ หรือลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน รวมถึงการชำระคืนเงินกู้ หรือหนี้จากการออกตราสารหนี้ และเป็นเงินหมุนเวียนภายในกิจการของบริษัท

ด้าน ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาโดยรวมอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีผลเรียกเก็บ 7,357 ล้านบาท โดยไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มีผลเรียกเก็บ 4,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากไตรมาสที่ 1 ที่มีผลเรียกเก็บ 3,230 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% จากไตรมาสที่ 1 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 267 ล้านบาท นอกจากนี้ ในครึ่งปีหลัง บริษัทมีการปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อผลักดันให้ผลเรียกเก็บในปี 2566 นี้ เป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 17,800 ล้านบาท

สำหรับ BAM เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือช่วยเหลือลูกหนี้และแก้ไขปัญหาสถาบันเงิน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และดำรงบทบาทหลักในการพลิกฟื้นสินทรัพย์ด้วยการแก้ไขสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) โดยการเข้าร่วมประมูลซื้อ NPAs และ NPLs จากสถาบันการเงินเพื่อนำมาบริหารจัดการ ซึ่งเป็นการช่วยให้สินทรัพย์กลับมามีคุณภาพ สามารถหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น