คอลัมน์ความจริงความคิด : การออมเงินที่ไม่ควรพลาด

โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

การออมเงินที่ดี คือ การออมเงินที่ไม่เสี่ยง แถมได้ประโยชน์ทางภาษี ยิ่งได้ประโยชน์ทางภาษีแบบ 2 เด้ง คือ เงินที่ออมลดหย่อนภาษีได้ ผลตอบแทนที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี ถ้าเราอยู่ในอัตราภาษีสูงสุด 30% หากเราออมเงิน 100,000 บาท เราจะทวงภาษีที่เสียให้สรรพากรคืนได้ 30,000 บาท แต่หากเราไม่ออมก็เท่ากับเรายอมเสีย 30,000 บาทเป็นภาษีให้สรรพากรฟรีๆ

การออมที่ได้ประโยชน์แบบ 2 เด้งที่เรารู้จักกันดี ก็คือ การซื้อประกันชีวิต ประกันบำนาญ ประกันสุขภาพ RMF SSF ถ้าเรามีสิทธิในการออมประเภทนี้ ก็ควรใช้สิทธิให้เต็มเพดานที่สรรพากรให้ อย่างน้อยก็เท่ากับเราได้เงินคืนมาเป็นผลตอบแทนที่เพิ่ม่ขึ้น หรือ ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น หากเราซื้อประกันสุขภาพให้พ่อแม่จ่ายเบี้ยไป 15,000 บาท บนฐานภาษี 30% เราจะได้ภาษีคืนจากสรรพากร 4,500 บาท เท่ากับเราจ่ายเบี้ยจริงๆแค่ 10,500 บาทเท่านั้น

แต่จะดีกว่านี้อีก ถ้าเงินที่เราออมนอกจากได้ประโยชน์แบบ 2 เด้งแล้ว เรายังได้เงินเพิ่มเติมเข้ามาอีก อย่างเช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่นอกจากเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเราเอามาลดหย่อนภาษีได้ ผลตอบแทนของกองทุนไม่ต้องเสียภาษี (ถ้าลงทุนครบตามเงื่อนไข) เรายังได้รับเงินสมทบจากนายจ้างด้วย (แถมเงินสมทบจากนายจ้างไม่ต้องเสียภาษีด้วย) ซึ่งน่าเรียกได้ว่า เป็นการออมแบบ 3 เด้ง แต่อย่างที่รู้กัน คนที่จะได้ประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือ ข้าราชการ (กรณีเป็นสมาชิก กบข.) เท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิ

แต่เนื่องจากปัจจุบัน ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่น่ากังวลมากของไทย ก็คือ สังคมคนสูงอายุ น่ากังวลขนาดภาครัฐมีนโยบายจำกัดสิทธิคนสูงอายุที่จะได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เหตุผลก็เพราะใช้งบประมาณสูงมากประมาณ 90,000 ล้านบาท/ปี แล้วอย่างบัตรทองที่ใช้งบประมาณมากกว่า ประมาณ 210,000 ล้านบาท/ปี ก็น่าจะมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงหรือจำกัดสิทธิก็ได้

ทางออกหนึ่งสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบของการออมเพื่อเกษียณอายุ อย่างเช่น คนที่มีอาชีพอิสระ นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ ก็คือ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช) ที่เป็นการออมแบบ 3 เด้ง คือ นอกจากเงินที่ออมลดหย่อนภาษีได้ ผลตอบแทนไม่ต้องเสียภาษี ยังได้เงินสมทบฟรีจากภาครัฐ (ของฟรีและดีมีในโลกเหมือนกัน)

ข่าวดี คือ ล่าสุด กอช.ได้เพิ่มอัตราการส่งเงินสะสม จากเดิมสูงสุดปีละ 13,200 บาท เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 30,000 บาท (คำนวณต่อปีปฏิทินตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคมของปีนั้น ๆ) ส่วนอัตราเงินสมทบจะมีการปรับเพิ่มจากเดิมสูงสุดปีละ 1,200 บาท เป็นสูงสุดปีละ 1,800 บาท โดยแบ่งเป็นดังนี้

อัตราเงินสมทบแบบเดิม
• อายุไม่เกิน 30 ปี รัฐสมทบ 50% สูงสุด 600 บาท/ปี
• อายุ 30-50 ปี รัฐสมทบ 80% สูงสุด 960 บาท/ปี
• อายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐสมทบ 100% สูงสุด 1,200 บาท/ปี

อัตราเงินสมทบแบบใหม่
รัฐสมทบให้ตามสัดส่วนที่กำหนดในแต่ละช่วงอายุ โดยสมทบสูงสุดปีละ 1,800 บาท ทุกช่วงอายุ ดังนี้
• อายุไม่เกิน 30 ปี รัฐสมทบ 50%
• อายุ 30-50 ปี รัฐสมทบ 80%
• อายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐสมทบ 100%

จำนวนเงินสะสมและเงินสมทบที่สูงขึ้น จะทำให้สมาชิก กอช. มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในอนาคตให้มีเงินเพียงพอในการดำรงชีพยามชราภาพ โดยสมาชิก กอช. ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปี การได้รับบำนาญจะทำให้เพดานบำนาญต่อเดือนเพิ่มขึ้น จากเดิมสูงสุดมากกว่า 7,000 บาท/เดือน เป็นสูงสุด 12,000 บาท/เดือน ในกรณีส่งเงินสะสมเต็มเพดานเงินสะสม โดยการได้รับบำนาญ จะได้รับต่อเมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

ดีอย่างนี้แล้ว คนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการออมเพื่อเกษียณอายุใดๆ อย่ามองข้ามนะ รีบออมเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณมากเท่านั้น